ภาพลวงตา นักวิจัยทีดีอาร์ไอชี้ความเหลื่อมล้ำสังคมไทยยังไม่ดีขึ้น
ดร.สมชัย จิตสุชน ยันชัดระบอบประชาธิปไตย คือการกระจายอำนาจทางทฤษฎีไม่การันตีจะลดความเหลื่อมล้ำลงได้ เหตุอำนาจยังกระจุกตัว คนรวยกับคนชั้นกลางสุมหัวกันกีดกันคนจน แนะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยจากฐานราก
วันที่ 21 กันยายน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการนำสนอผลการศึกษาบทสังเคราะห์ “ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย : แนวโน้ม นโยบาย และแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย” ในโครงการวิจัยเรื่อง โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย (นโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการเงินการคลัง) ระยะที่สอง ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ถึงโครงการสนับสนุนสินเชื่อของกองทุนหมู่บ้าน 60,000 กองทุน ทั้งประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการอัดฉีดจากธนาคารรัฐ 60,000 ล้านบาท ว่า วัตถุประสงค์เพื่อต้องการตอบโจทย์เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซา เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
ส่วนมาตรการสนับสนุนสินเชื่อของกองทุนหมู่บ้านจะยั่งยืนหรือไม่นั้น ดร.สมชัย กล่าวว่า มีผลบ้างที่ทำให้กลุ่มคนรากหญ้าเข้าถึงสินเชื่อ นำเงินจำนวนนี้ไปสร้างอาชีพอย่างจริงจัง แต่จากประสบการณ์นโยบายประชานิยมในอดีตที่เคยทำมาแล้ว เวอร์ชั่นแรกๆ เช่น กองทุนหมู่บ้านที่มีเม็ดเงินลงไปเกือบแสนล้านบาท ในปี 2544-2545 มีคนนำเงินไปสร้างเนื้อสร้างตัวได้จริง แต่ความเหลื่อมล้ำก็ลดลงแค่ 1-2 ปีเท่านั้น จากนั้นความเหลื่อมล้ำก็ก่อตัวขึ้นมาใหม่ ไม่ยั่งยืน
ดร.สมชัย กล่าวถึงการนำเงินสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านไปชดใช้หนี้นั้น น่าจะบังคับยาก พร้อมเห็นว่า การนำเงินไปใช้หนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด แต่การให้กลุ่มคนรากหญ้าเข้าถึงระบบทางการเงินด้วยช่องทางปกติดีอยู่แล้ว
สำหรับแนวโน้มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยดีขึ้นหรือไม่ จากการค้นพบในโครงการวิจัยฯ นั้น ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แนวโน้มความเหลื่อมล้ำที่ดูเหมือนจะดีขึ้น เหลื่อมล้ำน้อยลง แต่น่าสงสัยตัวเลขจากข้อมูลการสำรวจครัวเรือนไทย “ตกหล่น” คนรวยไปหรือไม่ อีกทั้งหากไปเปรียบเทียบระดับโลกประเทศพัฒนาแล้วความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้ลดลง แถมมากขึ้นด้วยซ้ำ
“ผมอยากจะฟันธง ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากโครงสร้างอำนาจทางการเมืองกระจุกตัว เข้ามาซ้ำเติมทำให้นโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำไม่ถูกปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น การปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปภาษี ระบบ Social protection และสวัสดิการ” ดร.สมชัย กล่าว และว่า กรณีประเทศไทย ปัจจัยเชิงสถาบัน โครงสร้างอำนาจทางการเมืองทำให้ความยากจนลดช้ากว่าที่ควรเป็น
ขณะที่ระบอบประชาธิปไตย คือการกระจายอำนาจทางทฤษฎีนั้น ดร.สมชัย กล่าวว่า ก็ไม่ได้ประกันจะลดความเหลื่อมล้ำได้ ประเทศที่มีประชาธิปไตยความเหลื่อมล้ำก็ไม่ต่ำเสมอไป คำอธิบายประชาธิปไตยไม่ได้ทำให้อำนาจกระจายตัว เพราะคนรวยกับคนชั้นกลางสุมหัวกันกีดกันคนจนอยู่
“และแม้ระบอบประชาธิปไตยจะมาพร้อมกับการเปิดโอกาสทางการศึกษามากขึ้น และเก็บภาษีมากขึ้น แต่ก็ไม่มีผลลดความเหลื่อมล้ำมากนัก ฉะนั้นจำเป็นต้องพัฒนาระบอบประชาธิปไตยจากฐานราก แทนการคุยแต่ประชาธิปไตยระดับประเทศ"
ทั้งนี้ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงแนวโน้นการขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จากงานวิจัยด้วยว่า บทบาทนโยบายการคลังด้านภาษี และการใช้จ่ายด้านสังคมของรัฐมีผลต่อการช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้ แต่นโยบายด้านการคลังไทยที่ผ่านมาเกือบไม่ได้ทำหน้าตรงนี้เลย
“การเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างฯ ก็ต้องทำ ภาษีมรดก ก็ต้องเก็บอย่างจริงจัง แต่พบว่า ออกมาในเวอร์ชั่นเกรงใจมาก"