วันกาเดร์ : ดับไฟใต้ต้องคุย'คนใน' ถามมาเลย์จริงใจจริงหรือ
การรวมตัวกันของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยตั้ง "องค์กรร่ม" หรือ "องค์กรตัวแทน" ขึ้นมาพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทยนั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในกรณีของ "มารา ปาตานี" ที่เปิดตัวแถลงข่าวโชว์ความพร้อมและข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลไทยเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเท่านั้น
ทว่าในอดีตเมื่อราวปี 2532 กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐก็เคยรวมตัวกันตั้ง "องค์กรร่ม" ในนาม "เบอร์ซาตู" หรือ ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี มาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นเอกภาพ และเพิ่มอำนาจการต่อรองในการพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย
แต่โมเดล "เบอร์ซาตู" ก็ไม่ประสบความสำเร็จ...
เวลาล่วงเลยมาอีก 26 ปี กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้รวมตัวกันตั้ง "มารา ปาตานี" ขึ้นมาอีกคำรบ
การย้อนศึกษาอดีตของ "เบอร์ซาตู" ผ่านมุมมองของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน ในฐานะอดีตประธานเบอร์ซาตู และอดีตผู้บริหารระดับสูงของบีไอพีพี หนึ่งในกลุ่มผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน "มารา ปาตานี" ด้วยใน พ.ศ.นี้ อาจทำให้พอมองเห็นจุดอ่อนและข้อผิดพลาดของกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมองเห็นอนาคตของ "มารา ปาตานี" ได้แจ่มชัดขึ้น
ดร.วันกาเดร์ ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ "กระบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม" ซึ่งจัดโดยหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น 6 ที่สถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา
เขากล่าวตอนหนึ่งว่า การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเริ่มจากการหาสาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่เสียก่อน นั่นก็คือความลำเอียงและอคติจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย และจุดบอดของผู้มีอำนาจบางคนที่เห็นประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องมากกว่าประชาชนและประเทศชาติ
ความลำเอียงทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะการก่อกำเนิดขึ้นของขบวนการองค์กรใต้ดินที่ต่อต้านรัฐไทย ปัจจุบันขบวนการเหล่านี้มี 14 กลุ่ม แต่บางคนอาจบอกว่ามีแค่ 3 ขบวนการ ซึ่งอาจจะผิดหรือถูกก็ได้
"กลุ่มขบวนการทั้ง 14 กลุ่มในพื้นที่สามจังหวัด ความแข็งแกร่งของแต่ละกลุ่มจะขึ้นๆ ลงๆ ปีนี้กลุ่มนี้เข้มแข็ง ปีหน้าเป็นกลุ่มอื่น ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนกับพรรคการเมือง บางกลุ่มเข้มแข็งเพราะมีเงิน มีอำนาจและมีผู้สนับสนุนเยอะ ดังนั้นจึงบอกไม่ได้ว่ากลุ่มไหนมีอำนาจมากกว่ากัน" อดีตประธานกลุ่มเบอร์ซาตู ระบุ
ดร.วันกาเดร์ กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเห็นว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น วิธีการที่เหมาะสมที่สุด คือ การใช้แนวทางสันติวิธี ไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้อาวุธ และไม่ใช้อารมณ์ แต่ต้องใช้สติ ความรู้ความสามารถและความเข้าใจบนหลักการ 4 ข้อ ได้แก่ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน, ความเข้าใจกัน, การปรองดอง และการให้ความช่วยเหลือกัน
เขายังกล่าวถึงการพูดคุยสันติสุขระหว่างกลุ่ม "มารา ปาตานี" ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม กับตัวแทนรัฐบาลไทยว่า ส่วนใหญ่ใน "มารา ปาตานี" เขารู้จักดี เพราะเคยต่อสู้มาด้วยกัน การเจรจากับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ที่มาเลเซียถือเป็นสิ่งที่ดีและเป็นจุดเริ่มต้น แต่จะไปหวังว่าผู้มีบทบาทในกลุ่มนี้จะทำให้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุติคงไม่ได้ เพราะผู้เข้าร่วมยังไม่ครบทุกกลุ่มตัวแทน ที่สำคัญคนที่อยู่ในประเทศและคนที่อยู่นอกประเทศมีมุมมองปัญหาที่ต่างกัน
"การพูดคุยเจรจาโดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลางเกิดขึ้นมา 20 ปีแล้ว และมีการเจรจากว่า 100 ครั้ง มีตัวแทนทุกกลุ่มไปพูดคุย มีการเจรจาทั้งที่สวีเดนและมาเลเซีย แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ บทสรุปยิ่งแรงขึ้น" อดีตประธานเบอร์ซาตูในวัย 73 ปีตั้งข้อสังเกต
และว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้มีบทบาทตัวจริงจะมาคุยด้วยตัวเอง คนที่อยู่บนโต๊ะเจรจาทุกวันนี้ก็จริงเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีบทบาทจริงในพื้นที่ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องหาวิธีคุยในทางลับต่อไป
ส่วนมาเลเซียซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลาง ต้องถามว่าช่วยจริงหรือไม่ แม้ว่ามาเลเซียจะตั้งใจดี แต่ก็เป็นคนนอก เราควรต้องหาผู้ที่มีบทบาทในประเทศมาเป็นคนกลางเจรจา ไม่ใช่ให้มาเลเซียเข้ามายุ่ง
"ปัญหานี้รัฐบาลบอกว่าเป็นปัญหาภายในประเทศ เราควรแก้ที่ประเทศไทย ทำไมต้องข้ามแม่น้ำโกลกไปแก้ คิดว่ามาเลเซียรู้ปัญหาดีกว่าเราหรือ คนอื่นเขาอาจไม่จริงใจก็ได้ หรือแม้จะจริงใจ แต่เขาไม่รู้ปัญหาเราอย่างแท้จริง มันก็แก้ไม่ได้" ดร.วันกาเดร์ ระบุ
เขาบอกอีกว่า ตัวแทน "มารา ปาตานี" ทั้ง 6 กลุ่มนั้น แต่ละกลุ่มไม่ได้ลงรอยกัน และไม่มีเอกภาพ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเห็นว่ารัฐไทยมีความตั้งใจดีในการแก้ปัญหา และมีนโยบายที่ดีกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่คนมุสลิมมองว่ายังไม่ดีพอ ฝ่ายปกครองและข้าราชการต้องรู้ว่ามุสลิมต้องการอะไร หากข้อเรียกร้องทำได้และไม่เสียประโยชน์ ก็ควรให้ไป แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องบอกตรงๆ
เขาย้ำด้วยว่า แนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกต้อง คือ รัฐหรือเจ้าหน้าที่จะต้องสืบหาว่าใครเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังในพื้นที่ นี่คือสิ่งสำคัญ ไม่จำเป็นต้องคุยก่อน แต่ต้องรู้ต้องทราบว่า เป็นใคร เมื่อทราบแล้วก็ต้องหาวิธีเข้าไปคุยกับบุคคลที่มีบทบาท ไม่ใช้วิธีเก่าๆหรือทฤษฎีเก่าๆ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถ้าจะให้จบจริงๆ ต้องมีวิธีใหม่ ใช้คนที่มีความรู้ความสามารถ การไปหาคนที่สวีเดนหรืออเมริกามาพูดกัน มันไกลเกินไป ต้องหาที่บ้านเรา
"พวกที่มีบทบาทในปัจจุบันนี้เคยไปพบผม แล้วบอกว่าอย่าพูดมาก คุณคือพวกที่หนีจากสนามรบในศาสนาอิสลาม คนที่หนีจากสนามรบมีโทษอย่างไร คนที่มีบทบาทในสามจังหวัดปัจจุบัน คือ กลุ่มใหม่ ผมเป็นกลุ่มเก่า ยังสั่งเขาไม่ได้เลย เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ เขามีสภาพแวดล้อมที่ต่างจากคนที่อยู่ข้างนอก แล้วคนข้างนอกจะมาแก้ปัญหาให้คนในประเทศได้อย่างไร" ดร.วันกาเดร์ กล่าวทิ้งท้าย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน
ภาพโดย : กิ่งอ้อ เล่าฮง
* กิ่งอ้อ เล่าฮง เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และเคยเป็นกำลังหลักของศูนย์ข่าวอิศราในอดีต