การถูกถอดยศ: ตราบาปในชีวิตข้าราชการ
ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ค.ส.ช.) ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ออกประกาศเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2558 ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยให้เหตุผลว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิดปรากฏชัดตามคำ พิพากษาของศาลถึงที่สุดแล้ว และยังมีความผิดทางอาญาอื่น ๆ อีกหลายฐาน ซึ่งเป็นการเสื่อมเสีย และหัวหน้าค.ส.ช.โดยความเห็นชอบของค.ส.ช. เห็นว่าเป็นกรณีกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จำเป็นต้องดำเนินการ จึงมีคำสั่งให้ถอด พ.ต.ท. ทักษิณออกจากยศตำรวจ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (คือวันที่ 6 กันยานยน 2558) เป็นต้นไป
อันที่จริงการถอดยศนายทักษิณนั้นน่าจะได้กระทำโดยประกาศพระราชบรมราชโองการ เพราะนายทักษิณได้รับพระราชทานยศ แต่พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะกระทำโดยใช้อำนาจของหัวหน้า ค.ส.ช. ซึ่งก็เป็นไปตามกฎหมาย
นายทักษิณนั้น ที่จริงควรใช้คำนำหน้านามว่า “นักโทษชาย” เพราะต้องคำพิพากษาจำคุกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 แต่นายทักษิณหนีไปต่างประเทศ ก่อนที่จะถูกจำขังในเรือนจำ จึงพลาดโอกาสที่จะได้ใช้คำนำหน้านาม “นักโทษชาย” อย่างผู้ต้องขังอื่นๆ
การถอดยศนายทักษิณนั้นควรจะได้กระทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 อันเป็นปีที่นายทักษิณหนีไปต่างประเทศ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ดำเนินการ แม้ว่าโดยกฎหมายและระเบียบจะกระทำได้ทันที ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแล้วคนเล่าปล่อยให้เรื่องค้างเติ่งมาจนกระทั่งถึงสมัยที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแม้ในที่สุดจะได้มีการดำเนินการเพื่อให้ถอดยศนายทักษิณ แต่ก็ปรากฏว่ายังมีการโยนเรื่องให้หน่วยโน้นหน่วยนี้พิจารณา จนกระทั่งปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านไป ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงได้เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาและจึงได้มีประกาศของค.ส.ช.ให้ถอดยศนายทักษิณ
เหตุผลของความล่าช้าและการถ่วงเวลาการถอดยศของนายทักษิณนั้น ไม่ต้องสงสัยว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเกรงกลัวอิทธิพลของนายทักษิณ หรือมิฉะนั้นก็เป็นผู้ที่นายทักษิณเคยมีบุญคุณไม่ในราชการก็ส่วนตัว แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามการละเลยปล่อยให้การ ถอดยศล่าช้ามานานถึง 7 ปี ควรจะถือเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ และควรจะมีการสอบสวนทวนพยานเพื่อเอาผิดแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย
บัดนี้ เมื่อนายทักษิณถูกถอดยศเพราะมีความผิดฉกรรจ์ที่อาจกระทบ ต่อความมั่นคงของชาติ สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องรีบดำเนินการโดยด่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลและชั้นต่างๆ ที่นายทักษิณเคยได้รับพระราชทาน อาทิ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ และโดยเฉพาะทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ซึ่งนายทักษิณได้รับพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ
การเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548 ข้อ 7 (2) ซึ่งกำหนดให้กระทำกับผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และโดยที่นายทักษิณเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระเบียบดังกล่าวจึงกำหนดให้การเรียกคืนเป็นหน้าที่ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
การถูกถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นตราบาปสำคัญในชีวิตของข้าราชการทุกคน ขายหน้าทั้งตนเองและวงศ์ตระกูล คนหน้าด้านเท่านั้นที่จะบอกว่าไม่เดือดร้อนแต่อย่างใด ในขณะที่สังคมมองดูด้วยความสมเพชและเหยียดหยามไปชั่วชีวิต.