เจ้าพระยา ยศล่มแล้ว ลงฤา
"เราเคยอยู่กับน้ำมาตลอด เวลานี้เรากลัวน้ำ เรากำลังทำถนนเลียบแม่น้ำ ผมคิดว่าเป็นความคิดที่มิชอบ ผมหวังว่า คสช.จะฟังบ้าง และที่ดีใจวันนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมออกมาคัดค้าน โครงการนี้”
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นโครงการอเนกประสงค์เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน (Bike Lane) รวมถึงใช้เป็นพื้นที่สำหรับการชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา การพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย และการจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการ
กทม.และรัฐบาลคสช.ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่บริเวณโครงการให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย ให้ประชาชนทุกคนได้ใช้สอยร่วมกันอย่างคุ้มค่า เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ (The New Landmark) ของประเทศ
แต่เมื่อรูปแบบโครงการที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ เป็นการก่อสร้างทางเดินคอนกรีตเสริมเหล็กเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มต้นตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 แนวสายทางขนานไปตามแนวริมฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มาสิ้นสุดโครงการเฟสแรกที่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ระยะทางฝั่งละประมาณ 7 กิโลเมตร รวมสองฝั่งประมาณ 14 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ คิดเฉลี่ยงบประมาณกิโลเมตรละ 1 พันล้านบาท หรือเมตรละ 1 ล้านบาทนั้น
ความคืบหน้าโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการ คาดกันว่าจะได้บริษัทที่ปรึกษาภายในเดือน ก.ย. 58 โดยบริษัทที่ปรึกษาจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 210 วัน ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จเดือน ม.ค. 59 และจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือน มิ.ย. 59
การเร่งรีบก่อสร้าง และวางโครงสร้างคอนกรีต ซึ่งเป็นก่อสร้างภูมิทัศน์ดาดแข็งรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลของประชาคมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบทางกายภาพว่า จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นบทเรียนราคาแพงในอนาคตได้
“ภราเดช พยัฆวิเชียร” อดีตนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้ที่ออกมาคัดค้านโครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่แรกเริ่ม เขาย้ำชัดว่า ไม่ได้คัดค้านโครงการที่เป็นเจตนาที่ดี แต่คัดค้าน “รูปแบบ” โครงการ
“อยากจะบอกรัฐบาลสิ่งที่ท่านอยากได้ กับสิ่งที่ท่านนำเสนอมานั้น อาจไม่ตอบโจทย์ มีสิ่งที่หายไปคือกระบวนการตรงกลางทั้งหมดไม่มีอยู่เลย"
เขามองว่า หากโครงการนี้ทำดี จะดีอย่างมาก ในเมื่อรัฐบาลตั้งใจอยากเปิดพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ มีทัศนียภาพที่ดี ป้องกันการบุกรุกแม่น้ำ ทั้งหมดถือเป็นความตั้งใจดีแต่ขาดองค์ความรู้ โดยเฉพาะการไม่เข้าใจระบบแม่น้ำ ระบบนิเวศวิทยา
"เราต้องถามว่า ผลที่ออกมาตามที่ออกแบบมาจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ สร้างไปแล้วก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาหรือไม่”
ขณะที่ด้านของความคุ้มค่าของโครงการฯ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ยังชี้ว่า เท่าที่ฟังมา พื้นที่ก่อสร้างต่อกิโลเมตรแพงกว่าทางด่วนที่ให้รถวิ่งได้เสียอีก อีกทั้งไม่มีทางเลือกอื่นให้พิจารณาเลย
ส่วนคำถามที่ว่า ประเทศไหนๆ ในโลกก็ทำกัน ถนนเลียบแม่น้ำ ?
อดีตนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย อธิบายว่า แม่น้ำบ้านเราไม่ได้มาจากต้นน้ำที่เป็นภูเขาหิมะ ซึ่งมีกระแสความแรง น้ำหลากรุนแรงมาก และในต่างประเทศก็ไม่ได้มีการตั้งถิ่นฐานเชื่อมต่อระหว่างน้ำกับบก ไม่ได้มีชีวิตอยู่กับน้ำเหมือนเมืองไทย ที่มีน้ำขึ้น น้ำลง มีกระแสน้ำหลากช่วงน้ำฝน ทำให้คนไทยอยู่อาศัยกันแบบสะเทินน้ำสะเทินบก ไม่ขืนธรรมชาติ หาทางอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นคุณค่าหลายคนมองไม่เห็นว่า คุณค่า แต่กลับมองว่า เป็นภาระ!
“การสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงถึงความคิดที่ตื้นเขิน ภูมิปัญญาต่ำ ทำลายระบบนิเวศทั้งหมด คุณทำประชาพิจารณ์หรือเปล่า”
ส. ศิวรักษ์ หรือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ให้ความเห็นตรงไปตรงมา ในเวทีปาฐกถา "เจ้าพระยา ยศล่มแล้ว ลงฤา" จัดโดย มหาวิทยาลัยศิลปากร และกลุ่มรณรงค์ Friends of the River ณ ห้องท้องพระโรงวังท่าพระ หอศิลป์ ม.ศิลปากร
อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ชี้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยาฝรั่งเคยยกให้เป็น The river of Kings คสช.มาทำตรงนี่ดีไหม ขุดแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตอนนี้ตื้นเขิน แม่น้ำเจ้าพระยาที่เต็มไปด้วยมลพิษ
"ผมว่า ฟื้นได้ เพราะแม่น้ำไรน์ ประเทศเยอรมนี ก็เน่าเหม็นมาก่อน ทำไมฝรั่งทำได้ ผู้ว่ากทม.ไม่ทำ คสช.มาทำตรงนี้ซิ แต่กลับไปทำโครงการสร้างทางเลียบเจ้าพระยา ใช้ภาษาชาวบ้าน คือ โครงการที่บัดซบ เริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ว ทำเขื่อนกั้นริมแม่น้ำหลายๆ แห่งพังพินาศหมด เช่นที่แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี อยู่กับแพมาเป็นร้อยๆ ปี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำเขื่อน พังหมดเลย แม่น้ำก็ตื้นเขิน ทำลายนิเวศวิทยา ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยายิ่งใหญ่กว่ามาก สิ่งที่ควรทำ คือ ขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา คูคลองทั้งหมด ให้เป็นเวนิส เหมือนที่ฝรั่งเคยชมเรา"
พร้อมกันนี้ อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ยังเห็นว่า สมัยก่อนเราเคยอยู่กับน้ำมาตลอด เวลานี้เรากลัวน้ำ เรากำลังทำถนนเลียบแม่น้ำ "ผมคิดว่าเป็นความคิดที่มิชอบ ผมหวังว่า คสช.จะฟังบ้าง และที่ดีใจวันนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมออกมาคัดค้านโครงการนี้”
|
ส่วนผู้ที่ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทันทีที่ได้ยินข่าวโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นก็คือ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม นักประท้วงเพื่อการอนุรักษ์มาตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่มๆ
ถึงวันนี้เขายืนยันว่า “ประท้วงมามากแล้วชีวิตนี้ ต่อไปไม่ประท้วง ไม่ต่อต้านแล้วถนนเลียบแม่น้ำแล้ว แต่รูปแบบควร เป็นแบบทางเดินริมน้ำ ไม่ปักเสาคอนกรีต คล้ายแพพ่วงยาวต่อๆ กันไป ผมออกแบบเป็นโมเดลช่วงท่าช้าง และท่าพระจันทร์ ที่สามารถทำเป็นตลาดน้ำได้ นอกจากได้ทัศนียภาพสวยๆ แล้วยังเป็นการรื้อฟื้นชีวิตสมัยโบราณ “กรุงเทพเมืองน้ำ” โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาหัวใจกรุงแห่งรัตนโกสินทร์"
ทางเดินลอยน้ำอย่างที่ดร.สุเมธ นำเสนอก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วที่ประเทศออสเตเรีย
สำหรับทางเดินลอยน้ำจะผลิตจากเฟอร์โรซีเมนต์ (Ferro Cement) สถาปนิกร่วมสมัย ชี้ว่า หากใช้วัสดุแบบนี้จะไม่ไปต้านกระแสน้ำมากเกินไป ไม่เหมือนกับเสาคอนกรีตที่ปักลงไปในแม่น้ำ
และในเมื่อกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่สีเขียว ขาดสวนสาธารณะ เขายังเสนออีกว่า สามารถทำสวนสาธารณะลอยน้ำ เรียงรายไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้ ดร.สุเมธ เคยนำเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม.ไปเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ถึงวันนี้สวนสาธารณะลอยน้ำก็ยังไม่ปรากฎเป็นจริงแต่อย่างใด
“สวนสาธารณะลอยน้ำ หากผลักดันได้สำเร็จเราจะมีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับประชาชนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้อีกเยอะ ผมถือว่าน่านน้ำ เป็นของประชาชน ควรเป็นของเราไม่ใช่เป็นของคอนโด หรือโรงแรมหรูริมแม่น้ำ”
ขณะที่รองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา เปิดอกยอมรับ นิยมรัฐบาลชุดนี้มาก โดยให้เหตุผลแม้จะเป็นเผด็จการก็ทำเพื่อบ้านเมือง ขจัดความรุนแรงและคอร์รัปชั่น
แต่รัฐบาลทหารยังมีขอบเขตและความไม่เข้าใจวิถีชุมชน
“โครงการสร้างทางเลียบเจ้าพระยา ผมไม่โทษรัฐบาล แต่ผมโทษคนชง ใครชงเข้ามา เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น culture landscape ของ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพ พระประแดง”
ในฐานะนักโบราณคดี เขามองว่า คำว่า culture landscape ดูจากภูมิประเทศ ภูมิวัฒนธรรมคนในท้องถิ่น ชุมชนริมน้ำ และคนกรุงเทพฯ มองจากสิ่งที่ปรากฏ มองจาก worm's-eye view ตัวหนอน กิ้งกือ ไส้เดือนขึ้นไป
แต่ landscape ที่เป็นถนนขนาบน้ำนั้น เป็น landscape ที่มาจาก bird-eye view จะทำเมืองสวยงามแบบเกาหลี แบบฮ่องกง มองเห็นแต่โครงสร้าง แต่ไม่เห็นชีวิตคน
ฉะนั้น การพัฒนาใดๆ ก็ตามควรละเอียดอ่อน รอบคอบ คำนึงถึงมิติด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นมา เชื่อมโยงกับคนทุกกลุ่ม...