ตรวจการบ้าน สนช.ครั้งแรก! วิพากษ์สภาตรายาง-ทำงานเพื่อ ปชช.จริงหรือ?
“…กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือบทสะท้อนว่า สนช. ไม่ได้เป็น “สภาตรายาง” เพราะมีความเห็นที่หลากหลาย และมีเสรีภาพทางความคิด…”
นับเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ !
ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดโอกาสให้มีการ “วิพากษ์” อย่างเป็นทางการ
โดยเชิญบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิใน 3 แวดวง ได้แก่ แวดวงวิชาการ คือ ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ แวดวงสื่อมวลชน คือ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา และเอ็นจีโอ คือ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินรายการโดย รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช.
ถกกันในประเด็น “การปฏิบัติงานของ สนช. ในโอกาสครบรอบการปฏิบัติงาน 1 ปี และบทบาทในอนาคต”
ผลเป็นอย่างไร ใครพูดประเด็นไหนบ้าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงให้เห็นภาพ ดังนี้
“พิชาย” เปิดฉากพูดถึงคำถามที่หลายคนสงสัยว่า ตกลงแล้ว สนช. เป็น “สภาตรายาง” จริงหรือ ?
“สนช. ยุคก่อนถูกมองว่าเป็นสภาตรายาง เป็นภาพประทับที่ฝังใจคนไทยมานาน แต่สภาตรายางใช้ไม่ได้ในยุคนี้ สนช. ชุดนี้ทำผลผลิตได้สูงมาก ออกกฎหมายไปแล้ว 119 ฉบับ ซึ่งถือว่าการทำงานมีประสิทธิภาพ ส่วนผลลัพธ์ยังไม่แน่ใจ ประเมินค่อนข้างยาก”
เขาเห็นว่า กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือบทสะท้อนว่า สนช. ไม่ได้เป็น “สภาตรายาง” เพราะมีความเห็นที่หลากหลาย และมีเสรีภาพทางความคิด เพราะถ้าเทียบ สนช. ชุดนี้กับ สนช. ชุดเก่า พบว่า สนช. ชุดนี้มีการตรวจสอบสูงกว่า แต่ถ้าเทียบกับ ส.ส. หรือ ส.ว. ก็อาจจะมีน้อยกว่า ก็อยู่กลาง ๆ ระหว่างสองด้านนี้ ถือเป็นพัฒนาการของสภาแบบ สนช. สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นตรายางเหมือนในอดีต
“คำถามที่มีคนชอบถามว่า สนช. เป็นตรายางหรือไม่ มันก็มีหลากหลายระดับที่จะตอบ เพราะมีร่องรอยอยู่ที่ว่า ความคิดหรือการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. หลายฉบับ มีความเห็นหลากหลายก่อนผ่าน สนช. ก็มีนัยว่าไม่เป็นตรายาง ขณะเดียวกันก็มีร่องรอยความคิดที่เหมือนกับรัฐบาลอยู่ เช่น พ.ร.บ. หลายฉบับที่ไม่มีการแก้ไขอะไรเลย”
“เรื่องนี้มองในแง่ลบก็อาจมองเป็นสภาตรายางได้ แต่ถ้ามองปกติกฎหมายสมบูรณ์พร้อมแล้ว ก็ออกไปเป็นกฎหมายได้เลย ไม่ต้องแก้ไข มองได้สองแง่” เขายืนยัน
“พิชาย” อธิบายอีกว่า มีกฎหมายบางฉบับที่เปิดรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะเดียวกันก็มีบางฉบับที่ประชาชนมาท้วงติง และการมีส่วนร่วมของประชาชนก็มีไม่มาก ขณะเดียวกันการตรวจสอบซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งของ สนช. แน่นอนว่าพื้นฐาน สนช. กับรัฐบาลมาจากแหล่งเดียวกัน ย่อมเข้าใจได้ว่าการตรวจสอบอาจทำแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย และเท่าที่ดูญัตติที่มีการตรวจสอบก็มีแค่ 2 เรื่องคือ กสทช. กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่มีหน่วยงานราชการอื่น
“มีหน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วยที่น่าตรวจสอบ และควรเข้าไปตรวจสอบ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมศุลกากร เป็นต้น หรืออาจหาข้อมูลองค์กรที่ส่อทุจริตเยอะ ทำให้ได้เป็นเนื้อเป็นหนัง ทำให้หน่วยงานนั้นโปร่งใส ในอนาคตคุณูปการย่อมไม่อาจเลี่ยงได้ว่าเกิดจากฝีมือของ สนช.”
ส่วนจะมีรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงหรือไม่นั้น เขาระบุว่า ถ้ามองจากในมุมสาธารณะยังไม่มีร่องรอยอะไรเด่นชัดที่บอกว่ารัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซง แต่จะแทรกแซงในรายละเอียดหรือไม่ ไม่ทราบ
คำถามที่น่าสนใจคือไฉนไม่ค่อยมีใครรู้จัก สนช. ?
“พิชาย” ระบุว่า ธรรมชาติของสื่อชอบความขัดแย้ง เพราะมีความตื่นเต้น คนทั่วไปก็ชอบอ่าน ฉะนั้นเมื่อ สนช. มีความคิดอ่านทางเดียวกัน หรือถกเถียงอย่างมีเหตุผล ก็เลยไม่มีความขัดแย้ง เมื่อไม่มีความขัดแย้งก็ไม่เป็นข่าว ถือเป็นเรื่องปกติ
แต่จะทำอย่างไรให้ สนช. เป็นข่าว เขายืนยันว่า กฎหมายบางฉบับที่ผ่าน สนช. มีความซับซ้อนเข้าใจยาก ดังนั้นควรจะมีการจัดหมวดหมู่ สรุปสาระสำคัญของเนื้อหากฎหมายที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และอาจทำเป็นระบบฐานข้อมูลด้วย จะสามารถสร้างข่าวให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณะมากขึ้น
นอกจากนี้เขาเห็นว่า สนช. สามารถร่วมกับรัฐบาลปฏิรูปประเทศได้เลย จึงอยากให้ สนช. คิดว่าจะปฏิรูปสังคมอะไรบ้าง และตั้ง กมธ.วิสามัญ เพื่อศึกษา เสนอกฎหมายสำคัญกับการปฏิรูปอย่างน้อย 5 ฉบับ และใช้กระบวนการอย่างมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง อาศัยตรงนี้เป็นรากฐานในการปฏิรูปประเทศ
ด้าน “ประสงค์” ยืนยันว่า สนช. ถูกตั้งโดยคณะรัฐประหาร เป็นธรรมดาที่เมื่อยึดอำนาจจะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือในการสนองตอบ เป้าหมายที่ตัวเองวางไว้ ดังนั้นคงคาดหวังไม่ได้ ขณะเดียวกันการแต่งตั้งก็ไม่ได้หลากหลายอย่างแท้จริง เห็นได้จากมี “นายพล” กว่า 60% และแทบทุกคนเป็นข้าราชการหรืออดีตข้าราชการ
เขาตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 บัญญัติว่า สนช. ต้องเป็น ส.ส. และ ส.ว. และผู้แทนปวงชนชาวไทย ทีนี้จะต้องทำอย่างไร จะสนองตอบกับผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งเข้ามาเพื่อให้มีทางการเมือง ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย อาจดีก็ได้ หรือจะสนองตอบปวงชนชาวไทย ต้องดูว่าสวนทางกันหรือไม่
“ความขัดแย้งบทบาทข้าราชการประจำที่อยู่ กับผู้แทนปวงชน มันไปกันได้หรือไม่ ต้องดูเองว่าเป็นลักษณะอย่างนั้นหรือไม่”
“ประสงค์” เห็นด้วยกับ “พิชาย” สำหรับการออกกฎหมายของ สนช. ที่บางฉบับไม่มีการตรวจสอบให้ดี หรือไม่ค่อยเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากนัก โดยเฉพาะกฎหมายบางฉบับที่เกิดผลกระทบสูงต่อประชาชน เช่น พ.ร.บ.ทวงหนี้ฯ หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เป็นต้น ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็น กมธ.วิสามัญ เพื่อร่างกฎหมายด้วย
“การทำงานของ กมธ.วิสามัญ มี 16 คณะ แต่ละคณะมีเรื่องเต็มไปหมด เหมือนสะเปะสะปะ ผลงานชิ้นโบว์แดงคืออะไรก็ยังไม่ทราบ”
เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ปัจจุบัน สนช. ผ่านกฎหมายไปแล้ว 109 ฉบับ เสนอโดย คสช. 21 ฉบับ คณะรัฐมนตรี 89 ฉบับ เสนอโดย สนช. 2 ฉบับ เห็นได้ว่า สนช. เสนอแค่ 2 ฉบับเท่านั้น ดังนั้น สนช. ควรมีทีมวิชาการไว้ค้นคว้าข้อมูล ซึ่งเป็นคนละส่วนกับผู้ช่วยประจำตัว หรือผู้ชำนาญการประจำตัว เพื่อช่วยแก้ปัญหาในทางวิชาการ
ทั้งหมดคือความเห็นจากบรรดาบุคคลสาธารณะ “วิพากษ์วิจารณ์” เสมือนกระจกที่สะท้อน การทำหน้าที่ของ สนช. ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน
ส่วน สนช. จะรับไปพิจารณาหรือไม่ ต้องติดตามต่อจากนี้ อย่างน้อย 1-2 ปี !