ภาษาไทยไม่ช่วยเพิ่มรายได้! วิจัยพบเหตุพ่อแม่เด็กข้ามชาติไม่ส่งลูกเรียน
ภาคประชาสังคมเผยผลศึกษาเด็กข้ามชาติตัดสินใจเลือกเรียนหรือทำงาน พบพ่อแม่ขาดสิ่งจูงใจส่งลูกเรียน เหตุภาษาไทยไม่ช่วยเพิ่มรายได้ คณะวิจัยระบุหากพูดภาษาไทยได้ ช่วยเพิ่มค่าจ้างเพียง 5 บาท ซื้อชากินยังไม่ได้ เรียกร้องเอ็นจีโอกระตุ้น รณรงค์ ด้านนายจ้างควรช่วยเหลือเงินทางการศึกษา
วันที่ 14 กันยายน 2558 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization:ILO) ร่วมกับมูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง แรงงานข้ามชาติและเด็กทำงานในห่วงโซ่อุปทาน สินค้าแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลในประเทศไทย:สภาพการทำงานและการตัดสินใจที่จะเลือกทำงานหรือเลือกการศึกษา ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี
Mr.Maurizio Bussi, Office in Charge, ILO Country Office for Thailand, Cambodia and Lao People’s Democratic Republic กล่าวว่า ไทยเป็นภาคีทำงานรุ่นแรก ๆ ที่พยายามลดจำนวนแรงงานเด็ก ซึ่งบทบาทผู้บุกเบิกไม่ง่ายเลย ต้องยกย่องพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันมา โดยตลอด 20 ปี มีความพยายามลดแรงงานเด็ก และไทยก็มีการสนับสนุนและความมุ่งมั่น ท้ายที่สุด เราต้องการเห็นพันธมิตรช่วยกระตุ้นเรื่องสภาพแรงงาน องค์กรธุรกิจ และตัวละครอื่น ๆ ที่สำคัญที่มีบทบาทเรื่องดังกล่าวทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กดีขึ้น
ทั้งนี้ เด็กต้องเข้ามาใช้แรงงาน เพื่อช่วยพ่อแม่หารายได้ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ระบบเศรษฐกิจยังไม่มีการจัดระเบียบที่ดี ทั้งที่ความจริง สถานที่ทำงานทุกแห่งควรปราศจากแรงงานเด็ก มิฉะนั้นก็จะเสียโอกาสพัฒนาศักยภาพ การหางานที่ดี เราจึงไม่ควรปล่อยปละละเลยเด็กรุ่นต่อรุ่นให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ โดยปราศจากความหวัง แต่การแก้ปัญหาทุกอย่างต้องใช้เวลา มีเจตนารมณ์อย่างแข็งกล้าทางด้านการเมือง ข้อมูล สถิติ ภายใต้เป้าหมายให้พ่อแม่มีงานทำที่มีคุณค่า และเด็กได้รับการศึกษา เรียกอีกอย่างว่า ทำให้พวกเขามีศักดิ์ศรี
“ศตวรรษที่ 21 ไม่ควรมีเด็กที่ไหนได้รับการแสวงหาประโยชน์ ไม่ควรมีเด็กที่ไหนได้รับการปฏิเสธการศึกษา และการสร้างอนาคต แต่ควรให้เด็กมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้นับเป็นความท้าทายสำหรับการพัฒนา เราต้องมั่นใจว่า แรงงานเด็กต้องไม่เกิดขึ้นในสังคม ประเทศที่สวยงามไม่ควรมีแรงงานเด็ก” Mr.Bussi กล่าว
ด้าน Ms.Veronique Salaz-Lozac’h, Chief Economist and Senior Director of Economic Development มูลนิธิเอเชียศึกษา กล่าวถึงข้อค้นพบเชิงคุณภาพและปริมาณด้านการใช้แรงงงานเด็กข้ามชาติในอุตสาหกรรมกุ้งและทูน่า พบว่า 1 ใน 4 ของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมกุ้งนั้นไม่มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง และทำงานตั้งแต่กระบวนการเลี้ยง คัดเลือก จนถึงการแปรรูป และส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ไม่เป็นทางการ
สำหรับแรงงานเด็กข้ามชาติในอุตสาหกรรมกุ้งเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ กรณีสัญญาจ้าง ร้อยละ 70 ไม่มีสัญญาจ้างงาน โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ไม่มีสัญญาจ้างงานเลย
ทั้งนี้ เด็กส่วนใหญ่ทำงานไม่เป็นทางการ ได้รับค่าจ้างรายวัน ซึ่งไม่ถือเป็นค่าจ้างแรงงานที่ต้องมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้ไม่ต้องการให้ลูกทำงาน แต่เมื่อเด็กเข้าไปอยู่และเห็นจึงช่วยหยิบฉวย และเมื่อเห็นเด็กเริ่มทำงานได้ เจ้าของกิจการก็มักใช้ค่าจ้างเป็นบางครั้ง
Ms. Salaz-Lozac’h กล่าวด้วยว่า ในส่วนการประเมินอาการบาดเจ็บของแรงงานเด็กข้ามชาติในอุตสาหกรรมกุ้งกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยังพบว่า เด็กทำงานในอุตสาหกรรมกุ้งมีอัตราการบาดเจ็บสูงเป็น 2 เท่าของอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเด็กอายุ 5-12 ปี มีสัดส่วนบาดเจ็บมากที่สุด ร้อยละ 40 ของเด็กผู้ชาย บาดเจ็บมากกว่าเด็กผู้หญิง เพราะเด็กผู้ชายอาจได้รับการมอบหมายงานหนักกว่า ทำงานในเวลากลางคืน จนไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ จึงส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและปัญหาสุขภาพได้ อีกทั้งแรงงานเด็กข้ามชาติ ร้อยละ 44 ในอุตสาหกรรมทะเลยังขาดเครื่องมือป้องกันความปลอดภัยจากการบาดเจ็บ
“หากเทียบเคียงอุตสาหกรรมกุ้งกับทูน่า จะเห็นได้อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 95 ผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้นจึงมีความกดดันจากต่างประเทศเพื่อซื้อ จึงได้ติดตาม ควบคุมคุณภาพ และมีมาตรฐานสูงในการใช้แรงงาน และดูแลสภาพแวดล้อม แตกต่างจากอุตสาหกรรมกุ้ง ร้อยละ 50 ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ อีกร้อยละ 50 ผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้มีความกดดันน้อยในการควบคุมมาตรฐานและการใช้แรงงานเด็ก กฎระเบียบต่าง ๆ ถึงแม้ภาครัฐจะมีความพยายามติดตาม แต่ยังพบอัตราเสี่ยงสูงในการละเมิด” Ms.Salaz-Lozac’h กล่าว
ขณะที่ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนเเก้ว มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า จากการศึกษาแรงงานเด็กข้ามชาติใน จ.สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี พบสัดส่วนเด็กข้ามชาติได้รับการศึกษา อายุ 5-12 ปี ร้อยละ 94 อายุ 13-14 ปี ลดลงเหลือร้อยละ 70 และอายุ 15-17 ปี ลดลงเหลือร้อยละ 35 นั่นแสดงว่า เราสูญเสียประมาณร้อยละ 60 ในเวลา 3 ปี เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ต้องตัดสินใจเลือกจะเรียนต่อหรือหารายได้
โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาร์เข้ามาในไทยเพื่อทำงานหารายได้ ทำให้การตัดสินใจให้เด็กได้รับการศึกษากลายเป็นทางเลือกที่ 2 แม้โรงเรียนจะให้การสนับสนุนก็ตาม อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เอ็นจีโอ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ และเด็กข้ามชาติ ในพื้นที่กรณีศึกษา 3 จังหวัดข้างต้น พบปัจจัยด้านบวกที่มีผลผลักดันให้เด็กข้ามชาติเข้า-ออกโรงเรียน
นักวิชาการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุถึงปัจจัยด้านบวก พบสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญ ถ้าครอบครัวแรงงานข้ามชาติมีรายได้มากพอจะส่งลูกไปโรงเรียน ทั้งนี้ การตัดสินใจจะเข้าสถาบันการศึกษาใดนั้นต้องได้รับการเสนอแนะและช่วยเหลือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้พ่อแม่เด็กว่าจะได้เรียนในโรงเรียนแน่นอน ส่วนนายจ้างที่ดีบางคนได้ให้ทุนการศึกษาแก่พ่อแม่เด็ก ซึ่งจะช่วยเพิ่มการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
พร้อมกันนี้ การกระตุ้นการศึกษาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวก เพราะแรงงานข้ามชาติกลุ่มชาติพันธุ์มักไม่สนใจเรื่องดังกล่าว นอกเหนือจากการหารายได้กลับไปให้มากที่สุด กรณีสุดท้ายต้องกลับไปอยู่บ้านดั้งเดิม แต่แรงงานข้ามชาติเมียนมาร์ ซึ่งเดินทางกลับไปมา มักให้คุณค่าทางการศึกษา เพื่ออย่างน้อยเด็กจะกลับไปทำงานในเมียนมาร์ได้ โดยเฉพาะงานโรงแรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำโรงงานเสมอไป และเรื่องเงื่อนไขเวลาอยู่ในไทยก็ถือมีส่วนในการตัดสินใจให้เด็กได้รับการศึกษาด้วย
ดร.เกียรติอนันต์ ยังกล่าวถึงปัจจัยอื่นที่เรียกร้องให้เด็กทำงานแทนไปโรงเรียน คือ โอกาสจ้างงานเด็ก และหากเป็นลูกคนโตต้องดูแลคนเล็ก จึงไม่มีเวลาไปโรงเรียน ต้องแกะเปลือกกุ้งที่บ้าน รวมถึงต้องเคลื่อนย้ายแรงงานตามพ่อแม่บ่อยครั้ง ทำให้เด็กไม่สามารถยึดติดกับโรงเรียนแห่งใดแห่งหนึ่งได้ อีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่เด็กไทยไม่สบายใจที่ให้มีเด็กเมียนมาร์เข้ามาเรียนในชั้นเดียวกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีทัศนคติที่ดีต่อเด็กข้ามชาติ รวมถึง อาชีพแกะกุ้งไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาไทย
“พ่อแม่ขาดแรงจูงใจในการลงทุนการศึกษาของลูก เพราะจากการวิเคราะห์พบว่า หากเด็กข้ามชาติพูดภาษาไทยได้ สามารถช่วยเพิ่มรายได้เพียงร้อยละ 1.5 หรือ 5 บาท ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งซื้อชากินยังไม่ได้ ดังนั้น พ่อแม่จึงเห็นว่า แม้จะเขียนภาษาไทยได้ก็ไม่ช่วยอะไร จึงไม่มีนัยยะสำคัญใด ๆ” นักวิชาการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว และว่า ขณะที่การเพิ่มระดับการศึกษาของคนไทย กลับช่วยเพิ่มรายได้สูงถึงร้อยละ 8-9 ฉะนั้นจึงตอบได้แล้ว เหตุใดการส่งเสริมให้เด็กข้ามชาติตัดสินใจเรียนจึงยาก
สุดท้าย Dr.Ellen Boccuzzi, Acting Director, Governance and Law มูลนิธิเอเชียศึกษา กล่าวถึงข้อเสนอแนะสำหรับผู้กำหนดนโยบายว่า เด็กข้ามชาติควรได้รับการสนับสนุนให้ลงทะเบียนใช้บริการศูนย์ดูแลเด็กเล็กของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีอยู่ในทุกตำบล โดยจัดสรรงบประมาณท้องถิ่นสำหรับเด็กเหล่านี้ และเมื่อมีการส่งต่อเด็กข้ามชาติเข้าโรงเรียนไทยก็ควรได้รับการศึกษากับเด็กที่มีอายุไล่เลี่ยกัน
มีการจัดระบบการเรียนยืดหยุ่นสำหรับเด็กข้ามชาติระดับมัธยมศึกษา จัดโปรแกรมการฝึกงานด้านอาชีพควรมีสำหรับเด็กช่วงอายุ 13-14 ปี โดยเฉพาะเด็กหญิง พร้อมสนับสนุนนโยบายการจดทะเบียนแรงงงานข้ามชาติอย่างยั่งยืน และตั้งเวทีกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อแลกเปลี่ยนข้อท้าทายเกี่ยวกับการศึกษาของแรงงานข้ามชาติด้วย
สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคธุรกิจ Dr. Ellen กล่าวว่า องค์กรพัฒนาเอกชนควรสนับสนุนและรณรงค์ด้านการศึกษากับชุมชนแรงงานข้ามชาติ โดยกระตุ้นให้ใช้มุมมองระยะยาวสำหรับการอยู่ในไทย และการลงทุนให้แก่อนาคตของบุตรหลานและตนเองด้วยการส่งลูกหลานเข้าโรงเรียน ส่วนนายจ้างควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อช่วยในการส่งลูกของแรงงานข้ามชาติเข้าโรงเรียน และเพิ่มสิ่งจูงใจอื่น ๆ เพื่อให้เด็กเหล่านี้อยู่ในโรงเรียนต่อไป .