ฉากสุดท้ายคดีบึ้มกรุง...ระวังจบแค่ครอบครองยุทธภัณฑ์
ผ่านมาเกือบ 1 เดือนเต็มแล้ว สำหรับคดีลอบวางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วย ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ ทำให้ความคืบหน้าทางคดีมีปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องพอสมควร
แต่สิ่งที่น่าหยิบยกมาเป็นข้อสังเกตและคิดต่อ ก็คือ คดีนี้จะไปจบลงที่ตรงไหน โดยมีประเด็นสำคัญๆ ที่นำมามาสู่คำถามหลายประเด็น แยกเป็น 2 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ
ปัจจัยที่หนึ่ง ปัจจัยเรื่องตัวผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิด แบ่งได้กว้างๆ เป็น 5 กลุ่ม คือ ทีมปฏิบัติการ มี 6 คน, ทีมสนับสนุนในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่พักและอำนวยความสะดวก, ทีมพาหนี มี 4-5 คน, ทีมสนับสนุนจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเงิน และทีมสนับสนุนเรื่องวีซ่า
ประเด็นที่เป็นข้อสังเกต ได้แก่
1.ผู้ต้องหาหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลอบวางระเบิดและการสั่งการ น่าจะหนีออกนอกประเทศไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น นายอิซาน หัวหน้าทีมปฏิบัติการ, ชายเสื้อฟ้า ซึ่งล่าสุดมีข่าวข้ามไปกบดานมาเลเซีย และ ชายเสื้อเหลือง ซึ่งแม้ยังไม่ชัดว่าหลบอยู่ที่ไหน แต่ก็เชื่อกันว่ามีโอกาสน้อยที่จะยังอยู่ในเมืองไทย
2.กลุ่มที่ร่วมสนับสนุน เจ้าหน้าที่จับกุมได้แค่ 2 คน คือ นายอาเดม คาราดัก หรือ บิลลาล เติร์ก มูฮำหมัด และ นายเมอไรลี่ ยูซูฟู ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการประกอบระเบิด จัดหาและเก็บรักษาสารประกอบระเบิด ตลอดจนที่พัก ที่หลบซ่อนตัว
ส่วนที่เหลือของกลุ่มนี้ นำโดย น.ส.วรรณา สวนสัน สาวชาวพังงา, สามีของเธอ และบุคคลอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ทราบชื่อ หรือทราบชื่อก็มีภาพเฉพาะจากกล้องวงจรปิดหรือภาพสเก็ตช์ ทั้งหมดน่าจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว
3.กลุ่มพาหนี แม้จะจับกุมได้บางส่วน แต่คนในกลุ่มนี้รู้ข้อมูลจำกัด เพราะรับผิดชอบงานแค่ส่วนเดียว บางคนไม่รู้จักคนที่ตัวเองพาหนีด้วยซ้ำ
4.กลุ่มสนับสนุนทางการเงิน ทั้งหมดเคลื่อนไหวอยู่นอกประเทศ
ในแง่ของตัวผู้ต้องหานี้ เมื่อ "ผู้ต้องหาหลัก" โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุระเบิด หลบหนีออกนอกประเทศหมดแล้ว เจ้าหน้าที่จะเดินหน้าคดีต่อไปได้แค่ไหน เพราะการติดตามตัวผู้ต้องหาที่อยู่นอกประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ความร่วมมือจากประเทศผู้เกี่ยวข้องหลักๆ ก็ยังมีปัญหา สะท้อนจากป่านนี้ยังแทบไม่สามารถระบุสัญชาติผู้ต้องหาที่ชัดเจนได้เลย ยกเว้นสัญชาติจีน เมื่อมีสื่อมวลชนพยายามระบุสัญชาติ ก็จะมีแถลงการณ์ชี้แจงตอบโต้จากประเทศที่เกี่ยวข้องทันที
ท่าทีแบบนี้สะท้อนปัญหาอะไรที่ทับซ้อนอยู่ น่าจะคิดต่อกันได้ไม่ยาก...
ปัจจัยที่สอง เรื่องข้อหาที่แจ้งต่อผู้ต้องหา ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ยังแจ้งข้อหาเพียงแค่ครอบครองวัตถุระเบิด และครอบครองยุทธภัณฑ์เท่านั้น ยังไม่มีการแจ้งข้อหาเกี่ยวกับการฆ่า หรือการทำให้เกิดระเบิดจนเกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ตำรวจย่อมแจ้งข้อหาไปตามพยานหลักฐานที่พบ ถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างมี "นิติธรรม" แต่ผลที่เกิดอีกด้านที่ทำให้วิเคราะห์ต่อได้เหมือนกันก็คือ นี่แสดงว่าแทบจะยังไม่มีหลักฐานโยงไปถึงการวางระเบิด ซึ่งเป็นพฤติการณ์แห่งความผิดที่นำไปสู่การตายและความสูญเสียเลยใช่หรือไม่
โดยเฉพาะสองสิ่งที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากตำรวจ คือ "รูปแบบของระเบิดที่คนร้ายใช้" กับ "ระบบจุดระเบิดที่ทำให้เกิดการระเบิดขึ้น"
เพราะเมื่อไม่ทราบหรือไม่มีความชัดเจนเรื่อง "รูปแบบระเบิด" ย่อมไม่สามารถเชื่อมโยงวัตถุพยานที่พบ กับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นได้
และเมื่อไม่ทราบหรือไม่มีความชัดเจนเรื่อง "ระบบจุดระเบิด" ก็ย่อมไม่สามารถเชื่อมโยงพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ต้องหาเข้ากับการระเบิดที่เกิดขึ้นได้
เหตุนี้หรือไม่จึงยังไม่มีการแจ้งข้อหาฆ่า หรือข้อหาฉกรรจ์อื่นๆ ตามพฤติการณ์จริงแห่งคดี
ระวังสุดท้ายคดีนี้จะจบแค่ความผิดฐานครอบครองยุทธภัณฑ์ ที่มีโทษจำคุกแค่ 5 ปีเท่านั้น!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สภาพรั้วศาลท้าวมหาพรหมหลังโดนลอบวางระเบิด
ขอบคุณ : คุณวีร์ อินทรกระทึก ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวญี่ปุ่น เอื้อเฟื้อภาพ