อธิการบดีมธบ.ชี้ไม่เกิน 2 ปี เด็กไทยเรียนมา 16 ปี จะไม่มีงานทำ
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ชี้เราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่าน อุตสาหกรรมหลายประเภทย้ายฐานการผลิตไปอยู่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อดีตเด็กไทยจบมายังหางานได้ แต่อีก 2 ปีข้างหน้า หวั่นแม้มีใบปริญญาก็ต้องเตะฝุ่น ตกงาน
วัน ที่ 14 กันยายน 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาลของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย ครั้งที่ 6 เป็นการปาฐกถาในหัวข้อ “การศึกษากับยาพิษแอบแฝง” โดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงระบบการศึกษาไทยที่ขาดการเชื่อมโยงระหว่างในห้องเรียนกับนอกห้องเรียน รวมทั้งขาดกระบวนการในการฝึกฝนความคิด ขาดกระบวนการสร้างความใฝ่รู้ โดยเฉพาะการศึกษาที่ขาดคุณภาพทำให้เสียเวลาในการสร้างโอกาสสูง
"เวลานี้เราขาดเด็กที่มีแรงงานวิชาชีพ เพราะเมืองไทยให้คุณค่ากับคนจบปริญญาตรี ทุกคนจึงมุ่งหวังจะเข้าศึกษา ในมหาวิทยาลัย จบมาได้เงินเดือน 15,000 บาท ขณะที่จบปวช. ปวส. เงินเดือน 8,000 บาท ตลาดต้องการแต่เราให้คุณค่าเขาด้วยเงินเพียงเท่านี้"
อธิการบดีม.ธุรกิจบัณฑิต กล่าวอีกว่า วันนี้เราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่าน อุตสาหกรรมหลายประเภทย้ายฐานการผลิตไปจากไทย ย้ายไปอยู่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จริงอยู่ที่ผ่านมาจบมาก็ยังหางานได้ แต่อีก 2 ปีข้างหน้าจากนี้ไป ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เราจะกลายเป็นเรียนมา 16 ปีแต่ไม่มีงานทำ ถ้าไม่เรียกว่านี่คือยาพิษแล้วจะให้เรียกว่าอะไร
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวถึงการทักษะให้เด็กไทยสามารถต้านทานยาพิษแอบแฝงจากระบบการศึกษา จะต้องสร้างทักษะ 4 ตัว ได้แก่ สร้างให้เป็นคนรู้จักคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ รู้จักทำงานเป็นทีม มีกระบวนการสื่อสาร ผสมกับทักษะวิชาชีพ
"อุปสรรคใหญ่ในการศึกษาหรือการร่างเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกคว่ำไปแล้วนั้นยังไม่เกิดการปฏิรูป เพราะ ทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติ และกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ทำงานร่วมกัน หากจะให้เกิดการปฏิรูปทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องมีการทำงานร่วมกัน และที่ผ่านมาคนที่เข้ามาเป็นครูเพราะอยากเป็นข้าราชการมากกว่าที่จะเป็นครู นอกจากนี้การจัดการระบบของการศึกษาก็มีปัญหา ถามว่าวันนี้จะดีขึ้นไหม ตอบได้แค่ว่าคงไม่เลวลงไปกว่านี้แล้ว ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่กระทรวงศึกษาธิการต้องมีการจัดการระบบให้ดี กว่าที่เป็นอยู่"