นายกฯไม่รับ 3 ข้อ "มารา ปาตานี" ชี้ปกครองตนเองไปไม่รอด
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์และกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 ครั้งในรอบ 10 วัน
สารที่ส่งจากนายกรัฐมนตรีนับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะการยังไม่ยอมรับข้อเสนอ 3 ข้อของ "มารา ปาตานี" องค์กรตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทย และการไม่เห็นด้วยกับแนวทาง "ปกครองตนเอง" อย่างแจ่มชัดยิ่ง
ไม่รับ 3 ข้อ "มารา ปาตานี"
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน 2558 พลเอกประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์และตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3 /2558 ร่วมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
"วันนี้เป็นการรายงานความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุขในครั้งที่ผ่านมาของคณะพูดคุยฝ่ายไทยและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีการทบทวนหลักการและเหตุผลในการพูดคุย ซึ่งการพูดคุยนั้นถือเป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้ว ทั้งยังเป็น 1 ใน 9 ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาภาคใต้ ดังนั้นเมื่อการพูดคุยถือเป็นวาระแห่งชาติ จึงไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นวาระแห่งชาติตามที่มีการเรียกร้อง แต่ต้องมีการทำความเข้าใจกับตัวแทนฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบด้วย"
O ข้อเรียกร้องของกลุ่มมารา ปาตานี ที่ต้องการให้เรารับรองชื่อกลุ่ม?
จะต้องมีการพิสูจน์ความไว้วางใจกันให้ได้ก่อน เวลานี้ยังไม่จำเป็นที่ไทยจะต้องยกชื่อใครขึ้นมา เพราะต้องมองเจตนาของแต่ละฝ่าย รัฐบาลไทยมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างมาก ซึ่งหากอีกฝ่ายมีเจตนาแบบเดียวกันก็เป็นเรื่องดี
สิ่งที่ยังเป็นปัญหาพูดคุยกันไม่ได้ ก็ยังไม่ควรที่จะสานต่อ แม้กระทั่งการให้ข่าว ผมอยากให้มีการพูดคุยก่อน จากนั้นเมื่อได้ข้อตกลงจึงค่อยชี้แจงพร้อมกัน แต่เราไม่สามารถสั่งอย่างนั้นได้ แต่วันนี้ได้สั่งการว่าในเรื่องของหลักการและเหตุผลจะต้องพูดคุยกันต่อไป ไม่ว่าผลตอบรับจะสำเร็จช้าหรือเร็ว แต่คือการแก้ปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งต้องทำ เพราะเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก
การพูดคุยใช่ว่าจะสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว เนื่องจากว่ามีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่มีศักยภาพมากและมีศักยภาพน้อย ซึ่งบางเรื่องยังไม่เป็นที่ยอมรับกันภายในกลุ่มของตนเอง ดังนั้นพวกเขาจึงต้องไปสร้างการยอมรับภายในกลุ่มให้ได้เสียก่อน ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ร่วมพูดคุยก็ต้องค่อยๆ พูดคุยกันไป เพราะถ้าทั้งหมดเข้ามาพูดคุย จะไม่มีกลุ่มใดเพิ่มศักยภาพของตนเองขึ้นมา
วันนี้หลายกลุ่มได้พยายามยกระดับของตนเองให้มีความเท่าเทียมกัน ผมอยากเรียกเรื่องดังกล่าวว่าเป็นการต่อสู้ทางความคิด ซึ่งมีกำลังในการเสริมให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
3 ข้อเรียกร้องของเครือข่ายมารา ปาตานี ผมได้ให้คำตอบกลับไปโดยต้องทำความเข้าใจกันใหม่ แต่หากยังไม่เข้าใจกันก็ไม่เป็นไร ต้องพูดเรื่องอื่นๆ ที่สามารถทำได้ไปก่อน โดยระยะแรกเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างเอกภาพของแต่ละฝ่ายยืนยันรัฐบาลเป็นเอกภาพอยู่แล้ว เพราะผมเป็นนายกฯ ดูแลทั้ง กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) จึงถามว่าอีกฝ่ายเป็นเอกภาพแล้วหรือยัง หากยังไม่เป็นก็ต้องไปสร้าง แล้วอย่ามาใช้ความรุนแรงกดดันเรา
ส่วนระยะที่สอง เมื่อเกิดความเชื่อใจกันแล้วก็ต้องหาโจทย์ของแต่ละกลุ่มให้เจอ เช่น การลดความรุนแรง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมของชาวมุสลิมที่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
O 3 ประเด็นที่กลุ่มมาราปาตานีเสนอมานั้น รัฐบาลไม่รับใช่หรือไม่?
ยัง และอย่ามากดดันผมให้รับ
ท่านรับกับเขาหรือไม่ (ย้อนถามผู้สื่อข่าว) ถ้ารับแล้วเกิดเหตุการณ์ขึ้น ท่านรับผิดชอบได้ไหม เข้าใจผมตรงนี้บ้างสิ นี่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จะพูดอะไร ตัดสินใจอะไร เสนอข่าวอะไร ระวังด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ล่อแหลมละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการสร้างความเข้าใจ ถ้าไม่ได้อย่างนี้จะไปอย่างไร เขาเรียกว่าต่อรอง
O จะสนับสนุนแนวทางการพิสูจน์ตนเองด้วยการจัดพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่?
เรื่องนี้ผมเป็นคนกำหนดไปเอง ซึ่งได้สั่งการและตีกรอบ เมื่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนวทางต่างๆ เข้ามา ผมเอามาดูแล้วสั่งการ ผมเป็นนายกฯต้องรู้ทุกเรื่อง หากไม่อนุมัติแล้วจะดำเนินการได้อย่างไร
O ประเมินว่าการเจรจาที่ผ่านมาของผู้ก่อเหตุเป็นความต้องการลดความรุนแรงจริงๆ หรือเพื่อการต่อรอง?
อย่าเพิ่งแสดงความเห็นว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะอย่างน้อยเขาได้แสดงเจตนารมณ์เข้ามาพูดคุย ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาระดับหนึ่ง ต่อไปอยู่ที่ขั้นตอนของการสร้างความเข้าใจ เอาปัญหามาเจอกัน ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ต้องไม่ผลีผลาม จะตกปากรับคำกันเลยคงไม่ได้ อีกฝ่ายก็รับคำเราเลยไม่ได้ เราเองก็รับปากเขาเลยยิ่งไม่ได้ แต่อะไรที่รับได้เราจะรับ เช่น เรื่องที่จะเกิดความสงบปลอดภัย แต่อย่ามากดดันกันเอง ผมไม่ได้กดดันอีกฝ่าย ผมทำเพื่อประชาชน ถามว่าฝั่งโน้นทำเพื่อประชาชนหรือไม่
O จะสานต่อการพูดคุยต่อไปใช่หรือไม่?
มีสิ ถึงชาติหน้าโน้นถ้ายังไม่จบ ก็จะคุยกันถึงชาติหน้า
ถ้าผมทำงานกับคนของผมก็คงจบกันแค่นี้ แต่นี่เขาไม่ใช่คนของผม เขาเป็นฝ่ายตรงข้าม มีการใช้อาวุธและความรุนแรง ผมจะไปกำหนดอะไรเขาได้ เว้นแต่เขาจะมาด้วยใจ แต่ผมก็มีกรอบมาตรการที่เตรียมไว้ให้ เช่น กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เตรียมไว้หมดแล้ว มีเครื่องมือและหลักการไว้แล้ว ก็อยู่ที่กระบวนการและการแสดงความจริงใจต่อกัน หากจริงใจก็จบ ต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ แก้ไขปัญหาเก่า แต่วันนี้ที่ไม่จบเพราะสร้างปัญหาใหม่ทุกวันๆ ก็ไม่จบสักเรื่อง กี่ชาติก็ไม่จบ ทุกเรื่องเลย
"ปกครองตนเอง" ไม่ทันการณ์
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวให้โอวาทแก่เยาวชน ผู้บริหารศาลยุติธรรม ผู้บริหารสำนักงานฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากโครงการเยาวชนไทยหัวใจเดียวกัน รุ่นที่ 3 จำนวน 117 คน จากจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยนายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาคิดว่าเราทำอะไรให้พี่น้องมุสลิมโกรธเคือง ภาคใต้มีประชากร 3 ล้านคน มีชาวพุทธเพียง 10% อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมานาน ต่อมาก็เกิดเหตุ เกิดการกระทบกระทั่งกัน วันนี้มีคณะกรรมการพูดคุยสันติสุข ไม่ใช้คำว่าเจรจาเพราะเราไม่ได้รบกัน วันนี้มีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยและกฎหมาย ถ้าเหตุการณ์ยุติได้ก็ถอนกำลังกลับมา เพราะไม่มีใครอยากอยู่หรือบังคับน้ำใจกัน แต่ต้องเข้าใจว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงกฎหมาย ไม่ว่าจนหรือรวยก็ต้องทำเหมือนกัน
วันนี้ต้องเรียนรู้การอยู่อย่างสันติ ปราศจากความขัดแย้ง ต้องแก้ปัญหาความมั่นคงในประเทศให้ยุติได้โดยเร็ว เรากำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งโอกาสภาคใต้มีมากเพราะคนน้อย ทรัพยากรมาก แต่มีคนคิดว่าปกครองตนเองดีกว่านี้ ซึ่งผมอยากบอกว่าไม่มีทาง หลายประเทศที่แยกออกไปก็แย่ มันไม่ทันการณ์ ยิ่งแยกใหม่ยิ่งไม่ได้ ทั้งโครงสร้าง การจัดการ เก็บภาษีต่างๆ มันไม่ได้ จึงต้องช่วยกันคิด ให้เด็กๆ เป็นแกนนำให้เกิดความสันติสุข
ถ้าบอกว่าเราปิดกั้น ต้องบอกว่าเราปิดกั้นเรื่องอะไร การนับถือศาสนา หรือการตั้งด่านตรวจต่างๆ แต่ทหารตั้งใจให้เกิดความสงบ หากไม่มีเรื่องก็ต้องกลับ ไม่มีใครอยากอยู่ แต่คนไม่ดีก็มี ถืออาวุธด้วยกันทั้งคู่ แต่ประเด็นอยู่ที่ใครเริ่มความรุนแรงก่อนคนนั้นก็ผิด แต่คิดว่าเจ้าหน้าที่คงไม่เริ่มก่อน ผมมีเวลา 3 เดือนขอให้มันสงบได้ มีคณะกรรมการพูดคุยสันติสุข เอาทหารลงไปเพื่อดูแลทุกข์สุข ทำถนนหนทาง พัฒนาต่างๆ
กระบวนการพูดคุยสันติสุขให้เกิดการยอมรับ ไม่ใช่แค่ตั้งโต๊ะคุย แต่ต้องรับเรื่องมา และคณะกรรมการร่วมแก้ปัญหาตามกฎหมาย ต้องมีโรดแมพสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ให้เกียรติและศักดิ์ศรีเขา และแก้ปัญหาภายใต้กฎหมายของไทยที่แบ่งแยกไม่ได้ เท่าเทียมกัน
เมื่อผมเดินทางไปต่างประเทศ มักจะถูกถามว่าประเทศไทยจะมีเสถียรภาพต่อไปแค่ไหน เพราะเขาพร้อมจะลงทุนและท่องเที่ยวในภาคใต้ แต่ปัญหาอย่างเดียวคือความไม่ปลอดภัย ฉะนั้นผมจึงขอฝากให้บอกพ่อแม่พี่น้องให้ยุติไว้ก่อน ถ้ารบกันอยู่ใครจะลงทุน รบกันไปมีแต่ถอยหลัง มีคนเจ็บตาย เสียโอกาส เดินไปไม่ได้ ประเทศก็ยากจนไปเรื่อยๆ
ที่ผ่านมามีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ภาคใต้มา 3 ปี แต่ไม่มีใครลงสักคน เพราะเขากลัว วันนี้ทำทุกอย่าง กระจายการพัฒนาลงไป แต่จะเอางบประมาณมาจากไหน จึงต้องร่วมทุน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : เนื้อหาข่าว พลเอกประยุทธ์ จากสำนักข่าวเนชั่น ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น