ป.ป.ช.มีมติให้อนุฯไต่สวนเพิ่มคดีเปลี่ยนองค์คณะปราสาทพระวิหารหลังเสียงแตก
อนุฯ ป.ป.ช. เสียงแตก! คดีเปลี่ยนองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เน้นมูลเหตุเปลี่ยนองค์คณะฯเป็นไปโดยชอบตามระเบียบหรือกฎหมายหรือไม่
จากกรณีคณะอนุกรรมการไต่สวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหา นายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุดและและนายจรัญ หัตถกรรม อดีตหัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดว่า ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเปลี่ยนองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดในการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร ที่มีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายจรัญ เพียงคนเดียว ส่วนนายอักขราทร ยังไม่มีพยานหลักฐานว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหานั้น
(อ่านประกอบ : อนุ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อหา"บิ๊กตุลาการศาล ปค.สูงสุด" คดีเปลี่ยนองค์คณะปราสาทพระวิหาร)
ล่าสุด นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนกรณีดังกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบแล้ว โดยพบว่าความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ยังมีบางส่วนเห็นไม่ตรงกันอยู่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยเน้นเฉพาะมูลเหตุที่ว่า การเปลี่ยนองค์คณะดังกล่าวเป็นไปโดยชอบตามระเบียบหรือกฎหมายหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน หลังจากคณะอนุกรรมการฯไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเสร็จแล้ว คงจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้งเร็ว ๆ นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีดังกล่าว คณะผู้พิทักษ์ความเป็นธรรมในศาลปกครองทำหนังสือร้องเรียนประธาน ป.ป.ช.ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ว่ามีการเปลี่ยนองค์คณะพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารโดยมิชอบด้วยกฎหมายจากคณะที่ 2 ซึ่งมีนายจรัญ หัตถกรรม เป็นหัวหน้าคณะ มาเป็นคณะพิเศษ(คณะที่ 1)ที่มีนายอัขราทร เป็นหัวหน้าคณะ โดยคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา
แต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)ยื่นฟ้อง ครม.นายสมัครและกระทรวงการต่างประเทศต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนมติ ครม.ที่สนับสนุนให้มีการออกแถลงการณ์สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมิให้นำมติ ครม.ไปดำเนินการใดๆ
ครม.นายสมัคร จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งครั้งแรก(วันที่ 1 สิงหาคม 2551) นายอัขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด(ขณะนั้น)ได้สั่งให้จ่ายสำนวนให้แก่องค์คณะศาลปกครองสูงสุดคณะที่ 2 ซึ่งที่มีนายจรัญ หัตถกรรม เป็นหัวหน้าคณะและเป็นเจ้าของสำนวน องค์คณะอีก 4 คนประกอบด้วย นายชาญชัย แสวงศักดิ์, นายเกษม คมสัตย์ธรรม, นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา และนายธงชัย ลำดับวงศ์
แต่ ในวันที 13 สิงหาคม 2551 นายจรัญได้ทำบันทึกส่งคืนสำนวน(สละสำนวน)ให้แก่นายอักขราทรโดยอ้างว่า ตนมีคดีค้างพิจารณาเป็นจำนวนมาก อาจทำให้การพิจารณาล่าช้า ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง มาตรา 56(3) ทั้งๆที่องค์คณะที่มีนายจรัญ เป็นหัวหน้าคณะได้มีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว ดังนั้นการสละสำนวนของนายจรัญ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จากนั้น นายอักขราทรได้สั่งให้จ่ายสำนวนให้แก่คณะที่ 1 (มีตุลการจำนวน 7 คนประกอบด้วย มี ประธานศาลปกครองสูงสุด และตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด เป็นองค์คณะ)มีนายอักขราทรเป็นหัวหน้าคณะ ปรากฏว่า องค์คณะที่ 1 มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผลของการพิจารณาคดีแตกต่างไปจากคณะของนายจรัญ
ทั้งนี้ จากการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวน มีพยานหลักฐานว่า หลังจากที่นายอัขราทรสั่งจ่ายสำนวนคดีปราสาทพระวิหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ให้แก่องค์คณะที่ 2 ซึ่งมี่นายจรัญ เป็นหัวหน้าคณะแล้ว นายจรัญได้มอบหมายให้นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลการศาลปกครองสูงสุด พิจารณาความเห็นเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารประกอบการพิจารณาขององค์คณะที่ 2 จนกระทั่งองค์คณะมีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้กลับคำสั่งของศาลปกครองกลาง ไม่รับคดีไว้พิจารณา โดยฝ่ายเสียงข้างมากได้แก่ นายชาญชัย แสวงศักดิ์ นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา และนายธงชัย ลำดับวงศ์
ขณะที่ยังไม่ลงนามในคำสั่งครบทั้งองค์คณะ ก็มีคำสั่งเปลี่ยนมาใช้องค์คณะฯที่ 1 ซึ่งมีนายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุดขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะเป็นผู้พิจารณาแทน และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง
ประเด็นที่ อนุกรรมการไต่สวนพิจารณาคือ การสละหรือการคืนสำนวนของนายจรัญทั้งๆที่มีการลงมติแล้ว น่าจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะองค์คณะมีการพิจารณาคดีนี้ไปแล้ว การสละสำนวนจึงไม่สามารถทำได้น่าจะเป้นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 56 ที่ระบุว่า ต้องจ่ายสำนวนตามความเชี่ยวชาญขององค์คณะ และ/หรือแบ่งตามพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์คณะ และ/หรือ จ่ายสำนวนโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า เมื่อจ่ายสำนวนแล้ว ห้ามเรียกคืนหรือโอนสำนวน เว้นแต่ทำตาม
1.ตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เช่น เมื่อปรากฏเหตุใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม
2.เมื่อตุลาการหรือองค์คณะถูกคัดค้าน
3.เมื่อตุลาการหรือองค์คณะ มีคดีค้างจำนวนมาก อาจทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า
อ่านประกอบ : เปิดบันทึก"ลับ"ตุลาการฯมัด"บิ๊ก"ศาล ปค. เปลี่ยนองค์คณะคดีพระวิหาร?
หมายเหตุ : ภาพประกอบปราสาทพระวิหาร จาก sanook.com