'ดร.นิพนธ์' วิพากษ์นโยบายกระตุ้น ศก.เกษตรกรได้เงินแล้วเอาไปทำอะไร?
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เชื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมู่บ้านไม่ได้ผล เหตุเงินถึงมือคนจนแค่ 60% ระบุเม็ดเงินที่ถึงมือชาวบ้านเอาไปใช้หนี้แทนใช้จ่าย แนะเลิกใช้สูตร ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ประกันราคา แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ย้ำหน่วยงานราชการต้องสร้างฐานข้อมูลเพื่อใช้แก้ปัญหา
ภายหลังพลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปรับทีมเศรษฐกิจชุดใหม่โดยให้ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหอกในการเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หนึ่งในนโยบายของการกระตุ้นเศรษฐกิจคือการปล่อยกู้เงินกองทุนหมู่บ้านเป็นจำนวนเงิน 6,000 ล้านบาท
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ศาสตราจารย์เกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงกรณีดังกล่าว ว่า สิ่งที่น่ากังวลใจวันนี้คือเมื่อคิดอะไรไม่ออกไม่ว่าจะรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ คิดอะไรไม่ออก ก็ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ประกันราคา ทำอยู่แค่นี้ ใช้สูตรเดียวในการแก้ปัญหา ทั้งๆที่บางปัญหาต้องใช้เครื่องมืออื่นๆเข้ามาแก้ไข ขณะนี้เรากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้กองทุนหมู่บ้าน บอกได้เลยว่าไม่ได้ผล หากถามว่าไอเดียนี้ดีไหมก็ต้องบอกว่าเขาคิดถูก มาถูกทางว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจต้องให้เงินถึงมือชาวบ้าน ผ่านกองทุนหมู่บ้านสำหรับชาวบ้านที่เดือดร้อน
แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงสำหรับภาคเกษตรกรคือเขามีหนี้ต่อรายได้มากกว่าคนนอกภาคการเกษตร สูงถึง 86% เป็นหนี้ต่อรายได้ทั้งปี ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าเกษตรกรยากจนมีหนี้สูงกว่ารายได้เกษตรที่ไม่จน 83-84% ของ GDP ทั่วประเทศ แล้วสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำคือการค้ำประกันเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) โดยอุดหนุนดอกเบี้ย แต่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันความเสียหายที่หนี้เสียให้ธนาคารเหล่านี้ ว่าหากกองทุนหมู่บ้านปล่อยกู้ไปแล้วไม่ได้คืนจะทำอย่างไร แม้รายละเอียดจะกำหนดว่าการกู้นั้นปลอดดอกเบี้ย 2 ปี และให้ชำระคืนภายใน 7 ปี ก็อาจจะมีหนี้เสียได้ ดังนั้นธนาคารที่ปล่อยกู้ไม่ว่าจะเป็น ธกส. หรือออมสินก็จะมีความระมัดระวังในการปล่อยกู้
นักวิชาการเกียรติคุณ กล่าวว่า เมื่อธนาคารระมัดระวังการปล่อยกู้ ด้วยการไม่ปล่อยกู้ให้กับกองทุนที่ไม่ดี ซึ่งมีกองทุนที่สอบตกกว่า 30% นั่นก็จะส่งผลให้หลายพื้นที่ไม่ได้เงิน ส่วนที่สอบผ่านก็ต้องคัดเลือก เม็ดเงินที่หวังจะลงไปสู่รากหญ้าก็จะลงไปไม่ถึงมือเร็วอย่างที่คิดไว้ ดังนั้นการใช้เครื่องมือเดียวแก้ปัญหาด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจึงเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยและแย่มาก
“ภาคราชการมีจุดอ่อน ไม่พัฒนาข้อมูล ไม่มีข้อมูลของประชาชนไม่สามารถบอกได้ว่าใครที่ยากจนจริง ไม่มีการพัฒนาเครื่องมืออื่นๆมาใช้ ฉะนั้นพอเจอปัญหาด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะรัฐบาลไหนจึงมักใช้สูตรเดิมในการแก้ปัญหา จนกลายเป็นปัญหาสะสมมาเรื่อยๆ”
ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า เกษตรกรวันนี้มีหนี้สูงพอได้เงินถามว่าเขาเอาไปทำอะไร เขาก็ต้องเอาไปใช้หนี้ ดังนั้นย้อนกลับมาถามว่า พอได้เงินแล้วเขาเอาไปใช้หนี้แล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ เพราะเขาไม่ได้เอาไปใช้จ่าย ธนาคารกลัวหนี้เสียเพราะรัฐบาลไม่ค้ำประกันความเสี่ยงเป็นแบบนี้เขาจะเลือกปล่อยกู้ คือใครพร้อมก็ปล่อย ไม่พร้อมก็ไม่ปล่อย ดังนั้นจะปล่อยกู้ได้แค่ 60% จากที่วางแผนเอาไว้ 40% ไปไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดเกิดขึ้น
ส่วนนโยบายถัดมาคือการให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงเงินกู้นั้น นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ก็จะกลายเป็นจุดอ่อนเช่นเดียวกัน เพราะจะมีกลุ่มที่มีเส้นสายเข้าไปกู้แล้วไม่คืนเงิน ทุกครั้งหนีไม่พ้นปัญหานี้ และเป็นสาเหตุให้ธนาคารล้มเหลวเพราะนโยบายรัฐบาล ฉะนั้นจึงหวังว่ารัฐบาลพิเศษจะเพิ่มเครื่องมือ สร้างเครื่องมือ และปฏิรูปเรื่องเศรษฐกิจ แต่กลับไม่มีแนวคิด หรือวิธีการที่จะสร้างเครื่อง นี่จึงเป็นสิ่งที่น่ากลุ้มใจ
“เคยแนะนำท่านนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ท่านก็บอกสั่งให้ทำข้อมูลคนจน สั่งมา 4-5 เดือน แต่ก็ยังไม่มีข้อมูล เพราะราชการไม่ทราบข้อมูล ทั้งๆที่ความจริงแล้วทำได้ มีวิธีการทำ แต่เพราะหน่วยงานราชการไทยไม่พัฒนา ไม่รู้จักใช้ตัวแปรในการวัดหลายๆตัวแล้วค่อยๆปรับปรุงฐานข้อมูลเรื่อยๆ ทั้งๆที่ข้อมูลเหล่านี้คือเครื่องมือที่จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงๆ”