‘จากเล สู่จาน’ ก่อนตักทาน ลองตั้งคำถาม ‘ปลา’ มาจากไหน?
กลิ่นหอมของ ‘แกงกะทิทะเล’ ที่มีวัตถุดิบมาจากธรรมชาติ ไร้สารเคมีตกค้าง เพราะทุกอย่างเป็นออร์แกนิก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หอมฟุ้งไปทั่วพื้นที่กิจกรรม ‘จากเล สู่จาน’ ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ชวนให้ผู้ชมต้องกลืนน้ำลาย ซึ่งอาหารไทยแท้จานนี้ เป็นฝีมือของเชฟ Dylan Jones จากร้านโบ.ลาน ย่านสุขุมวิท
การสาธิตทำอาหารเมนูนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคได้เข้าใจถึงปัญหาและปกป้องทะเลไทย ด้วยการบริโภคอาหารทะเลที่มาจากการทำประมงอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน เพราะปัจจุบันมีอาหารทะเลจำนวนมากมาจากเครื่องมือประมงทำลายล้าง ไม่ว่าจะเป็นอวนรุน อวนลาก ส่งผลให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำในอ่าวไทย ปี 2555 ลดลงเหลือเพียง 18.2 กก./ชม. และในจำนวนนี้เป็นปลาโตไม่เต็มวัยรวมอยู่ 34%
แตกต่างจากในอดีตที่มีปริมาณการจับสัตว์น้ำสูงถึง 298 กก./ชม. เมื่อปี 2504
นั่นแสดงว่า หากผู้บริโภคยังไม่รู้จักตั้งคำถามถึงที่มาของอาหารบนจานแล้ว อนาคตคงยากที่จะมีวัตถุดิบมีคุณภาพหลงเหลืออยู่
กิจกรรม ‘จากเล สู่จาน’ จึงถือได้ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าประมงพื้นบ้านมาถึงมือผู้บริโภคโดยตรง
“การเป็นผู้บริโภคที่มีคุณภาพต้องทิ้งนิสัยการบริโภคเอาแต่ใจ” ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ระบุ
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้ออาหารทะเลโดยไม่ทราบแหล่งที่มา ปลาถูกจับมาด้วยวิธีใด ชื่อปลาอะไร ปลอดสารเคมีหรือไม่ เธอเห็นว่า จะโทษผู้บริโภคไม่เป็นพลังดูแลทะเลไทยฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีคนช่วยกันสื่อสาร จึงควรใช้โอกาสนี้ที่ต่างชาติเรียกร้องให้ไทยแก้ปัญหาด้านประมง ช่วยกันปลุกกระแสสังคมไทยตื่นตัว
การดูแลทะเลที่ผ่านมา พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านดูแลมาอย่างยาวนาน ต่อสู้ และรณรงค์ แต่ที่สุดแล้วกลับไม่มีตัวตนในสังคม เพราะไม่มีใครรู้จัก
ช่วง2 ปีที่ผ่านมา โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ จึงนำสินค้าที่มีคุณภาพจากท้องถิ่นนำเสนอเรื่องราวออกไป ด้วยวิธีการบอกเล่า จัดแสดง และจำหน่าย ชี้ให้เห็นวัตถุดิบจากท้องทะเลของชาวประมงพื้นบ้านนั้นดีต่อผู้บริโภคอย่างไร
“การได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ทะเลต้องดี ชาวประมงพื้นบ้านไม่ใช้เครื่องมือทำลายล้าง ทุกครั้งที่ออกเรือหาปลาจะใช้อวนตาใหญ่ขนาดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจะจับสัตว์น้ำชนิดใด แตกต่างจากอวนลากจะลากสัตว์น้ำมากองบนเรือแล้วค่อยเลือกใส่ตะกร้า”
ดร.สุภาภรณ์ เล่าถึงการไปจับมือกับชาวประมงพื้นบ้าน 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี พัทลุง สงขลา พังงา กระบี่ และสตูล และจะนำวัตถุดิบเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ ที่เกตเวย์ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถได้สั่งจองผ่านเฟซบุ๊ก หรืออีเมล และร้านอาหาร โรงแรม 5 ดาว ก็สั่งจองด้วย ซึ่งวิธีการดังกล่าวตอบโจทย์เศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี
ก่อนทิ้งท้าย เธออยากเห็นผู้บริโภคชาวไทยตั้งคำถามว่า ปลามาจากไหน ? เหมือนชาวต่างชาติบ้าง
‘อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล’ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ว่า การจะก้าวเดินไปสู่จุดที่ผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทะเลได้ ทุกคนต้องมี ‘พลัง’ ในตนเอง อยากให้ทราบว่า ปัญหาปัจจุบันคืออะไร เพื่อพลังในตนเองจะได้เปลี่ยนแปลง ซึ่งเราพยายามรณรงค์สื่อสารกับผู้บริโภคโดยตลอด ประเด็นหลัก ๆ คือ การกล่าวถึงปัญหา และชี้ช่องทางออก อีกทั้ง การทำงานร่วมกับชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งถือเป็นพลังหนึ่งที่สำคัญ เพราะเป็นกลุ่มรักษ์ทะเลตัวจริง
ผู้ประสานงานฯ กรีนพีซ อยากให้ทุกคนทราบถึงผลกระทบจากกการทำประมงแบบทำลายล้าง ไม่ว่าจะเป็น อวนรุน อวนลาก การขนถ่ายกลางทะเล หรือการบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่ปัจจุบันหลายคนยังไม่ตระหนัก เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว
นั่นคือแนวคิดเบื้องต้นของผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม เพียงแค่กินอย่างรับผิดชอบก็ปกป้องทะเลได้! ของเพียงรวมตัวไม่บริโภคอาหารทะเลที่มาจากเครื่องมือทำลายล้าง ผู้จับก็จะยุติการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีดังกล่าว เพราะการประมงใช้อวนลาก อวนรุน เครื่องมือจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อ หรือเรือคราดหอยลาย ล้วนถูกเปรียบเทียบจากพวกเขาและเธอว่า เป็นวายร้ายตัวฉกาจทำลายทะเล
ขณะที่เจ้าของร้านครัวใส่ใจอย่าง ‘ชรินา ง่วนสำอางค์’ เปิดกิจการที่คัดเลือกวัตถุดิบใส่ใจสิ่งแวดล้อมสุขภาพ เนื่องจากทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและคนในครอบครัวมีปัญหาสุขภาพ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นเปิดร้านแห่งนี้ ก็เห็นด้วยกับแนวคิดต้องบริโภคอาหารไม่มาจากเครื่องมือประมงทำลายล้าง
การบริโภคแบบใส่ใจ นอกจากใส่ใจตัวเองแล้ว เธอเห็นว่า ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย พร้อมกับตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราบริโภคมีแหล่งที่มาอย่างไร และสิ่งที่เหลือจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่
ร้านครัวใส่ใจเป็นช่องทางหนึ่งให้ผู้บริโภคในเมืองได้เข้าใจที่มาของอาหาร และวิธีการทำอาหารที่ใส่ใจ คัดสรรจากฟาร์มธรรมชาติ ทำให้ผู้บริโภคในแต่ละวัน อาหารจะไม่เหมือนกัน
เราอาจไม่ได้ทานอาหารได้ตามใจ แต่ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบในแต่ละฤดูกาลว่า จับปลาหรือปลูกผักอะไรได้บ้าง...
อ่านประกอบ:เอ็นจีโอแนะอธิบดีประมงใช้วิกฤติเป็นโอกาสสางปัญหาทะเลไทย
ภาพนิทรรศการจัดเเสดงในงาน 'จากเล สู่จาน'
การประมงเเบบยั่งยืนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ชาวประมงใช้เบ็ดตวัดเป็นเครื่องมือในการจับทูน่าท้องเเถบ
การประมงเรืออวนล้อมในฟิลิปปินส์
เรือประมงอวนลากสัญชาติเยอรมัน 'Helen mary' ใกล้ชายฝั่งมอริตาเนีย
การทำประมงเเบบทำลายล้างในอ่าวไทย
เเรงงานทาสบนเรือประมง
กองเรือจับทูน่าของตุรกี
เต่าสังกะสีติดอวน
หูฉลามในตลาดปลา ไต้หวัน