รมว.คลัง เชื่อแก้คอร์รัปชันสำเร็จ ต้องปลูกจิตสำนึกในใจคน
100 ปี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รมว.คลัง เเนะทางเเก้คอร์รัปชัน ต้องปลูกจิตสำนึกตั้งเเต่เยาวชน สร้างหลักสูตรการเรียนการสอน ระบุสร้างกฎป้องกันต้องละเอียดรอบคอบ จำกัดมากเกินไป งานจะเดินไม่ได้
วันที่ 17 กันยายน 2558 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จัดสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนา สตง. 100 ปี เรื่อง 100 ปี บนเส้นทางการตรวจเงินแผ่นดินไทย:ประชาชนได้อะไร ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) เป็นประธาน
นายอภิศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ ใครคิดโกงเงินแผ่นดิน เท่ากับสิ้นความเป็นไทยว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาของประเทศ เกาะกินกันมานาน ซึ่งประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าได้ต้องมีรากฐานความซื่อสัตย์สุจริตของคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และประชาชน ทั้งนี้ ข้าราชการนับเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงต้องมีธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน สามารถตรวจสอบได้ ไม่เอื้อประโยชน์
“คอร์รัปชันส่วนใหญ่เกิดจากกรณีเล็ก ๆ มาก่อน จึงถือเป็นภัยร้ายที่ต้องหาทางแก้ไขหรือมีมาตรการป้องกัน” รมว.คลัง กล่าว และว่าต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในไทย จะให้ความสำคัญเรื่องคอร์รัปชันเป็นหลัก ฉะนั้นไทยต้องปรับหากคิดว่า การลงทุนของต่างประเทศมีความสำคัญ
นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน คือ การสร้างจิตสำนึก ปลูกฝังให้รู้สึกว่า คอร์รัปชันไม่ดีก็จะเป็นเกราะกำบังไม่ให้เกิดขึ้น แต่การปลูกฝังจิตสำนึกไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องใช้เวลา และต้องปลูกฝังตั้งแต่ระดับเยาวชน หากรอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แม้ทุกคนจะรับฟัง แต่ใช่ว่าจะแก้ไขได้ ซึ่งเป็นไปได้มากที่สุด ต้องพยายามบรรจุเรื่องนี้ไว้ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาเหมือนฮ่องกง
ทั้งนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหา ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และพยายามป้องปราม แต่ไม่ว่าจะกำหนดกฎเกณฑ์ใด ถ้าคนตั้งใจทุจริตก็ย่อมสามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งหมดจึงต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึก อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์กำหนดขึ้นต้องคำนึงถึงความละเอียดรอบคอบ หากมากเกินไปจะทำให้งานเดินไปไม่ได้
รมว.คลัง ระบุว่า การกำหนดกฎเกณฑ์ควรให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานกับความสามารถในการป้องกันประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยกันก่อน หากผู้ออกกฎเกณฑ์และผู้ปฏิบัติงานต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่จะเกิดปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ตลอดจนผู้ออกกฎเกณฑ์ต้องมีวิจารณญาณที่เหมาะสมในการตรวจสอบและทำงานด้วย และต้องพูดคุยกับผู้ปฏิบัติงานด้วย
“ปัจจุบันการคอร์รัปชันถูกแปรรูปไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามนำขบวนการต่าง ๆ ตามจับ แต่ความจริงไม่มีทางทัน แม้เราจะทำดีที่สุด ดังนั้น รากของการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันจึงขึ้นอยู่กับจริยธรรมของคนเรา”
นายอภิศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มการออกกฎหมายพิเศษล้างหนี้โครงการรับจำนำข้าวว่า ความจำเป็นไม่มาก เพราะการนำเงินก้อนใหม่มาจ่ายก้อนเก่าก็ยังเป็นหนี้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม หากได้ผลสรุปและภาระที่แท้จริง ค่อยดำเนินการก็ไม่สายเกินไป ทั้งนี้ ก.คลังบริหารหนี้โดยองค์รวม มิใช่โครงการใดโครงการหนึ่ง แต่ยังไม่ยืนยันว่า ปัจจุบันมีความจำเป็นขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษหรือไม่ ต้องศึกษาแนวโน้มอีกครั้งหนึ่ง
“ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโครงการฯ 2 ชุด ซึ่งจะเร่งรัดให้ทราบผลเร็วที่สุด ก่อนส่งเรื่องไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อประเมินการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ต้องพยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากเร่งรัดรวดเร็วเกินไป อาจถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ แต่มั่นใจว่าจะเสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี 2558” รมว.คลัง กล่าวทิ้งท้าย