'ธีรยุทธ บุญมี' ชี้สังคมไทยเฉ บิด เพราะคนไม่ผูกติดวัฒนธรรม
'ธีรยุทธ บุญมี' ชี้สังคมไทยไทยวันนี้เปลี่ยน เกิดระบบอุปถัมภ์แทนระบบการพึ่งพากันเองในชุมชน คนติดวัตถุ แทนผูกติดกับวัฒนธรรม ทั้งๆที่สำคัญมากต่อความยั่งยืนของสังคมไทย
วันที่ 9 กันยายน สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย จัดพิธีมอบรางวัลที่ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นดีเด่น ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 ตึกเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยนายมนตรี ฐิรโฆไท ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ประธานมอบรางวัลแด่บุคคลที่ทำงานด้านประวัติศาสตร์ภาคอีสาน ได้แก่ รองศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม, รางวัลหนังสือประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน เขียนโดย รองศาสตราจารย์สุภาภรณ์ จินดามณีโชติ, รางวัลหนังสือ 100 ปี การเมืองท้องถิ่นลุ่มทะเลสาบสงขลา เขียนโดย สารูป ฤทธิ์ชู และรางวัลหนังสือความทรงจำในอ่าวปัตตานี เขียนโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และคณะ
จากนั้น ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ "การกระจายอำนาจท้องถิ่น และวัฒนธรรม" ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีเป็นของประชาชน จากที่เคยถูกจำกัดแวดวง เป็นเรื่องของรัฐ ของข้าราชการเท่านั้น
"ที่ผ่านมาวัฒนธรรม ได้รับความสนใจจากคนไทยน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นคนในแวดวงการเมือง ข้าราชการ ฯลฯ ทั้งๆ ที่มีความสำคัญ แม้แต่ช่วงเวลาที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็แทบไม่ได้ยินคำว่า ปฏิรูปทางวัฒนธรรม หรือพยายามส่งเสริม กระจายอำนาจ กระจายสิทธิทางวัฒนธรรม"
ศ.ธีรยุทธ กล่าวอีกว่า วัฒนธรรม เป็นหลักสำคัญมากต่อความยั่งยืนของสังคมไทย แต่วัฒนธรรมยังไม่เกิดการยอมรับในกระแสหลักของผู้คน
"วัฒนธรรมถ้าเข้มแข็งดำรงอยู่ในท้องถิ่น จะเป็นฐานรากของสังคม คือสังคมเชื่อมโยงกับวัฒธรรมอย่างแยกไม่ออก และสังคมก็จะกำหนดการเมือง ให้เป็นไปตามแบบที่สังคมนั้นคิดจะให้เป็น เช่น สังคมมีความเคารพตนเอง มีความเท่าเทียม เสมอภาค การเมืองก็จะสะท้อนไป แต่หากสังคมคิดอีกแบบ การเมืองก็เป็นอีกแบบ ผมต้องการเชื่อมโยงให้เห็นว่า วัฒนธรรมสำคัญมากต่อภาคการเมืองไทย"
ศ.ธีรยุทธ กล่าวถึงสังคมบริโภคนิยมในปัจจุบัน คนแทนที่จะผูกติดกับวัฒนธรรม สิ่งที่เชื่อมโยงจิตใจ ก็ไปผูกติดกับวัตถุมากขึ้นๆ สังคมไทยวันนี้จึงเปลี่ยน เกิดระบบอุปถัมภ์แทนระบบการพึ่งพากันเองในชุมชน สังคมไทยจึงเฉ และบิดเบือนไปในช่วงนี้ เพราะวัฒนธรรมถูกแทนที่โดยวัตถุ
ช่วงท้าย ศ.ธีรยุทธ กล่าวแสดงความแปลกใจ ทหารไทยกับข้าราชการไทย ซึ่งขึ้นชื่อว่า รักชาติ ประเทศไทยมาก แต่กลับกลัวคนไทยจะมีอำนาจ เราจึงเห็นการกระจายอำนาจ การส่งต่ออำนาจสู่ท้องถิ่น เคารพสิทธิการจัดการตนเอง สะดุดทุกครั้ง
ขณะที่ศ.ศรีศักร กล่าวถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ดีทุกอย่าง เช่น ทำให้ความรุนแรงหมดไป ปราบปรามคอร์รัปชั่น แต่รัฐบาลทหารยังไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness:GNH) เข้าใจแต่ GDP
"GNH เห็นจากข้างล่าง คือความสุขจากมวลชนที่แลเห็นจากสังคมข้างล่าง ขณะที่รัฐมอง GDP รัฐไม่เข้าใจ สังคมส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ แม้จะเปลี่ยนผู้มาดูแลเศรษฐกิจ จากม.ร.ว ปรีดียาธร เทวกุล มาเป็นดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็เน้นเรื่อง GDP เช่นเดิม ทำอย่างไรเห็น GNH"
ศ.ศรีศักร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สังคมไทยเน้นตัวเลข GDP สร้างพลังงาน ส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งออก สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุนนิยม แต่หากเราลดการส่งเสริมอุตสาหกรรม ลดการส่งออก ถามว่า เราจำเป็นต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินมากมายขนาดนี้หรือ แต่ที่เวลานี้เราเพิ่มพลังงาน ชาวบ้านกลับไม่ได้ประโยชน์ หากลดเป็นการเกษตร เน้นเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก เป็นทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่