"นิพนธ์" ชี้ตลาดต้องการพันธุ์ข้าวถึง 1 ล้านตัน ไทยผลิตไม่เพียงพอ
“ปัญหาใหญ่ของไทยวันนี้มีปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าวดีๆ บางประเภทที่ตลาดนิยม และพันธุ์ข้าวพื้นบ้านบางพันธุ์ที่ไม่เพียงพอ แม้ในอดีตกรมการข้าวจะสามารถปรับปรุงและพัฒนาวิจัยได้ดี แต่มาในระยะหลังกลับดันไม่ขึ้น เพราะสามารถผลิตพันธุ์ข้าวเหล่านี้ได้เพียง 85,000 ตัน ทั้งๆที่ทั้งประเทศต้องการพันธุ์ข้าว 1 ล้านตัน”
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ศาสตราจารย์เกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยกับสำนักข่าวอิศรา หลังเข้าร่วมพูดคุยกับกลุ่มสมาคมโรงสีข้าว นักธุรกิจ และตัวแทนเกษตรจากเมียนมาร์ ถึงสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกและเมียนมาร์ ว่า สถานการณ์ข้าวของโลกในขณะนี้อยู่ในช่วงภาวะตลาดอ่อน แม้มีการคาดการณ์กันว่า ผลผลิตข้าวอาจจะน้อยลง และราคาน่าจะขยับขึ้น แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อ ไม่ว่าจะเป็นไนจีเรีย ประเทศในตะวันออกกลาง ทั้ง อิหร่าน อิรัก ประสบปัญหารายได้ตกต่ำจากความผันผวนของราคาตลาดน้ำมัน ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ไม่มีกำลังซื้อ
"ที่เมียนมาร์ นับว่ามีพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน และหวังที่จะพัฒนาเพื่อเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวโดยรัฐบาลเมียนมาร์เองมีนโยบายที่จะเพิ่มผลผลิตในการส่งออกเพิ่ม 2 ล้านตันภายในระยะเวลา 5 ปี"
ดร.นิพนธ์ บอกว่า กลุ่มผู้ค้าภายในประเทศเมียนมาร์ และกลุ่มธุรกิจโรงสีในเมียนมาร์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในทางปฏิบัติแล้วคงจะเป็นเรื่องยากที่จะเพิ่มการส่งออกให้ได้ถึง 2 ล้านตัน เอาแค่ 1.5ล้านตันก็เป็นเรื่องยากแล้ว
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อจำกัดนั้นมีสาเหตุดังนี้ 1.เรื่องระบบการขนส่งของถนนหนทาง 2.ไฟฟ้า 3.พันธุ์ข้าว เพราะหากมีการขยายการผลิต แล้วมีพันธุ์ข้าวที่ไม่ดีก็จะเกิดปัญหา 4.ที่ดินจำนวนมากที่ถูกทิ้งกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า และ5. ไม่มีกลุ่มแรงงานเกษตรกรในชนบทเนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้อพยพไปทำงานที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นที่ไทย หรือกลุ่มตะวันออกกลาง ดังนั้นเมียนมาร์จึงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในชนบทอย่างรุนแรง
“ดังนั้นชาวนาเมียนมาร์ก็จะเริ่มหันมาใช้เครื่องไถ่นา และเครื่องจักร ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรเป็นผู้เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวเองถึง 90% หากมีการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนา เมียนมาร์ก็จะมีปัญหาทันที เนื่องจากเครื่องจักรจะกวาดวัชพืชข้าวที่ระบาดมาด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อนแล้ว เมื่อเกิดการระบาด พันธุ์ข้าวที่เก็บมาปลูกก็จะไม่ใช่พันธุ์ที่บริสุทธิ์อีก”
เมื่อถามว่าการใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่บริสุทธิ์มาปลูกนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ดร.นิพินธ์ บอกว่า แน่นอนผลผลิตของข้าวจะลดลง และขณะนี้รัฐบาลเมียนมาร์ เองยังไม่มีวิธีการแก้ปัญหา ฉะนั้นเป้าหมายที่เขาวางไว้จึงอาจจะยังไม่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 5 ปีนี้ นอกจากเรื่องของพันธุ์ข้าวแล้ว การค้าภายในประเทศที่ไม่ใช่การค้าแบบเสรีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวเมียนมาร์กังวล และมองว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะปรับนโยบาย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นที่ผ่านๆมาคนที่มาดูแลเรื่องนโยบายข้าวก็ไม่มีความรู้ทางด้านเกษตรเพียงพอ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงสถานการณ์ของข้าวในไทยว่า แม้จะเคยชะงักเพราะโครงการจำนำข้าวไประยะเวลาหนึ่ง แต่ขณะนี้เริ่มมีการปรับตัว หากไม่มีโครงการใดๆเข้ามาแทรกแซงกลไกราคาตลาดระบบตลาดข้าวไทยก็จะปรับตัวไปตามธรรมชาติ เนื่องจากระบบการผลิตข้าวของเราอยู่ตัว
“ส่วนปัญหาใหญ่ของไทยวันนี้มีปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าวดีๆ บางประเภทที่ตลาดนิยม และพันธุ์ข้าวพื้นบ้านบางพันธุ์ที่ไม่เพียงพอ แม้ในอดีตกรมการข้าวจะสามารถปรับปรุงและพัฒนาวิจัยได้ดี แต่มาในระยะหลังกลับดันไม่ขึ้น เพราะสามารถผลิตพันธุ์ข้าวเหล่านี้ได้เพียง 85,000 ตัน ทั้งที่ทั้งประเทศต้องการพันธุ์ข้าว 1 ล้านตัน”
นักวิชาการเกียรติคุณ กล่าวว่า ประเทศไทยยังโชคดีที่ภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำเรื่องพันธุ์ข้าว ขณะนี้มีบางชนิดที่เราไม่มี ชาวนาก็เลยปลูกไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการ ดังนั้นกรมการข้าวจะต้องจับมือกับผู้ส่งออก และรัฐบาลอย่าคิดว่านี่เป็นเรื่องของรัฐที่ต้องทำเพียงคนเดียวให้ดึงเอกชนเข้ามาร่วมด้วย หากพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ เกษตรกรปลูกได้ ราคาข้าวก็จะดีขึ้น เรียกข้าวแบบนี้ว่าข้าวมวลชน รณรงค์ลดต้นทุนการผลิตขอเพียงลดปริมาณปุ๋ยเคมีได้เพียงครึ่งหนึ่งก็สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างมาก
“หากเราไม่คิดที่จะลดต้นทุนการผลิต วันนี้เวียดนามนำเราอยู่ เพราะต้นทุนถูกกว่า และหากไม่ทำอะไรปล่อยให้เมียนมาร์ขยับขึ้นมาเรื่องคุณภาพของข้าว สถานการณ์ข้าวไทยก็จะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะถ้าเมียนมาร์ทำได้แก้ปัญหาเขาได้ แล้วต้นทุนถูกกว่าทั้งของไทยและเวียดนาม หากถึงวันนั้นเราแย่แน่ๆ”
ดร.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำคือต้องหยุดอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร เพราะในอดีตไม่มีการอุดหนุนแต่เกษตรกรก็อยู่ได้ โดยปกติกลุ่มเกษตรกรรู้จักวิธีการปรับตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว อนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าอากาศจะเปลี่ยน เริ่มร้อนมากขึ้น ฝนตกน้อยลง หากตกก็จะตกถี่ ภัยแล้งจะรุนแรงขึ้น กรมการข้าวเองก็ควรจะหาพันธุ์ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะอากาศได้ ที่สำคัญหากรัฐบาลจะยังคงดึงดันอุดหนุนภาคการเกษตรด้วยการแทรกแซงราคาตลอดเวลา นั่นคือปัญหาที่จะทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัว พอเกิดอะไรขึ้นมาก็มีแต่ความวินาศ
“แทนที่รัฐจะแทรกแซงราคา รัฐบาลควรจัดระบบประกันความเสี่ยง เช่น ฝนฟ้าไม่มา น้ำท่วม ภัยแล้งทำอย่างไร สร้างระบบประกันเป็นเครื่องมือ โดยรัฐอาจจะหันไปอุดหนุนเบี้ยประกันให้เกษตรกรสามารถซื้อประกันได้ในราคาถูก แล้วปล่อยให้ตัดสินใจตามความสามารถว่าสินค้าเกษตรใดจะทำกำไรให้เขาได้ พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยี และไม่บิดเบือดราคา เพียงแค่นี้ประเทศไทยก็เดินหน้าได้อย่างไม่มีปัญหา”