ครูแม่ฮ่องสอนพบ เด็กมัธยมติดไพ่-ไฮโล-หวยใต้ดิน งอมแงม
ภาพพ่อแม่เล่นพนันทำเด็กซึมซับ นักวิชาการ แนะล็อตเตอรี่-หวยชาเขียว ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมพัฒนาประเด็นวิชาการ เรื่อง “แนวทางการพัฒนากลไกการลดผลกระทบจากการพนัน” ครั้งที่2 ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยมีตัวแทนจากท้องถิ่น สถานศึกษา และนักวิชาการเข้าร่วมเสวนา
นายเสกสรร เย็นสุหัส ครูที่ปรึกษาชมรมต้นกล้าเมืองแม่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จาการสำรวจปัญหาการพนันในหมู่นักเรียนชั้นม.1-ม.6 พบว่า เล่นพนันไพ่มาเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นไฮโล หวยใต้ดิน น้ำเต้าปูปลา และพนันบอลตามลำดับ
และเมื่อสอบถามไปยังนักเรียนเกี่ยวกับ การส่งข้อความชิงรางวัล ลุ้นโชค เสี่ยงโชค ด้วย SMS นักเรียนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ไม่ถือเป็นเรื่องของการพนัน ซึ่งถือเป็นความเชื่อที่ผิด และที่น่าตกใจมากกว่านั้น
ส่วนใหญ่เห็นว่าการพนันทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งถือเป็นความเชื่อที่ผิดและอันตรายอย่างมาก รวมทั้งน้อยคนที่จะเชื่อว่า การพนันเสมือนกับการติดสารเสพติด ทำให้สมองเสื่อม
“ปัญหาที่ทำให้เด็กติดพนัน ส่วนหนึ่งเกิดจากภาพชินตาจากพ่อแม่ที่เล่นการพนัน จากผลสำรวจคนในพื้นที่พบค่านิยมอันน่าตกใจที่ส่งเสริมให้ผู้เป็นพ่อทำงาน ส่วนแม่ตั้งวงเล่นไพ่ ไฮโล ตรงนี้ทำให้เด็กซึมซับ เห็นการพนันเป็นเรื่องปกติเมื่อโตขึ้น หากบวกสิ่งเร้า อย่างเพื่อนชวน ครูในโรงเรียนไม่เข้มงวด ก็จะยิ่งเป็นชวนเชื้อชั้นดี ให้เด็กเล่นพนันจนติดเพิ่มมากขึ้น”
ที่ปรึกษาชมรมต้นกล้าเมืองแม่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวต่อว่า การเข้าถึงการพนันในเยาวชนสมัยนี้ ไม่จำเป็น ต้องตั้งวงเล่นเหมือนกับสมัยก่อน จนเป็นที่สังเกต ยกตัวอย่างเช่น การเล่นไฮโล จะมีการโหลด APP ลูกเต๋าไฮโล ลงมือถือ เมื่ออยากได้เสีย ก็จะมีการเขย่าที่มือถือ แล้วจ่ายเงินกันตรงนั้นเลย หากไม่สังเกตก็จะไม่รู้ว่าเด็กกลุ่มนั้น กำลังเล่นการพนันกันอยู่ จะเห็นว่าเยาวชนสามารถเข้าถึงการพนันได้อย่างง่ายดาย
หรืออีกกรณี ไปสำรวจตามงานศพของหมู่บ้าน จ้าวมือไฮโล จะจ่ายเงินให้เจ้าของงานศพ 10,000 บาทก่อนตั้งวง แต่เดิมตั้งสวดศพเพียง 3 คืน เดี๋ยวนี้อย่างต่ำต้อง 7 คืน เพื่อที่จะได้เล่นไฮโลกันนานขึ้น
นางนวลฉวี บุญจันทร์ รองนายกฯอบต.คลองตัน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า จากผลสำรวจการเล่นพนันในท้องถิ่นพบว่า ชาวบ้านมักเล่นหวยใต้ดินมาเป็นอันดับ 1 ความถี่ของการเล่นเป็นครั้งคราว อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ส่วนใหญ่จำไม่ได้ว่าเสียหรือได้ แต่ส่วนใหญ่จะเสียมากกว่า ตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไปจนถึง 500 บาท เฉลี่ยสัดส่วนชายหญิงที่เล่นมีเท่ากัน
สิ่งที่น่าตกใจ คนที่เล่นหวยอายุ 12-15 ปี มีสัดส่วนถึง 21 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ที่มีเยาวชนหันมาเล่นหวยใต้ดินกันมากขึ้น หากรวมเงินที่เสียไปจากหวยใต้ดินเฉลี่ยทั้งหมู่บ้าน ประมาณ 85 ครัวเรือน จะมีมากกว่า 15 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมากที่เสียไปกับการพนัน
นายรณวิทย์ สิมะเสถียร อุปนายกสมาคมวิทยุและสื่อ เพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการตีความ ในส่วนของนิยามเรื่องการพนัน อย่างในต่างประเทศทั่วโลก การพนันจะมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่างประกอบด้วย 1.การวางเดิมพัน การแทง 2.การเสี่ยงโชค และ3.เงินรางวัล ถ้ากิจกรรมใดเข้าข่าย 2 องค์ประกอบนี้ถือว่า เป็นการพนัน แต่ในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดคำนิยามตรงนี้ใส่ไว้ในกฎหมาย
“ยกตัวอย่างเช่นกรณี การส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค แม้ไม่มีการระบุชัดว่าเป็นการพนัน แต่การโฆษณาเพื่อให้ซื้อสินค้า เพื่อจับรางวัล ที่มีมูลค่ามากกว่าราคาสินค้านั้น ถือว่าเป็นการกระตุ้นในส่วนของพฤติกรรมการเสี่ยงโชคหรือไม่ ไม่เท่านั้นยังพบการบางรายการยังพบว่า ไม่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ เช่น การแจ้งรายละเอียดโฆษณาการเสี่ยงโชค การจัดกิจกรรมให้อยู่ในช่วงเวลา และเงื่อนไขที่ขออนุญาต ที่ต้องชัดเจน เพื่อเป็นการป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค”
นายรณวิทย์ กล่าวด้วยว่า การรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการถือเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างกรณีของ ล็อตเตอรี่ ที่ล่าสุดมีการออกเลข 3 ตัวหน้า ตรงนี้ถือเป็นการกระตุ้นมากไปหรือไม่ อย่างในต่างประเทศเมื่อมีการออกการเสี่ยงโชคในส่วนนี้มาแล้ว เงินส่วนหนึ่งเขาจะให้กลับคืนสู่สังคม ผ่านการวิจัยด้านผลกระทบ การบำบัดรักษาการติดพนันหรือออกคำเตือนบนสลาก เป็นต้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมให้มากๆ เมื่อมีรายได้จากสังคมแล้ว ก็ควรต้องมีความรับผิดชอบ ส่งคืนต่อสังคมด้วย
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/ICGCP