ครูประชาบาลวิพากษ์นโยบายศึกษา “เมินหลักสูตรท้องถิ่น มองเด็กเป็นหนูทดลอง”
ครูประชาบาล “ปากบุ่ง ร้อยเอ็ด” ฉะนโยบายเสมายุบรวม ร.ร.เล็กแยกเด็กออกจากชุมชน มองคนเป็นหนูทดลอง “มุ่งแจกแท็ปเล็ต-สิ่งของมากกว่าสอนคนเป็นคน” ขณะที่ปราชญ์ชาวบ้านอัดหลักสูตรศึกษา สอนคนลืมรากเหง้าตนเอง-ห่างไกลชุมชน
จากกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบการเงินการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 7,000 แห่งจาก 15,000 แห่งภายในปี 2561 โดยอ้างว่าจำนวนเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนลดลง ทั้งจากปริมาณการเกิดของเด็กในชุมชนก็มีจำนวนลดลงเพิ่มมากขึ้นทุกวันทำให้มีปัญหาในเรื่องการจัดสรรงบประมาณและบุคลากร
นายเสน่ห์ เสาวพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบุ่ง ต.สะอาด อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนขนาดเล็กที่จะมีการยุบรวม เปิดเผยกับ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ให้สถานศึกษาทำหนังสือขอยุบรวม แต่ทางชาวบ้านและโรงเรียนก็ยืนยันว่าจะไม่ยุบรวม พร้อมกับทำแผนพัฒนาการศึกษา 3 ปีเพื่อขอเงินสนับสนุนจากสพฐ. 4 หมื่นบาท แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ
ชาวบ้านจึงร่วมกันตั้งศูนย์เกษตรศึกษาลุ่มน้ำชีขึ้นเพื่อทำกลุ่มอาชีพในโรงเรียน รายได้ส่วนหนึ่งก็แบ่งปันให้สมาชิก ส่วนที่สองก็จะเอามาเป็นกองทุนพัฒนาการศึกษาให้กับเด็ก เพราะในความเป็นจริงแล้วหากมีการยุบรวมกับโรงเรียนอื่นที่มีระยะทางกล่าว 8 กิโลเมตรจะทำให้เด็กเดินทางไปเรียนลำบากมากอีกทั้งผู้ปกครองก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และที่สำคัญเด็กๆจะถูกแยกห่างออกจากชุมชนของตนเอง
“ไม่มั่นใจนโยบายสพฐ.เท่าไหร่นัก โรงเรียนประถมต้องปูพื้นฐานให้เด็ก เด็กควรอยู่กับชุมชนอยู่กับพ่อแม่ คุณภาพต่างๆเกิดจากการปฏิบัติ ถ้าเด็กมีฐานที่แน่น คุณภาพก็จะตามมา ทุกวันนี้นโยบายหลักสูตรไปเน้นที่ภายนอก เน้นเรื่องอินเตอร์เน็ตแจกแท็บเล็ต โดยไม่สนที่จะสร้างคุณภาพภายใน การออกแบบหลักสูตรก็ทำกันในห้องแอร์ ไม่ได้สอบถามคนในพื้นที่ว่าเด็กอยากเรียนอะไร ชุมชนในฐานะที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กต้องการอะไร เด็กเรียนจบแล้วจะนำความรู้มาใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นจริงอย่างไร”
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบุ่ง กล่าวอีกว่า โรงเรียนบ้านปากบุ่งคงใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 3 ปี หลังจากช่วยกันตามมีตามเกิดก็เริ่มมีเครือข่าย มีองค์กรต่างๆเข้ามาช่วยเหลือ มีการนำปราชญ์ชาวบ้านมาสอนในวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา เช่น การทอผ้า นวดแผนไทย สมุนไพร การทอเสื่อ เรื่องอาหาร การสวดมนต์สรภัญญะ นอกจากเด็กจะได้ความรู้นำไปใช้ในชีวิตจริง ชุมชนยังได้กลุ่มอาชีพเพิ่มมีรายได้
“ต้องทำให้โรงเรียนเป็นมากกว่าคำว่าโรงเรียน การพัฒนาคือการเปลี่ยนแนวความคิด การทำงานความคิดยากกว่าการปฏิรูปวัตถุ ตรงนี้ สพฐ.ไม่เข้าใจ รัฐบาลก็ไม่เข้าใจ ที่ผ่านมาจึงมองโรงเรียนขนาดเล็กเป็นตัวสร้างปัญหาถ่วงความเจริญ เวลาให้เงินสนับสนุนก็จะให้โรงเรียนขนาดใหญ่ก่อน โรงเรียนบ้านปากบุ่งเหมือนโรงเรียนที่ตายไปแล้ว ผมเข้ามาพัฒนาโรงเรียนพร้อมๆกับพัฒนาชุมชน โรงเรียนจะอยู่ไม่ได้ถ้าชุมชนอยู่ไม่ได้ ทำยังไงเราถึงจะอยู่ได้ สพฐ.ไม่ให้เงินไม่เป็นไร เราทำอาชีพเราอยู่ได้ โรงเรียนขนาดเล็กก็มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่สิ่งของที่จะให้ใครมาทดลองเล่นๆ” นายเสน่ห์ เสาวพันธ์ กล่าว
ด้านนายแสง ภูมิประพันธ์ ประธานกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านปากบุ่งและครูภูมิปัญญา กล่าวว่า นโยบายรัฐยังไม่เข้าใจการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง หลักสูตรที่ออกแบบโดยชุมชนทำให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตตัวเอง ทุกวันนี้เด็กไม่รู้ว่าพ่อแม่อยู่กันยังไง เพราะการศึกษามุ่งสอนให้คนเป็นเจ้าคนนายคน บางคนไปทำงานในเมืองเมื่อไม่มีงานทำ กลับมาอยู่ชุมชนก็อยู่ไม่ได้ เพราะทำอะไรไม่เป็น เป็นภาระของพ่อแม่ เป็นวังวนแบบนี้ไม่รู้จบ .