นักวิชาการ แนะขายล็อตเตอรี่ ต้องติดข้อความเตือนเหมือนซองบุหรี่
นักวิชาการชี้การแจ้งคำเตือนล๊อตเตอรี่คือการรับผิดชอบต่อสังคม หวั่นดาบสองคมจากการควบคุมราคาทำเยาวชนเข้าถึงการพนันง่ายขึ้น แนะจำกัดผู้ซื้อต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
จากกรณีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีการควบคุมราคาล๊อตเตอรี่ทั่วประเทศ โดยต้องขายในราคา 80 บาทเท่านั้น ส่งผลให้นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับการพนันในกลุ่มเยาวชน เกิดความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเยาวชนได้
ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ที่ปรึกษาศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า กรณีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีการปรับเปลี่ยนจัดสรรโควตาไปสู่รายย่อยมากขึ้น จนนำไปสู่การควบคุมราคาล็อตเตอรี่อยู่ที่ 80 บาทสำเร็จ ตรงนี้แม้อาจเป็นข้อดีแก่ผู้ซื้อ แต่กลับกลายเป็นดาบ 2 คมเพราะ ต้องเข้าใจว่า ล็อตเตอรี่ ไม่เหมือนสินค้าทั่วไป เสมือนกับ น้ำตาลเคลือบยาพิษ ยิ่งเล่น ยิ่งเพลิน สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ที่อาจกลายเป็นสิ่งมอมเมา ทั้งนี้ในต่างประเทศทั่วโลก การบริหารเงินที่ได้จากการขายสลากฯ เงินที่ได้ส่วนหนึ่งเขาเอาไปสนับสนุนการให้เห็นโทษของการพนัน รวมไปถึงการเตือน เหมือนกับ บุหรี่และเหล้า แต่ในส่วนของเราเงินที่ได้มา กลับเข้าสู่เงินภาษีทั้งหมด
ดร.วิเชียร กล่าวอีกว่า กรณีที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเคย เสนอ ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการแก้ไขให้มีมาตรการห้ามจำหน่ายสลากกินแบ่งให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ รวมทั้งห้ามจำหน่ายสลากในสถานศึกษาและบริเวณใกล้เคียงต่อเนื่องกับสถานศึกษา ตรงนี้ถือเป็นเรื่องดี แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ควรมีมาตรการทางสังคมควบคู่กันไปด้วย โดยมุ่งหวังไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนปลอดการพนันเป็นสำคัญ
"ขณะเดียวกันแม้ว่ารัฐบาลใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11 /2558 เรื่องการมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ตั้งกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อการพัฒนาสังคม ซึ่งมาจาก 3 เปอร์เซ็นต์ ของการจำหหน่ายสลาก และตั้งขึ้นมาเพื่อมาต่อต้านการพนันเฉพาะ ถือเป็นเรื่องดี แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนหยุดนิ่ง ไม่มีการเดินหน้าอะไรเลย ถ้าคิดที่จะดำเนินการ เงินส่วนนี้สามารถดำเนินการได้เลย อาทิ การส่งเสริมกิจกรรมในชุมชน ให้ลดละเลิกการพนัน การตั้งศูนย์ปรึกษาเยียวยาผู้ที่ติดพนัน เป็นต้น ตรงนี้จะถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง"
ด้านผศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์ประจำคณะสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง กล่าวว่า กรณีรัฐบาลไฟเขียวให้มีการวางขายหวยออนไลน์นั้น อยากให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คิดทบทวนในส่วนการจัดวางตู้ขาย และในส่วนของตัวสลากเอง ต้องอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมเป็นสำคัญโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ในส่วนของตู้ขายถ้าเป็นไปได้ อยากให้วางขายในที่เฉพาะ เช่น วางขายที่กองสลากฯเป็นการเฉพาะ ไม่ควรไปวางขายตามที่สาธารณะอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ เพราะจะเป็นชนวนเชื้อชั้นดีในการส่งเสริมการพนันโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ที่สำคัญต้องมีคนประจำตู้ขายสลาก พร้อมระบุและสแกนอายุผู้ซื้อสลากออนไลน์ ที่ต้องขายเฉพาะอายุ 18 ปีขึ้นไป
“แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นในส่วนของการรับผิดชอบต่อสังคม คือ ควรใส่ภาพและคำเตือนไว้ที่สลากออนไลน์ ให้เหมือนกับซองบุหรี่ ที่ระบุถึง โอกาสที่ผู้ซื้อจะถูกรางวัลนั้นน้อยมากกำกับไว้ การที่กองสลากฯอ้างว่า ได้ทำเพื่อสังคม เช่น การโฆษณาว่า เมื่อซื้อสลากฯเหมือนกับทำบุญ ตรงนี้ไม่ใช่เป็นการรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น หรือภาพที่ระบุว่า เมื่อคุมราคาล๊อตเตอรี่ได้ที่ 80 บาทแล้ว ประชาชนจะมีความสุขนั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเพียงการโฆษณาสร้างแรงจูงใจให้ซื้อก็เท่านั้น”
ขณะที่นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาตร์ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการจัดการปัญหาการพนันที่มีผลกระทบต่อสังคมไว้อย่างน่าสนใจ ยกตัวอย่างใน มลรัฐอัลเบอต้า ประเทศแคนนาดา ที่กำหนดให้ในตั๋วลอตเตอรี่ทุกใบจะต้องมีข้อมูลสายด่วนปรึกษาปัญหาการพนันทางโทรศัพท์ หรือในประเทศสิงคโปร์ ในร้านค้าที่จำหน่ายล๊อตเตอรี่ ต้องมีการแสดงข้อความว่า เล่นอย่างมีความรับผิดชอบ และพนักงานที่ให้บริการจำหน่ายต้องได้รับการฝึกอบรมให้ปฏิเสธการจำหน่ายตั๋วล๊อตเตอรี่ที่มาซื้อหลายครั้ง และการมีมาตรการลงโทษร้านค้าที่จำหน่ายสลากให้แก่เยาวชนตามกฏกหมายทีเกี่ยวข้อง
ขอบคุณภาพจากwww.sentangsedtee.com