ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ:การศึกษากับยาพิษแอบแฝง
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ชี้สอนแบบกั๊กบทเรียนเพื่อทำให้เด็กต้องเรียนพิเศษเป็นยาพิษทำลายการศึกษา ระบุใครไม่เรียนจะกลายเป็นคนแปลกของสังคม ย้ำระบบการศึกษาไทยขาดการเชื่อมโยงความรู้นอกห้องเรียนและกระบวนการคิดวิเคราะห์
วันที่ 14 กันยายน 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาลของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย ครั้งที่ 6 เป็นการปาฐกถาในหัวข้อ “การศึกษากับยาพิษแอบแฝง” โดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ความรู้ไม่ใช่การท่องจำเพียงอย่างเดียว หรือเป็นเรื่องของการแค่รู้หรือไม่รู้ และไม่ใช่เกมส์ในห้องเรียนเพื่อสอบให้ผ่าน เพราะแท้จริงเราไม่ได้เรียนเพื่อสอบ แต่ที่มีการสอบก็เพื่อสร้างแรงกดดันให้เด็กเกิดการตั้งใจเรียน และการเรียนรู้คือสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว ไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น
สำหรับระบบการศึกษาไทย ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า ขาดการเชื่อมโยงระหว่างในห้องเรียนกับนอกห้องเรียน รวมทั้งขาดกระบวนการในการฝึกฝนความคิด ขาดกระบวนการสร้างความใฝ่รู้
“การศึกษาที่เป็นพิษนั้นเป็นการศึกษาที่ไม่สมควรจะเป็น เช่นการครอบงำศิษย์ให้เด็กคิดเหมือนที่ครูคิด ส่วนสารปรอทเปรียบเสมือนการศึกษาที่เป็นยาพิษที่ทำให้คนเห็นความเลวเป็นความดี เห็นครูคอร์รัปชัน หรือการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เห็นความเลวเป็นของธรรมดา ในระบบการศึกษาให้ผลประโยชน์กับผู้สอนเป็นสำคัญ”
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวถึงยาพิษชนิดแรกในระบบการศึกษาว่า การสอนในห้องเรียนแบบกั๊ก บทเรียนเพื่อที่จะให้มีการสอนพิเศษและเก็บเงินเด็กเพิ่ม คือ ยาพิษและเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา เพราะความจริงแล้วเด็กบางคนไม่ได้อยากเรียน แต่รู้สึกว่า การไม่เรียนคือการแปลกแยก พ่อแม่กลัวลูกสอบไม่ได้ก็ต้องยอมเสียเงิน เด็กรู้ว่าการที่ครูสอนไม่เต็มที่เพราะจะให้เรียนพิเศษ แต่เพราะเด็กเคยชินกับสิ่งที่ครูทำไม่ถูกต้อง ฉะนั้นการกระทำแบบนี้จึงเป็นการฆ่าเด็กที่ละเล็กละน้อย และการที่เด็กเห็นคอร์รัปชันในโรงเรียนและสังคม จนทำให้เกิดการคอร์รัปในจิตใจ นี่ก็ถือเป็นยาพิษเพราะเป็นการมองสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง พ่อแม่ละเลยศีลธรรมทำผิดเล็กๆน้อยๆให้ลูกเห็นจนกลายเป็นความเคยชิน
อธิการบดีม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการครอบงำความคิดของศิษย์ หรือการทำให้กระจกเป็นหน้าต่างว่า ลูกต้องเหมือนตัวเอง หรือการจงใจล้างสมอง เน้นประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมมากเกินไป ประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นสากล ความเชื่อในลัทธิการเมือง ทั้งในเรื่องศาสนา หรือการมีข่าวก่อนวันหวยออกจากความเชื่อต่างๆ ถือเป็นการใส่ยาพิษเข้าไปในจิตใจของคนในสังคมทั้งสิ้น แม้แต่กระทั่งการรู้สิ่งต่างๆแบบงูๆปลาๆและไม่ได้ขวนขวายก็เป็นยาพิษแอบแฝงเช่นเดียวกัน
“การครอบงำความคิดจะทำให้เกิดลักษณะพิเศษ คือเด็กจะเชื่องและหงอย ว่านอนสอนง่าย การที่เด็กว่านอนสอนง่ายถือเป็นยาพิษอย่างหนึ่ง เพราะเด็กจะขาดกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ เก่งจดจำมากกว่าวิเคราะห์ และโง่ต่อไปด้วยความสามารถในการคิด”
นอกจากนี้รศ.ดร.วรากรณ์ ยังกล่าวอีกว่า การศึกษาที่ขาดคุณภาพทำให้เสียเวลาในการสร้างโอกาสสูง ในเวลานี้เราขาดเด็กที่มีแรงงานวิชาชีพ แต่เพราะที่เมืองไทยให้คุณค่ากับคนจบปริญญาตรีทุกคนจึงมุ่งหวังจะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย จบมาได้เงินเดือน 15,000 บาท ขณะที่จบปวช. ปวส. เงินเดือน 8,000 บาท ตลาดต้องการแต่เราให้คุณค่าเขาด้วยเงินเพียงเท่านี้
"วันนี้เราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่าน อุตสาหกรรมหลายประเภทย้ายฐานการผลิตไปจากไทย ย้ายไปอยู่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จริงอยู่ที่ผ่านมาจบมาก็ยังหางานได้ แต่อีก 2 ปีข้างหน้าจากนี้ไป ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เราจะกลายเป็นเรียนมา 16 ปีแต่ไม่มีงานทำ ถ้าไม่เรียกว่านี่คือยาพิษแล้วจะให้เรียกว่าอะไร"รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว และว่า สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ไทยเป็นพ่อแม่ประเภทรังแกฉัน รังแกแบบรักลูก ไม่มีวินัยกับลูกตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เด็กในยุคนี้เป็นเด็กยุคสตอเบอรี่ คือเป็นพวกบอบช้ำง่าย เพราะถูกเลี้ยงดูมาเหมือนไข่ในหิน ดังนั้นการจะสร้างทักษะ 4 ตัว ได้แก่ สร้างให้เป็นคนรู้จักคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ รู้จักทำงานเป็นทีม มีกระบวนการสื่อสาร ผสมกับทักษะวิชาชีพ เด็กไทยจึงจะสามารถต้านทานยาพิษแอบแฝงเหล่านั้นได้
อธิการบดีม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการปฎิรูปการศึกษาไทยด้วยว่า อุปสรรคใหญ่ในการศึกษาหรือการร่างเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไปแล้วนั้นยังไม่เกิดการปฏิรูป เพราะ ทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติ และกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ทำงานร่วมกัน หากจะให้เกิดการปฏิรูปทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องมีการทำงานร่วมกัน และที่ผ่านมาคนที่เข้ามาเป็นครูเพราะอยากเป็นข้าราชการมากกว่าที่จะเป็นครู นอกจากนี้การจัดการระบบของการศึกษาก็มีปัญหา ถามว่าวันนี้จะดีขึ้นไหม ตอบได้แค่ว่าคงไม่เลวลงไปกว่านี้แล้ว ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่กระทรวงศึกษาธิการต้องมีการจัดการระบบให้ดีกว่าที่เป็นอยู่