หน่วยงานรัฐ “ปล่อยน้ำเขื่อนเหตุน้ำท่วม” ฟ้องศาลปกครองได้
เขื่อนเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สำหรับกั้นทางน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำ ป้องกันอุทกภัย ผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนบนของเขื่อนประกอบด้วย ทางน้ำล้น สำหรับให้น้ำที่สูงกว่าระดับที่ต้องการไหลผ่านมาที่ฝั่งปลายน้ำ ชนิดของเขื่อนจำแนกตามชนิดวัสดุก่อสร้าง เช่น เขื่อนหิน เขื่อนดิน เขื่อนคอนกรีต เขื่อนคอนกรีตบดอัด เขื่อนไม้
ประโยชน์ของเขื่อนที่สำคัญคือ เพื่อกักเก็บน้ำ โดยเก็บน้ำจากช่วงฤดูน้ำหลาก และปล่อยน้ำใช้ในการเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค ในช่วงขาดแคลนน้ำ เขื่อนยังคงใช้สำหรับป้องกันน้ำท่วมฉับพลันในฤดูที่น้ำไหลหลากอีกทางหนึ่ง โดยทำหน้าที่ชะลอความเร็วของน้ำ ให้น้ำไหลผ่านได้เฉพาะตามปริมาณที่เหมาะสม ในปัจจุบันเขื่อนทำหน้าที่หลักคือการผลิตกระแสไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้าส่วนหนึ่งของประเทศไทยมาจากการปั่นไฟจากเขื่อน
ทางน้ำล้น หรือ สปิลเวย์ (spillway) เป็นโครงสร้างอาคารชลศาสตร์ที่สำคัญของเขื่อน มีค่าก่อสร้างสูงที่สุดในงานเขื่อน เนื่องจากก่อสร้างด้วยวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางน้ำล้นบางประเภทจะประกอบด้วยประตูน้ำบานเลื่อนที่สามารถควบคุมระดับน้ำได้ ทางน้ำล้นใช้ประโยชน์ควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนให้อยู่ในระดับปลอดภัย ด้วยการระบายน้ำส่วนเกินออกมายังท้ายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำล้นตัวเขื่อน ซึ่งจะทำให้เขื่อนเสียหาย
ประเทศไทยมีเขื่อนประมาณ 35 แห่ง ที่สำคัญและรู้จักกันได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนปากมูล และเขื่อนอื่นๆที่กระจายไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ
อุทกภัยที่เกิดช่วงเดือนตุลาคม 2554 ส่วนหนึ่งมาจากน้ำที่ปล่อยลงจากเขื่อนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมาก
เป็นเหตุให้ทรัพย์สินและชีวิตคนเสียหายล้มตายชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้สังคมฉงนว่าเหตุใดผู้มีอำนาจดูแลเขื่อนจึงปล่อยน้ำมหึมาเช่นนั้น จนมีเจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการมองเทศมองไทยว่า เป็นการเล่นการเมืองแบบสกปรกเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเดิมพันพร้อมกับสาปแช่งในการกระทำของผู้มีอำนาจ โดยผู้ให้สัมภาษณ์ให้เหตุผลว่า
การออกแบบเขื่อนนั้นปกติผู้ออกแบบจะเพิ่มความมั่นคงของเขื่อนสูงกว่ามาตรฐาน 2-3 เท่า และมีการตรวจสอบทุกปี ซึ่งผู้มีอำนาจดูแลบริหารเขื่อนไม่เคยรายงานว่า เขื่อนมีรอยร้าวหรือแตก การที่ปีนี้ฝนตกชุกก็ควรให้น้ำไหลออกทางน้ำล้นหรือสปิลเวย์ (spillway) หาใช่ปล่อยออกมาท่วมพื้นที่เกือบทั่วประเทศ
ถ้าผู้มีอำนาจดูแลจงใจกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายถือว่า ผู้มีอำนาจดูแลบริหารเขื่อนจงใจทำละเมิดอันเป็นความผิดทั้งอาญาและแพ่ง แต่ถ้าผู้บริหารเขื่อนเห็นว่าในเขื่อนมีน้ำอยู่มากเกรงจะเป็นอันตรายต่อเขื่อนจึงรีบปล่อยน้ำเพื่อมิให้เขื่อนเสียหาย โดยไม่คำนึงถึงผลจะเกิด ถือว่าผู้บริหารเขื่อนประมาทเลินเล่อ
การกระทำจึงเป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ปัญหาสุดท้ายมีว่า จะฟ้องที่ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่ง ทางปกครอง ฯลฯ
การที่ผู้มีอำนาจบริหารเขื่อนจงใจ หรือประมาทเลินเล่อปล่อยน้ำออกจากเขื่อนโดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายอันจะเกิดแก่ประชาชนหรือประเทศชาติ จึงเป็นการกระทำละเมิด
หน่วยงานต้นสังกัดไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือกรมกองของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับระบบชลประทาน ล้วนมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงต้องฟ้องคดียังศาลปกครอง
ที่มาภาพ : http://www.rd1677.com/branch.php?id=72947