คดีบึ้มราชประสงค์ทำไมไม่ขึ้นศาลทหาร?
มีประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ว่า คดีลอบวางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร เมื่อวันที่ 17 และ 18 สิงหาคม ซึ่งมีการจับกุมผู้ต้องหาได้ 2 คนแล้ว คือ นายอาเดม คาราดัก กับ นายเมอไรลี่ ยูซูฟู เหตุใดตำรวจจึงนำตัวผู้ต้องหาขึ้นศาลพลเรือน ไม่ขึ้นศาลทหาร ทั้งๆ ที่เป็นเหตุการณ์ที่น่าจะเข้าข่ายลักษณะความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ
ประเด็นนี้มีคำอธิบายจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายรัฐบาลว่า คดีที่สามารถนำขึ้นสู่ศาลทหารได้ ต้องเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 แต่เขาขอตอบแค่นี้ว่าถ้าเป็นความผิดนี้ก็ถือว่าเข้าข่าย แต่ไม่ทราบว่าตำรวจตั้งข้อหาอะไรกับตัวผู้ต้องหา
นายวิษณุ อธิบายต่อว่า ความผิดที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลทหาร ไม่เกี่ยวกับผู้กระทำว่ามีสัญชาติอะไร แต่ตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กำหนดเอาไว้ว่า ความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหารมี 4 ประเภท ซึ่งตามหลักนิตินัย ไม่ได้หมายความว่าคดีที่ขึ้นศาลทหารจะเร็วกว่าคดีที่ขึ้นศาลพลเรือน เพราะกระบวนพิจารณาเหมือนกัน แต่สาเหตุที่ศาลทหารเร็วกว่าเป็นเพราะพฤตินัย เนื่องจากคดีในศาลทหารมีน้อยกว่าศาลพลเรือน การสืบพยานต่างๆ จึงรวดเร็วกว่า
ขณะที่ พลตำรวจโทประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนกำลังพิจารณาว่าคดีระเบิดราชประสงค์ต้องขึ้นศาลทหารหรือไม่ คาดว่าอีกไม่นานจะมีความชัดเจน
สำหรับความผิด 4 ประเภทที่ต้องขึ้นศาลทหารตามที่นายวิษณุระบุนั้น ประกอบด้วย
1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นสถาบัน
2.ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิดฯ
3.ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113-118
4.ความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช.
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า การกำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิดฯ ต้องขึ้นศาลทหารนั้น อยู่ในประกาศ คสช.ฉบับที่ 50/2557 ที่ระบุให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด "ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม" ซึ่งถ้อยคำเดียวกันนี้ถูกระบุในคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย
คำว่า "อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม" มีความหมายเป็น "ยุทธภัณฑ์" ซึ่งบุคคลทั่วไปต้องห้ามครอบครองตาม พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530
มาตรา 4 ของพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ฯ ระบุว่า "ยุทธภัณฑ์" หมายความว่า อาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ สารเคมี สารชีวะ สารรังสี หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่อาจนำไปใช้ในการรบหรือการสงครามได้
ขณะที่มาตรา 15 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์...
เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อหาที่พนักงานสอบสวนตั้งกับ นายอาเดม คาราดัก และ นายเมอไรลี่ ยูซูฟู สองผู้ต้องหาในคดีเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ แม้จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิดฯ แต่ก็มีข้อหา "ครอบครองยุทธภัณฑ์" พ่วงอยู่ด้วย
คำถามจึงเกิดขึ้นว่าเหตุใดผู้ต้องหา 2 คนนี้จึงไม่ถูกฟ้องคดีต่อศาลทหาร?
และ "คำตอบ" ที่มีความเป็นไปได้ไม่น้อยก็คือ เจ้าหน้าที่อาจยังไม่ยืนยันฟันธงชัดเจนว่า อุปกรณ์และสารเคมีที่เชื่อว่าเป็นสารตั้งต้นในการทำระเบิดซึ่งถูกยึดได้จากห้องพักย่านหนองจอกและมีนบุรีนั้น บางอย่างบางชนิดถูกขึ้นทะเบียนเป็น "ยุทธภัณฑ์" แน่หรือไม่ หรือถ้าเป็น "ยุทธภัณฑ์" อุปกรณ์หรือสารเคมีเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาอย่างไร และถูกใช้ประกอบเป็นวัตถุระเบิดที่ราชประสงค์และท่าเรือสาทรอย่างไร
เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสรุปถึงรูปแบบระเบิดที่คนร้ายใช้ก่อเหตุว่าเป็นระเบิดชนิดใด ใช้ดินระเบิดแบบไหน และใช้ "ระบบจุดระเบิด" แบบใด เหตุนี้เจ้าหน้าที่จึงอาจเลือกแจ้งข้อหาคลุมๆ ไว้ก่อน เพราะสามารถแจ้งข้อหาใหม่หรือเปลี่ยนแปลงข้อหาในภายหลังได้ หากผลการสืบสวนสอบสวนเปลี่ยนแปลงไป
จากข้อมูลและข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าคดีนี้ต้องขึ้นศาลทหาร
แต่ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ ถ้าไม่รีบสร้างความกระจ่าง โอกาสในการเอาผิดหรือสาวถึงขบวนการลอบวางระเบิดกลางกรุงเทพฯให้ต้องรับโทษตามกฎหมายจากการกระทำอุกอาจที่พวกเขาก่อ...จะยิ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อาคารที่ตั้งศาลทหารข้างกระทรวงกลาโหม