‘มณเฑียร บุญตัน’ หวังธนาคารปล่อยกู้คนพิการเป็นทุนหมุนเวียนค้าสลากฯ
เปิดลงทะเบียนผู้ค้าสลากฯ วันแรก ก่อนสั่งจอง 5-50 เล่ม ต.ค. 58 ‘มณเฑียร บุญตัน’ ห่วงผู้ค้ารายย่อยเข้าไม่ถึง เหตุไม่มีเงินซื้อ น่าจะเข้ามือผู้ค้ารายใหญ่มากกว่า ระบุหากรัฐบาลต้องการกระจายจริง ต้องกำหนดสูงสุดไม่เกิน 10 เล่ม สร้างสิทธิคนพิการเข้าถึงแหล่งเงินทุนธนาคาร
ภายหลังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดให้ผู้ค้าลงทะเบียนรับสิทธิ์ค้าสลากฯ ล่วงหน้า ในวันที่ 15 กันยายน 2558 เป็นวันแรก ผ่านธนาคารกรุงไทย และลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ ซึ่งจะเปิดให้สั่งซื้อวันที่ 3-7 ตุลาคม 2558 สำหรับงวดแรกวันที่ 16 ตุลาคม นี้ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะ อ.วังสะพุง จ.เลย อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า หากผู้ค้ารายย่อยสั่งซื้อสลากฯ จำนวนมากเกินไป เมื่อจำหน่ายไม่หมดอาจขาดทุน และก่อให้เกิดหนี้ได้
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะผู้มีบทบาทขับเคลื่อนเรื่องสลากฯ ในไทยมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สลากฯ ควรสอดรับกับปริมาณความต้องการในตลาด และการกระจายแก่ผู้ค้ารายย่อยก็ต้องมีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนเปิดจองซื้อขั้นต่ำ 5 เล่ม สูงสุดไม่เกิน 50 เล่มนั้น น่าจะเข้ามือผู้ค้ารายใหญ่มากกว่า เพราะยังนึกไม่ออกว่า ผู้ค้ารายย่อยจะนำเงินจากแหล่งใดมาซื้อสลากฯ สูงสุด ประมาณ 3.5 แสนบาทได้
ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการคัดกรองให้เกิดการกระจายจริง ต้องไม่ควรเกิน 10 เล่ม หรือประมาณ 7 หมื่นบาท ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะการทำให้สลากฯ มีราคาไม่สูง จะต้องกระจายให้ถึงมือผู้ค้ารายย่อย เเทนการกระจุกไว้ที่ใดที่หนึ่งจำนวนมาก ส่วนผู้ค้าสลากฯ ขาดทุนหรือไม่ หากมีการเพิ่มจำนวนมาก ขณะที่ปริมาณการซื้อน้อย ผู้ค้าก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม มิใช่หวังผลกำไรสุดโต่งจนไม่รักษาความสมดุล
สมาชิก สนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความจริงแล้วสลากฯ ไม่ใช่สินค้าควรได้รับการส่งเสริม แต่เป็นสินค้าเพื่อการควบคุมพนัน และช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก หรือมีทางเลือกในการประกอบอาชีพจำกัด และขาดแหล่งเงินทุนชัดเจน ยกตัวอย่าง คนพิการ จะกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอื่นไม่ได้ ยกเว้นกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเท่านั้น ดังนั้น ใช้โอกาสนี้ถามถึงรัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไรต่อกองทุนฯ นี้ในอนาคตว่า ควรจะปล่อยเงินกู้หรือให้ธนาคารปล่อยกู้ให้คนพิการ
กรณีเช่นนี้ต้องสร้างหลักประกัน แต่สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ก็จะทำให้หนีไม่พ้นการกู้เงินนอกระบบ ยืมเงินจากยี่ปั๊ว หรือผู้ค้ารายใหญ่ ดังนั้นหากรัฐบาลดำเนินนโยบายนี้แล้ว นอกจากไม่ควรปล่อยให้มีการสั่งจองมากเกินไปจนกลายเป็นภาระ ก็ควรสร้างแหล่งทุนแก่คนพิการ และรัฐแบ่งรายได้จากกองสลากฯ ให้น้อยลง ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องหวังเงินจากส่วนนี้ แต่รัฐควรไปส่งเสริมรายได้จากการเก็บภาษีดีกว่า
ส่วนสำนักงานสลากฯ เตรียมให้ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ให้กับผู้ค้ารายย่อย เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการค้าสลาก นายมณเฑียร ระบุเห็นด้วย แต่สำหรับคนพิการยังนึกไม่ออกว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เพราะทุกครั้งที่ผู้พิการจะยืมเงินจากสถาบันการเงินเหล่านี้มักถูกปฏิเสธเสมอ แต่ถ้าธนาคารเหล่านั้นยินดีก็ไม่ว่าอะไร ซึ่งดีกว่าการกู้ยืมเงินนอกระบบ
สมาชิก สนช.ยังกล่าวถึงภาพรวมการค้าสลากฯ ในปัจจุบันด้วยว่า การบังคับให้ผู้ค้าจำหน่ายในราคาคู่ละ 80 บาท เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เพราะขณะนี้ราคาขายส่งขึ้นมาอยู่ที่คู่ละ 74-75 บาท มิใช่ 70 บาท 40 สตางค์ อย่างที่สำนักงานกองสลากฯ กำหนด จึงทำให้ไม่สามารถบังคับผู้ค้าบางคนให้จำหน่ายตามราคาที่กำหนดได้ ทั้งที่ความจริงหลักการจำหน่ายราคาควบคุมต้องสร้างส่วนลดเป็นไปได้สำหรับผู้ค้ารายย่อย
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามผู้ค้าสลากฯ รายย่อยคนหนึ่ง ซึ่งได้ลงทะเบียนที่ธนาคารกรุงไทยวันเเรก กล่าวว่า เตรียมสั่งจองสลากจำนวน 5 เล่ม มูลค่าประมาณ 3 หมื่นบาท เเละไม่สามารถสั่งจองได้มากกว่านี้ เพราะไม่มีเงิน เพียง 5 เล่ม ยังต้องยืมเงินจากยี่ปั๊วเเละเสียดอกเบี้ยให้ ส่วนในต่างจังหวัดเชื่อว่ามีผู้ค้าหลายรายต้องยืมเงินจากเเหล่งเงินกู้นอกระบบ เพราะเเม่ค้าคงไม่มีเงินมาซื้อสลากฯ
ภาพประกอบ:www.saisawankhayanying.com