เอ็นจีโอหวั่น “แรงงานนอกระบบเคว้งคว้างหลังน้ำลด” อัดรัฐ ไม่มีแผนรองรับ
เลขาธิการ กป.อพช.ออกโรงจวกรัฐไร้มาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบ-ต่างด้าวหลังสถานการณ์น้ำลด พร้อมเรียกร้องจิตสำนึกนายทุนอย่าเลิกจ้าง จี้ภาคเอกชนเกาะติดช่วยเหลือกรรมกร
ภายหลังเกิดสถานการณ์น้ำท่วม โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับผลกระทบ ลูกจ้างที่เป็นคนต่างจังหวัดไม่มีงานทำ หลายคนต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา หลายคนยังไม่รู้ชะตากรรมว่าหลังน้ำลดจะได้กลับเข้าทำงานหรือไม่ นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.พอช.) ในฐานะผู้ทำงานด้านแรงงานมายาวนาน เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่ามีความเป็นได้สูงที่จะมีการเลิกจ้างแรงงานจากภาวะน้ำท่วม เพราะนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งกว่าจะเปิดตัวใหม่คงต้องใช้เวลานาน และจากท่าทีบรรดานักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติ กว่าจะฟื้นฟูได้คงใช้เวลานาน
นางสุนทรี ยังกล่าวว่า ไม่ต้องมองระยะยาว เพียงแค่น้ำท่วมโรงงานปิด 1-2 เดือนแรงงานก็เดือดร้อนกันแล้ว และแม้รัฐบาลจะมีมาตรการออกมา แต่จะครอบคลุมมากน้อยแค่ไหนยังน่าเป็นห่วง ซึ่งที่น่าห่วงที่สุดคือกลุ่มลูกจ้างนอกระบบที่รับงานมาทำที่บ้านหรือทำงานเป็นรายชิ้น รับเหมางานมาทำ กลุ่มนี้จะเดือดร้อนมาก เนื่องจากบริษัทไม่มีข้อผูกมัด ไม่มีสวัสดิการดูแล ไม่มีประกันสังคม เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงิน กลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าเป็นช่วงหยุดยาวถ้านายจ้างไม่มีไม่มีมนุษยธรรมจะยิ่งเลวร้าย เพราะถ้าเปิดโรงงานอาจประกาศรับสมัครคนงานใหม่ได้ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไรยังไม่มีมาตรการชัดเจน
"จากที่ได้คุยกับคนงานหลายคน น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะคนอายุ 40 ปีขึ้นไปจะมีความกังวลมากว่าหลังวิกฤติน้ำท่วมเขาจะไม่สามารถกลับมาทำงานได้ หากเจ้าของโรงงานมีคุณธรรมก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้านายทุนไม่สนใจความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานก็เป็นเรื่องเลวร้ายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแล"
เลขาธิการ กป.อพช. กล่าวอีกว่าหลังน้ำลดองค์กรภาคประชาชนต้องทวงถามว่ารัฐบาลและภาครัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้อย่างไร เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หลังเกิดวิกฤติรัฐแทบไม่ได้ดูแลแรงงานเหล่านี้ มีแต่นโยบายแต่ภาคปฏิบัติแทบไม่เห็นอะไรที่ชัดเจน รวมถึงแรงงานต่างชาติด้วยที่ไม่มีแผนรองรับให้ความช่วยเหลือ
"การดูแลแรงงานนอกระบบไม่มีความชัดเจน รวมทั้งแรงงานต่างชาติที่รัฐแทบไม่ได้ทำอะไรเลย เวลาปกติเราใช้แรงงานต่างชาติมาทำงานที่คนไทยไม่อยากทำเยอะ แต่เวลามีความเดือดร้อนก็ไม่ใจกว้างพอที่จะดูแลเขา หลายแห่งประกาศว่าของบริจาคขอสงวนไว้ให้คนไทยก่อน คนต่างด้าวเอาไว้ทีหลัง น่าหดหู่มาก แรงงานต่างด้าวก็มีความกังวลในการออกมารับความช่วยเหลือ กลัวถูกดำเนินคดี รัฐไม่เตรียมการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ แรงงานต่างด้าว ว่าหลังน้ำท่วมจะทำยังไงให้พวกเขาไม่ต้องเคว้งคว้าง” นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่ามติ ครม. 25 ต.ค.จะมีมาตรการเยียวยาทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยให้ผู้ประกอบการกู้ได้รายละ 1 ล้านบาท ผู้ประกันตนกู้ได้ 5 หมื่น อีกทั้งให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง 6.4 แสนคนๆละ 3,000 บาทในช่วง 3 เดือน พร้อมทั้งจัดหางานชั่วคราว 1.8 หมื่นอัตรา ระยะยาว 9.9 หมื่นอัตรา ขณะที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินให้คนตกงาน 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน แต่ก็ยังไม่มีการพูดถึงแรงงานนอกระบบว่ารัฐจะมีมาตรการชัดเจนในการให้ความช่วยเหลืออย่างไร .