‘องค์กรต้านโกง’ ยกความสำเร็จข้อตกลงคุณธรรม ‘ซื้อรถเมล์ NGV’ ประหยัด 21.5%
รองผู้ว่า สตง. ยันไม่ได้ตรวจเพื่อจับผิด แต่ตรวจความคุ้มค่าใช้เงินแผ่นดิน ด้านอธิบดีกรมบัญชีกลางหวัง e-bidding และ e-market สร้างโปร่งใสจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่ภาค ปชช. ‘ดร.มานะ นิมิตมงคล’ ยกความสำเร็จข้อตกลงคุณธรรม ‘จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี’ ได้ราคากลาง 3.58 ล้านบ./คัน ประหยัดจากเดิม 21.5%
วันที่ 17 กันยายน 2558 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จัดสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนา สตง. 100 ปี เรื่อง 100 ปี บนเส้นทางการตรวจเงินแผ่นดินไทย:ประชาชนได้อะไร ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ
โดยในช่วงบ่ายของกิจกรรม มีเวทีอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง ‘สตง.ตรวจเพื่อจับผิด หรือมีทุจริตให้ตรวจสอบ’ นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ใช้จ่ายเงินแทนประชาชน เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำ คือ ต้องสร้างกฎระเบียบเพื่อใช้บังคับ ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างกรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น
สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึงเราไม่ได้ใช้จ่ายเงินของตัวเอง ดังนั้นจึงต้องมีกฎระเบียบ เป็นไปตามหลักการของกฎหมายมหาชน หากการใช้จ่ายไม่มีกฎระเบียบบังคับก็ไม่สามารถใช้จ่ายเงินแผ่นดินได้ พร้อมยืนยัน สตง.ไม่ได้ตรวจเพื่อจับผิด แต่ตรวจเพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเป็นไปตามกฎระเบียบเท่านั้น ถ้าหน่วยงานต่าง ๆ เข้าใจหลักการนี้ก็จะมองเราอย่างเข้าใจว่า การตรวจสอบเป็นเครื่องมือช่วยให้ทราบว่า ได้ดำเนินการผิดกฎระเบียบหรือไม่ จะได้ปรับปรุงแก้ไข
ด้านนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินเป็นของแผ่นดินต้องใช้อย่างระมัดระวัง เกิดประโยชน์คุ้มค่า ดังนั้นเมื่อวางกฎระเบียบแล้ว จำเป็นต้องวางกลไกตรวจสอบและควบคุม อย่างไรก็ตาม ระยะหลังการคอร์รัปชันส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะการฮั้วประมูล ทำให้ต้องสร้างระบบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ จากเดิม e-auction มาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-bidding และ e-market
โดยยกตัวอย่างผลการประเมินทดลองใช้ระบบ e-bidding ตั้งแต่มีนาคม 2558 พบว่า ระบบดังกล่าวสามารถประหยัดได้ถึงร้อยละ 9 จากเดิมไม่ถึงร้อยละ 1 เเละกันยายน 2558 จะนำระบบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ใช้ในสถานศึกษาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว หลังจากนั้นจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนประกาศเป็นกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้พฤษภาคม 2559 ครอบคลุมทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และองค์กรอิสระ
ขณะที่ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ระยะนี้มั่นใจจะสามารถผลักดันมาตรการระยะยาวในการต่อสู้กับคอร์รัปชันได้ และสถานการณ์ของปัญหาน่าจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะปัญหาดังกล่าวอาจกลับมาอีก หากหมดอำนาจพิเศษในปัจจุบัน ทั้งนี้ มาตรการทางกฎหมายช่วยสร้างกฎเกณฑ์ในการตรวจจับและลงโทษ แต่คนโกงก็สามารถหาช่องว่างเล็ดลอด ดังนั้น ต้องให้เวลาแก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้บริหารงานระดับสูงใช้กฎหมาย
สำหรับการทุจริตนั้น เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยกตัวอย่าง กทม.จัดซื้อรถดับเพลิงประมาณ 1,000 คัน แต่กลับมีพนักงานขับรถดับเพลิงเพียง 300 คน นั่นแสดงว่า มีจำนวนรถมากกว่าคนเกือบ 4 เท่า ถามว่ามีจำนวนมากเพื่ออะไร อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจในระบบราชการมองเป็นเรื่องคอร์รัปชันหรือไม่ แต่ในความคิดมองเป็นเรื่องคอร์รัปชัน และยังมีอีกหลายกรณีของ กทม.ที่ใช้มาตรการทางกฎหมายตรวจจับไม่ได้
ดร.มานะ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไทยมีความจำเป็นต้องลงทุนโครงการต่าง ๆ แต่มักขัดแย้งและทะเลาะกัน และเรื่องที่ยังเถียงกันไม่จบ คือ พลังงาน โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เคยเชิญแกนนำทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกัน แต่ก็พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง กระทั่งปัจจุบันแกนนำฝ่ายต่อต้านกลุ่มทุนโพสต์เฟซบุ๊กตำหนิการทำหน้าที่ของเรากรณีเรื่องดังกล่าวว่า ไม่เคยทำอะไรเลย และฮั้วกับกลุ่มทุนหรือไม่ กรณีนี้แสดงถึงความแตกแยกของประเทศ เพราะคนไม่ไว้วางใจกันในเรื่องการใช้ทรัพยากร
“ยืนยันองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขับเคลื่อนมาตลอด 4-5 ปี แต่เห็นผลสำเร็จในรัฐบาลปัจจุบัน โดยผลักดันกลไกการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินการใช้งบประมาณภาครัฐ ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 3 โครงการ คือ ข้อตกลงคุณธรรม ระบบการลงทุนการก่อสร้างภาครัฐ (COST) และการสร้างความโปร่งใสในการสกัดสร้างทรัพยากรธรรมชาติ (EITI)” ดร.มานะ กล่าว และว่าหากทำให้ทุกอย่างเกิดความโปร่งใส ภาคประชาชนช่วยกันคิด ตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการแรก จะช่วยสร้างความไว้วางใจ และโครงการต่าง ๆ จะเดินหน้าได้ ส่วนจะเกิดความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด ขอให้วัดจาดเกณฑ์ในต่างประเทศเป็นบรรทัดฐาน เชื่อว่าจะช่วยลดภาระของ สตง. ได้
เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินโครงการตามหลักข้อตกลงคุณธรรม อยู่ระหว่างการดำเนินการ 8 โครงการ และเป็นโครงการนำร่องระดับกระทรวง 14 โครงการ มีมูลค่ารวม 8-9 หมื่นล้านบาท โดยยกตัวอย่าง โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถกำหนดราคากลางภายใต้ข้อตกลงคุณธรรมอยู่ที่ 3.58 ล้านบาท/คัน จำนวน 489 คัน จากเดิมราคาอยู่ที่ 4.5 ล้านบาท/คัน ประหยัดได้ถึงร้อยละ 21.5 ดังนั้นหากคำนวณโครงการทั้งหมด ประเทศจะดีขึ้นมากเพียงใด
"สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุด ไม่ใช่ปัญหาคอร์รัปชันลดลงมากน้อยเพียงใด แต่คือการเริ่มต้นวัฒนธรรมวิถีปฏิบัติของระบบราชการที่โปร่งใส และภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่า" ดร.มานะ กล่าวทิ้งท้าย .