นักวิชาการแนะสร้างครูรุ่นใหม่คุณภาพแทนครูเกษียณ1.8แสนคนใน10ปี
นักวิชาการชี้ครูคือหัวใจการสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยให้กับเด็ก แต่ต้องระมัดระวังการสอนไม่ให้กลายเป็นการล้างสมอง ย้ำหากสร้างครูรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพไม่ได้ ก็จะได้ครูที่ล้มเหลวเข้ามาในโรงเรียน
เมื่อเร็วๆนี้ เครือข่าย Thai Civic Education ร่วมกับมูลนิธิฟรีดิชเอเบิร์ตและคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีเสวนาสาธารณะครั้งที่ 3 เรื่อง “ครู..ผู้สร้างพลเมืองประชาธิปไตย" และ “บทบาทของครูในฐานะผู้สร้างพลเมือง ประชาธิปไตย;จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ”
ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กล่าวว่า การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับครูผู้เป็นหัวใจของการศึกษา เมื่อทำหลักสูตรใหม่มาหนึ่งเรื่อง ความสำเร็จเราไม่ได้วัดกันที่มีเอกสารใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งเล่ม แต่อยู่ที่ครูว่าได้เปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด คำถามคือกระบวนการอะไรที่ทำให้ครูเหล่านั้นมีความรู้ความเข้าใจ ระบบฝึกหัดครูควรเป็นแบบไหน ท่ามกลางข้อท้าทายทั้งจากนโยบายของรัฐ และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้านดร.วัฒนา อัคคพานิช นักวิชาการอิสระด้านพลเมืองและประชาธิปไตย กล่าวถึงการพัฒนาครูเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตยว่า ผลพวงของการที่วิชาสังคมถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าวิชาอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย โจทย์สำคัญบทเรียนแรกที่ครูต้องสอนคือทำให้เห็นความสำคัญของวิชาสังคมศึกษา ไม่ว่าต่อไปจะเลือกเรียนสาขาไหน ทำอาชีพอะไร แต่ก็ต้องเรียนรู้เรื่องสังคม เพราะเราไม่ได้อยู่เพียงคนเดียวลำพัง ดังนั้นเราต้องคิดถึงคนอื่นๆด้วย ต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุข
“ครูต้องระมัดระวังการเรียนการสอนด้วย ทำอย่างไรให้การศึกษาไม่กลายเป็นเครื่องมือล้างสมองนักเรียนหรือสร้างความรู้ความเข้าใจที่ผิดๆ ดังนั้นครูต้องสอนให้เด็กคิดเป็น คิดและเชื่ออย่างมีวิจารณญาณ ยอมรับความเห็นต่างหรือการโต้แย้งในสังคมประชาธิปไตยโดยความขัดแย้งไม่บานปลาย”
ขณะที่ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพครู คือหัวใจสำคัญที่จะสร้างเด็กให้เป็นพลเมืองประชาธิปไตย เพราะครูคือต้นแบบที่เชื่อมโยงห้องเรียนกับสังคม เด็กๆ ก็ไม่ได้เรียนประชาธิปไตยจากวิชาสังคมศึกษาหรือหน้าที่พลเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เขาเรียนรู้จากทุกวิชา ทั้งในและนอกห้องเรียน สังเกตบทบาทจากครูและผู้ใหญ่ที่โรงเรียน บ้านและในสังคมภายนอก ปัญหาขณะนี้คือ ครูที่สอนสังคมศึกษาอาจขาดประสบการณ์ ที่ไม่ได้เรียนมาโดยตรง หรือไม่มีความรู้ภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมีคุณครูเกษียณอายุราชการอีกประมาณ 1.8 แสนคน
“เราจะสร้างครูรุ่นใหม่แบบไหนมาทดแทนครูที่จะเกษียณไป นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำงานร่วมกันทั้งระดับบริหาร นักการศึกษาและตัวของครูเอง เราจะปล่อยให้ครูแพ้ในระบบการศึกษาไม่ได้แม้แต่คนเดียว เพราะนั่นหมายถึงเราจะได้ครูที่ล้มเหลวอยู่กับโรงเรียน สอนเด็กต่อไปอีก 20-30 ปี”
ส่วนนายปราศรัย เจตสันติ์ โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม กล่าวถึงวิธีการสอนในโรงเรียนว่า การประยุกต์วิธีสอนในโรงเรียนต้องอดทน และเปิดใจกว้างเพราะนักเรียนรุ่นหลังๆมีความต้องการหลากหลาย ต้องเลือกรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม สนุก ทำให้เด็กๆพัฒนาตัวเอง เพราะหัวใจของการเรียนคือห้องเรียน และเด็กคือศูนย์กลางของการสอน ต้องเปิดใจ ไม่ใช้ความเป็นผู้ใหญ่ของเราปิดกั้นการรับฟังเขา ยอมรับว่าผู้เรียนมีความแตกต่างกัน เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเห็น แม้จะยังไม่เดียงสา ครูทุกคนสอนหน้าที่พลเมืองและสังคมศึกษาได้ทั้งสิ้น โดยผ่านกระบวนการทั้งหมดที่มีในห้องเรียนและทัศนคติของครูที่มีต่อนักเรียน เด็กเขาจะรับรู้ได้