ผอ.UddC ชี้การวางผังเมืองช่วง 3-4 ทศวรรษ ไทยล้มเหลวในการพัฒนาชนบท
ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ชี้ผังเมืองเน้นพัฒนาเมือง ละเลยชนบท ทำกรุงเทพฯ โตเดี่ยว คาดอนาคตประชากรพุ่ง 18 ล้านคน ระบุผังเมืองกรุงเทพฯ 56 สร้างกลไกเท่าเทียม ยันก้าวหน้ามากสุดในอาเซียน หากไม่นับมาเลย์-สิงคโปร์
วันที่ 13 กันยายน 2558 ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนา 20 ปี เพื่อ 24 ตร.ม. ชีวิตดี ๆ ที่ใครกำหนด ซึ่งจัดโดย Root Garden ณ RootGarden ซ.ทองหล่อ 3 ถึงการออกแบบผังเมืองกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดเดียวที่มีความเป็นเมืองครอบคลุมทั้งจังหวัด และขยายลามไปยังปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่โดยรอบด้วย โดยขณะนี้มีประชากรจริงประมาณ 8 ล้านคน และประชากรแฝงอีกประมาณ 2 ล้านคน รวมเป็น 10 ล้านคน ในพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประชากรจะเพิ่มเป็น 18 ล้านคน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการออกแบบผังเมืองกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญในการใช้ชีวิตคนเมืองที่ดี แต่ผลลัพธ์และสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะเห็นว่า บางคนใช้ชีวิตอยู่บนรถนานถึง 1 เดือน กับ 3 วัน ต่อปี หรือ 800 ชม.ต่อปี ซึ่งคนกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทางสูงที่สุดในอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของรายจ่ายทั้งหมด โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แตกต่างจากต่างประเทศค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนสูงหมดไปกับที่อยู่อาศัยมากกว่า
ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวถึงการวางผังเมืองช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายการพัฒนา “ประเทศไทย” ล้มเหลวในการพัฒนาชนบท ประกอบกับเน้นการพัฒนาแบบรวมศูนย์ ทำให้คนจากต่างจังหวัดหลั่งไหลเข้ากรุงเทพฯ ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว โดยปกติ หน้าที่เมืองหลวงคือการขยายตัวเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น
"ระยะ 1-2 ปีมานี้ เริ่มมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาเมืองกลับเข้าสู่พื้นที่ใจเมืองและฟื้นฟูเมืองแล้ว"ผศ.ดร.นิรมล กล่าว พร้อมกับเห็นว่า ผังเมืองกรุงเทพฯ ยังมีความหวัง และถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดฉบับหนึ่งในอาเซียน ถ้าไม่นับมาเลเซียและสิงคโปร์
ผศ.ดร.นิรมล กล่าวอีกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ 2556 มีกลไกในการพยายามสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม โดยการให้สัดส่วน FAR BONUS (อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) และการพัฒนาโครงการใด ๆ สามารถสร้างให้เกิดยูนิตห้องชุดที่มี Affordable housing (บ้านเอื้ออาทร ที่ให้คนไม่รวยซื้อได้) นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเป็นแรงจูงใจต่าง ๆ ให้ภาคเอกชนร่วมมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมของเมือง เช่น โครงการใดสามารถอุทิศพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ซับน้ำได้ ก็จะได้รับ FAR BONUS เช่นกัน
สำหรับโครงการกรุงเทพฯ 250 ซึ่งจะครบในปี 2575 จะขับเคลื่อนไปได้อย่างไร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ ต้องทยอยทำให้สิ่งที่เห็นผล ทำให้คนเห็นการเปลี่ยนแปลงและช่วยกันสนับสนุน ซึ่งเราวางเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่สาธารณะ ไม่เฉพาะพื้นที่สีเขียวเท่านั้นแต่รวมถึงพื้นที่สาธารณะริมน้ำเจ้าพระยาด้วย ซึ่งมีความยาวสองฝั่ง 24 กม. แต่ปัจจุบันใช้ได้เพียง 3 กม.เท่านั้น จึงไม่แปลกใจเหตุใดเทศกาลลอยกระทงคนจึงเบียดกันตกน้ำ เพราะมีพื้นที่ใช้สอยน้อย
"ต้องขีดเส้นใต้ว่า การเพิ่มพื้นที่สาธารณะต้องมีคุณภาพสูงและผ่านกระบวนการร่วมหารือของชุมชนและภาคีพัฒนา"
นอกจากนี้ ผศ.ดร.นิรมล กล่าวด้วยว่า ควรมีแผนทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เอื้อต่อการสัญจรโดยเท้ามากขึ้น ในพื้นที่มีศักยภาพ โดยต้องศึกษาอย่างชัดเจนว่า สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ ซึ่งพื้นที่ทองหล่อ เอกมัย มีความเหมาะสม และผู้ประกอบการย่านนี้ก็อยากให้นักท่องเที่ยวไม่ใช้รถยนต์ หากประชาชนสนใจและเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูเมือง เพื่อพื้นที่ของทุกคน เชื่อว่า จะทำให้ผู้บริหารเมืองหันมาสนใจด้วย .