‘จรัญ ภักดีธนากุล’:วิพากษ์ระบบยุติธรรมไทย ไม่ชำนาญเฉพาะด้าน
"ข้อกฎหมายต้องสอดคล้องกับหลักนิติธรรม ไม่ใช่อักษรด้าน ๆ และต้องมีอุดมการณ์ทำงานเพื่อประโยชน์ชาติและสันติสุขของมหาชนชาวสยามตามรอยนโยบายใหญ่ของพระมหากษัตริย์ไทย ทรงมีปฐมบรมราชโองการ จะปกครองแผ่นดินโดยธรรม แต่ไม่ใช่เพื่ออำนาจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม แต่ไม่ใช่เพื่อตระกูล พรรค หรือองค์กรใด ๆ ดังนั้น ถ้าระบบยุติธรรมไทยทำได้ดังกล่าวน่าจะดีขึ้น"
หมายเหตุ:ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในหัวข้อ ‘กฎหมายกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม:ความท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรมไทย’ ภายในการสัมมนา แนวทางการพัฒนาและการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรมไทยในอีก 10 ปี ข้างหน้า ภายใต้โครงการศึกษาและสำรวจสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มกระบวนการยุติธรรม (justice trend) พร้อมจัดทำแนวทางการพัฒนาและเตรียมความพร้อมของกระบวนการยุติธรรมไทยในทศวรรษหน้า ซึ่งจัดโดย สำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ณ ห้องบอลรูม 2 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวตอนหนึ่งถึงแนวทางการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมไทยที่สำคัญ ซึ่งอยู่ในวิสัยสภาวการณ์ของประเทศพอทำได้ ไม่ต้องรอให้มีศูนย์รวมอำนาจที่มีนโยบายชัดเจนในการปฏิรูป โดยหากมองสภาวการณ์แวดล้อมของระบบดังกล่าว จะมองในแง่ร้ายมากกว่าว่า สภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย ไม่อยู่ในวิสัยเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาของระบบงานยุติธรรมประเทศที่มีประสิทธิภาพ
เนื่องจาก ‘การเมือง’ ไทยแตกแยก ไม่รู้เป็นโชคร้ายของไทย เราไม่มีความสมัครสมานในสถาบันการเมืองของประเทศ แตกแยกเป็นหลายฝักหลายฝ่าย ซึ่งตั้งสมมติฐานเกิดจาก ‘ความคับแคบ’ ด้วยมีคนเข้ามาอยู่ในแวดวงการเมือง แต่ไม่มีอุดมการณ์ชาติ ไม่เป็นคนที่มีอัตตา (ตัวตน)เป็นประเทศไทย เรามีเฉพาะคนที่มีอัตตาเป็นผู้ดูแลเขตเลือกตั้ง จังหวัด หรือพรรคการเมือง
แม้กระทั่งวาระประเทศอยู่ในการปกครองไม่มีการเลือกตั้ง ยังคงได้คนที่มีอัตตาคับแคบอยู่ที่สถาบันหรือองค์กรของตนเองเป็นส่วนใหญ่
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หยิบยกเหตุผลของการไม่คำนึงถึงประเทศ เพราะตัวตนของผู้กุมอำนาจทางการเมืองไทยคับแคบ จึงสร้างความแตกแยก แต่เมื่อใดมีคนเดินเข้ามาในพื้นที่ทางการเมือง (อำนาจรัฐระดับสูง) มีประเทศเป็นอุดมการณ์ เหมือนมหาตมะคานธี ที่มีอินเดียเป็นอุดมการณ์ หรือประธานาธิบดีเหมา เจ๋อ ตุง ที่มีพลเมืองจีนกว่าหนึ่งพันล้านคนเป็นลูกหลาน ความแตกแยกจะไม่ทรงพลัง ถึงขนาดทำลายล้าง เอารัดเอาเปรียบ ชิงดีชิงเด่นกัน จนลืมประเทศอย่างที่เคยเป็นมา
“ที่ผ่านมาคับแคบ แตกแยกไม่พอ ยังเหลวแหลก ไม่วางมาตรฐานของพฤติกรรมการทำงาน หรือคุณธรรมจริยธรรม เห็นเรื่องทุจริตฉ้อฉลเป็นเรื่องเล็กน้อย พออภัยได้ กรณีเช่นนี้จะทำลายสถานภาพบุคลิกภาพและศักด์ศรีของสถาบันการเมืองในประเทศ”
สิ่งแปลกปลอมเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แทรกทุกวงการ เขาบอกว่า คนไทยเอื้ออารีและไม่อยากเบียดเบียนผู้ร่วมกิจกรรมในสถาบัน จึงปล่อยปละละเลยให้คนเกเรแปลกปลอมเข้ามาอยู่ในองค์กรหรือสถาบัน และเปิดโอกาสให้คนเกเรเหล่านั้นทำลายสถาบัน รวมทั้งสถาบันการเมือง
ประสบการณ์หนึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไหนเลย คือ เมื่อข้าราชการถูกไล่ออกจากระบบราชการ เพราะทุจริต ฉ้อฉล มีมลทิน มัวหมอง แต่ไม่ทันไรกลับได้รับเลือกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ นึกดูเถิด! สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงว่า ระบบการเมืองไทยขาดการคัดกรองคน เลือกคนเข้ามา ปล่อยให้มีการแปลกปลอม วันหนึ่งหากได้รับการเลือกตั้ง ย่อมกุมอำนาจรัฐบนหัวระบบข้าราชการประจำ
ศ.พิเศษ จรัญ บอกว่า ที่ผ่านมาเรียกร้องผู้หลักผู้ใหญ่ในการเมืองตลอดให้ช่วยคัดกรองคน อย่าปล่อยให้คนหัวรุนแรง สุดโต่ง เข้ามาเป็นคนมีบทบาทในแวดวงการเมืองของประเทศ เพราะหากระบบการเมืองที่เป็นอำนาจใหญ่ไม่อยู่ในร่องรอยแล้ว ระบบงานยุติธรรมของประเทศย่อมทำงานให้ได้ผลยาก
คนไทยขาดนักคิด นักพัฒนา ปัจจุบันมีเฉพาะนักช้อป
ด้านเศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งบริบทที่สำคัญ ศ.พิเศษ จรัญ ยอมรับว่า ปัจจุบันมีสภาวะพอใช้ได้ เดินหน้าได้พอสมควร แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) น่าตกใจ! เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีพัฒนาการ ‘ตกต่ำ’ และ ‘เหลื่อมล้ำ’ มาก รวยกระจุก จนกระจาย
กรณีข้างต้นยังคงมีอยู่และมากขึ้นถึงขนาดคนจำนวนน้อยที่มีเงินสามารถนำเศษเงินมา ‘ฟาดหัว’ ซื้อศักดิ์ศรีความเป็นคนไทยด้วยราคาถูกมาก แต่กลับมหาศาลจนทำให้คนส่วนใหญ่พูดไม่ออก ต้องยอมน้อมรับ นำไปสู่สภาพความเสียหายต่อการเมือง สังคม และวัฒนธรรม
“ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม การผูกขาด ตัดตอน ยังมีอยู่ จึงเกิดระบบเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำ ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ เพราะอ้วน อยากอยู่สบาย กินสบาย กับระบบผูกขาด กึ่งผูกขาด หรือตัดตอน โดยชอบด้วยกฎหมาย” เขากล่าว และว่า สิ่งนั้นกระทบระบบงานยุติธรรมแน่นอน สังคมจะเกิดปรากฎการณ์คนไทย ‘ขายตัว’ ขายศักดิ์ศรีความเป็นคนให้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจเถื่อน
ทุกคนมีความรู้สึกปกติที่เรียกคนอยู่บนบันไดแห่งอำนาจว่า ‘นาย’ หรือ ‘ป๋า’ จึงถามหาศักดิ์ศรีความเป็นคนไทย ทั้งที่เรามีนายองค์เดียวที่เป็นศูนย์รวมใจของเรา
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บอกด้วยว่า คนไหนที่มีผลประโยชน์แก่เราได้ น้อมตัวรับใช้ ขายตัวให้กับนาย ไม่คำนึงว่านายจะทำให้เราทำเรื่องเสียหายกับประเทศชาติมากเพียงใด ทั้งนี้ เราขาดนักคิด นักพัฒนา มีแต่นักซื้อ นักช้อป เต็มประเทศ เหตุใดจึงไม่ส่งเสริม หากคิดสร้างขึ้นมา คุณภาพสู้ไม่ได้ ก็ต้องเสริมกำลังเข้าไปอีก พัฒนาครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ทุ่มทุนกว่าที่ซื้อมา และ ทันทีที่ก้าวทันจะเริ่มเป็นผู้จำหน่าย อย่างไรก็ตาม ตราบใดยังเป็นนักซื้อ คงยากจะไปแข่งขันในพื้นที่ทรัพย์สินทางปัญญา
“รอคอยโชคชะตา ฟ้าบันดาล หน้าหนาวแจกผ้าห่ม น้ำท่วมแจกถุงยังชีพ ถามว่าเราจะต้องแจกผ้าห่ม น้ำดื่มไปอีกกี่ปี”
'ซื้อสิทธิขายเสียง' รากเหง้าพฤติกรรมฉ้อฉลต่อเนื่อง
ศ.พิเศษ จรัญ ยังกล่าวถึงหายนะธรรมองค์กรว่า หลายองค์กรมีการซื้อขายตำแหน่ง โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีการซื้อขายตำเเหน่ง ประชาชนหมดที่พึ่ง ตั้งคำถามว่า ตำแหน่งดังกล่าวเป็นของคุณหรือ? ตำแหน่งเป็นของประเทศ ไม่ใช่ของซื้อขาย รวมถึงการฉ้อฉล ทุจริต ค่าคอมมิชชัน ซึ่งถือเป็นการทุจริตชัดเจนที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงขาดประสิทธิภาพโดยรวม
“ในสภาพสมมติที่มีจุดอ่อนข้อด้อยสภาวะแวดล้อมระบบงานยุติธรรม เป้าหมายใหญ่ที่สุดต้องทำก่อนให้สำเร็จ จะต้องทำตามปณิธานอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานว่า ต้องแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด โดยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรให้ทรงพลัง”
ทั้งนี้ การฉ้อฉลทุจริตในวิสาหกิจเอกชนอย่าดูเบา เพราะเคยทำให้บางประเทศซวดเซมาแล้ว แม้แต่ประเทศมหาเศรษฐีของโลกก็ยังสะเทือน จึงต้องขยายเครือข่ายการปราบปรามพฤติกรรมชั่วร้ายลงไปถึงวิสาหกิจเอกชนด้วย เราก็เริ่มบ้าง แต่ยังอ่อนเปลี้ยอยู่
นอกจากนี้เขายังมองว่า การทุจริตเลวร้ายที่สุด ซึ่งเป็นรากเหง้าของพฤติกรรมฉ้อฉลต่อเนื่อง นั่นคือ การซื้อสิทธิขายเสียงการเลือกตั้งบุคคลเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ หากยังแก้ไขไม่ได้ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันไม่มีทางหมด เพราะต้องควักเงินซื้อเสียงเพื่อเปิดทางเข้าสู่อำนาจ
เขาถามว่าจะอยู่เฉย ๆ หรือ ก็ต้องถอนทุนคืน และคิดถึงการเลือกตั้งสมัยหน้าก็จะสู้กันอีก คราวนี้ฝ่ายแพ้รู้ราคาแล้วก็จะเตรียมระดมเงินเข้ามา ฉะนั้นเวลาถอนทุนจะต้องเตรียมไว้เพื่อลงเลือกตั้งคราวหน้า เมื่อเป็นเช่นนี้ข้าราชการประจำ ระบบราชการแผ่นดินจะเป็นอย่างไร ไม่มีทางแก้ไข และนำไปสู่ความเหลวแหลกระบบราชการและกระบวนการยุติธรรม
ด้วยเหตุผลเมื่ออำนาจทางการเมืองต้องการผลประโยชน์ ใครทำประโยชน์ให้ คือ คนดี ก็จะได้รับการเลื่อนยศ ตำแหน่ง เพราะฉะนั้นต้องหาเงินส่งเป็นทอด ๆ ดูเถิด! จึงเกิดระบบส่วย ซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการ ถ้าการเมืองไทยบริสุทธิ์ ข้าราชการไม่มีทางเหลวแหลกอย่างที่เป็นอยู่
ทางบวกด้านหนึ่ง คือ ปราบปรามทุจริตฉ้อฉล ถอนรากถอนโคน อีกด้านหนึ่ง คือ การสร้างอุดมการณ์ชาติที่ขาดหายไป 40 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยพูดถึง ที่ผ่านมาพูดแต่องค์กรของเรา อย่างไรก็ดี ระบบงานยุติธรรมต้องค้ำชูประเทศชาติและสันติสุขของประชาชน
ทั้งนี้ สมัยสถาปนาระบบยุติธรรมใหม่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เคยประกาศอุดมการณ์ว่า “ชีวิตของฉันคือการรับใช้ประเทศชาติและประชาชน” แต่เราไม่เคยสอนนักเรียนกฎหมายว่า กฎหมายเพื่อประเทศชาติ ประชาชน แต่กลับสอนว่า กฎหมายเพื่อเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านเมือง เป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ
ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวอีกว่า กรณีสิทธิประโยชน์ส่วนบุคคล ถ้าจะส่งผลร้าย เป็นอันตรายของประเทศชาติโดยส่วนรวมที่ใหญ่กว่า ซึ่งทำไม่ได้เด็ดขาด ไม่ว่าเหตุผลใด เพราะเป็นการใช้สิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเป็นอันตราย และแม้มีอยู่ในมาตรฐานสากล แต่จางมาก ส่วนในระบบกฎหมายไทย ใครขืนเอาตัวนี้มาใช้จะถูกกฎหมายลายลักษณ์อักษรกระแทกตกบัลลังก์ ซึ่งอันตรายมาก
“เงินงบประมาณ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินของชาติ ต้องมีอุดมการณ์ว่า สิ่งนี้ใครจะมาแทะกินไม่ได้ ผู้ใดบังอาจล้างผลาญบ่อทำลาย จักต้องรับโทษทัณฑ์ตามกฎมาย และระบบงานยุติธรรมทรงพลัง”
ยุติธรรมไทยไร้ศาลชำนาญเฉพาะด้าน ที่มีอยู่ไม่เชี่ยวชาญจริง
นอกจากทิศทางการพัฒนาระบบงานยุติธรรมของประเทศข้างต้นแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุถึงวิธีการพัฒนางานยุติธรรม ทั้งนี้ ไม่เฉพาะศาล แต่รวมถึงตำรวจ อัยการ และทนายความด้วย โดยต้องมีความอิสระตามสถานะเหมาะสม ไม่ใช่ต่างคนต่างยิ่งใหญ่ สามารถทำหน้าที่ประสิทธิประสาทแก่สังคมได้
อีกทั้งมีความเป็นกลาง ไม่ยอมตนเป็นผู้รับใช้ ไม่ว่าอำนาจฝ่ายใด ระบบงานยุติธรรมต้องไม่ใช่คำว่า “มีอะไรเรียกใช้ผมได้” แต่ต้องใช้คำว่า “ขอให้มั่นใจว่าเราเป็นกลาง และจะดูแลทำงานตรงนี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่อคติกับท่านหรือฝ่ายใด” ตลอดจนบริสุทธิ์ และยุติธรรม
เขายังเห็นว่า วิถีชีวิตการทำงานอย่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน และต้องส่งมอบความยุติธรรมแก่สังคมให้ได้ ไม่ใช่เอาเพียงกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเวลานี้ไทยไม่สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระบบงานยุติธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพแพทย์ ซึ่งออกแบบไว้ดีมาก
กรณีเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีเพียงศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญา แต่ขออภัย...ยังไม่มีความเชี่ยวชาญจริง...เป็นสิ่งที่ตระหนักกันดีในแวดวงศาลยุติธรรมว่า ถึงเวลาต้องทำให้จริงขึ้นมา เริ่มตั้งแต่เราไม่มีความเชี่ยวชาญกฎหมายพาณิชย์และระบบงานยุติธรรมทางพาณิชย์
“อย่าพูดถึงเชี่ยวชาญเลย แต่ไม่มีตัวตนของระบบงานยุติธรรมทางพาณิชย์ มีเพียงติ่งนิดเดียว คือ คดีการค้าระหว่างประเทศ”
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)จะเป็นตัวผลักดันว่า ไทยช้าไม่ได้ ต้องเกิดศาลพาณิชย์ วิธีพิจารณาคดีพาณิชย์ กฎหมายสารบัญญัติทางพาณิชย์ กฎหมายพาณิชย์มากมายยังไม่มีตัวตนในไทย แม้แต่สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ราคา 2 หมื่นบาท ยังต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้
นี่ไม่ใช่กฎหมายพาณิชย์การค้าระหว่างประเทศของไทย แต่เป็นกฎหมายซื้อขายสินค้าของชาวบ้าน แม้มีศาลการค้าระหว่างประเทศก็ต้องใช้กฎหมายนี้ เพราะเราไม่มีกฎหมายพาณิชย์
ศาลสิ่งแวดล้อมกระจัดกระจาย ไร้ตัวตน-ปชช.ประสาทเสีย
ศ.พิเศษ จรัญ ยังกล่าวถึงศาลสิ่งแวดล้อมยังกระจัดกระจายไม่มีตัวตน คดีสิ่งแวดล้อมทางปกครองไปศาลปกครอง คดีสิ่งแวดล้อมทางอาญาไปศาลแขวง ศาลจังหวัด คดีสิ่งแวดล้อมทางแพ่งไปศาลแพ่ง ศาลแขวง ศาลจังหวัด คนละระบบ คนละวิธีการ คนละปรัชญาความยุติธรรม ประชาชนคดีสิ่งแวดล้อมประสาทเสียเลย
ทั้งที่สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ เพราะเชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ถึงเวลาต้องมีระบบงานยุติธรรมเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการบ่อนทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังมีศาลเยาวชนและครอบครัวไม่เป็นศาลชำนัญพิเศษ ยังมีองค์ประกอบ 3 ชั้นศาล เพียงแต่มีอะไรเพิ่มเติมเข้าไปให้มีเอกลักษณ์ของตนเอง แม้แต่ระบบงานศาลยุติธรรมยังไม่ถือเป็นศาลชำนัญพิเศษเลย ทั้งที่ควรเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก่อนศาลอื่น ๆ เพราะเกิดก่อนตั้งแต่ปี 2494 แต่ก็ขยับอยู่กับที่
อย่างไรก็ตาม ระบบศาลพิเศษโดยรวมต้องเป็นระบบ 2 ชั้นครึ่ง คือ ศาลชำนัญพิเศษชั้นต้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตฎีกาจากศาลฎีกาแผนกคดีชำนัญพิเศษ ซึ่งคอยดูแลจุดผิดพลาดบกพร่องอีกครั้งหนึ่ง
วิธีนี้จะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาพิเศษต่าง ๆ ในแวดวงของศาล และเป็นตัวบังคับต่ออัยการ ทนายความ และตำรวจ ไม่มีทางจะทำงานเหมือน ‘เป็ด’ ได้อีกต่อไป แต่ปัจจุบันปรากฏว่า อัยการ ทนายความ และตำรวจสร้างความเชี่ยวชาญนำหน้าไป จนกลายเป็นปัญหาผลความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านถูกปรับแก้ โดยผู้พิพากษาไม่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก
3 เป้าหมายปฏิรูปด่วน ข้อเท็จจริงถูกต้อง-สอดคล้องนิติธรรม-ค้ำจุนประโยชน์ชาติ
ส่วนเป้าหมายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยอย่างน้อยที่สุดต้องทำให้ได้ว่า ศ.พิเศษ จรัญ เสนอแนะว่า ต้องทำให้ข้อเท็จจริงไม่ถูกบิดเบือนให้ตรงข้ามกับความจริง ต้องมีความแม่นยำ ตรงเข้าไปในความจริง หากปล่อยปละละเลยให้มีการบิดเบือนความจริง ต่อให้มีระบบที่ดีอย่างไรด้านกฎหมายก็ใช้ไม่ได้ เพราะเกิดการทำลายศักยภาพหรือคุณภาพของระบบงานยุติธรรมที่รากฐาน
นอกจากนี้ข้อกฎหมายต้องสอดคล้องกับหลักนิติธรรม ไม่ใช่อักษรด้าน ๆ และต้องมีอุดมการณ์ทำงานเพื่อประโยชน์ชาติและสันติสุขของมหาชนชาวสยามตามรอยนโยบายใหญ่ของพระมหากษัตริย์ไทย ทรงมีปฐมบรมราชโองการ จะปกครองแผ่นดินโดยธรรม แต่ไม่ใช่เพื่ออำนาจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม แต่ไม่ใช่เพื่อตระกูล พรรค หรือองค์กรใด ๆ ดังนั้น ถ้าระบบยุติธรรมไทยทำได้ดังกล่าวน่าจะดีขึ้น
“ห้ามจับแพะมาดำเนินคดี ซึ่งเป็นเรื่องชั่วร้ายที่สุดในระบบงานยุติธรรมทางอาญา อีกทั้งที่ผ่านมา เราเป็นระบบงานยุติธรรมทางอาญาใยแมงมุม จับได้เฉพาะแมลงหวี่แมลงวัน แต่ไม่เคยจับแมลงด้วงได้ เพราะทะลุทะลายใยแมงมุมไปหมด” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว และว่าไปอยู่เกาะกงบ้าง แฝงตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่อยู่ในประเทศ เราต้องไม่ปล่อยให้คนชั่วลอยนวล ต้องไม่เปิดช่องให้มีการตัดตอน เอาคนเล็กมาดำเนินการจริงจัง แล้วปล่อยให้คนใหญ่ลอยนวล
ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวอีกว่า ต้องไม่ปล่อยปละละเลยให้มีอาชญากรแฝงตัวอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถ้าช่วยกันระมัดระวัง คนข้างนอกไม่มีปัญญารู้หรือแยกแยะใครดีใครชั่ว แต่คนที่อยู่ในแวดวงเดียวกันพอรู้ ต้องคอยระแวดระวัง เพราะคนพวกนี้จะมาทำลายศักดิ์ศรีของสถาบันเรา ต้องขจัดออกไป ถ้าจับได้ว่าเป็นตัวปลอมเข้ามาแฝงตัว แม้เคยเป็นเพื่อนก็ต้องขาดกัน แม้เคยเรียนจากสถาบันเดียวกัน เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องหรือรุ่นเดียวกันก็ต้องขาดจากกัน ไม่ใช่เพราะรังเกียจเพื่อน เราก็รักเพื่อน แต่เรารักประเทศไทยมากกว่า
ทั้งหมดนี้ คือ มุมมองความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทย .
ภาพประกอบ:ศ.พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล-เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์