‘บรรยงค์ สุวรรณผ่อง’ ตอบทำไมหลักสูตรสื่อจึงกว้างเกิน ไร้จุดเน้น
"ถ้าสื่อมวลชนไม่ยึดจริยธรรม แม้จะเก่งเพียงใด ก็ไม่ใช่มืออาชีพ เพราะเขาสามารถทำให้สังคมเสื่อมถอย หยิบเรื่องอะไรก็ได้มานำเสนอ ทำได้หมดทุกอย่าง เหมือนอย่างสื่อในปัจจุบัน"
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยการปฏิรูปสื่อ โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยผลงานวิจัยเบื้องต้น ‘บุคลากรสื่อไทย’ ในเวทีเสวนาสาธารณะ ติดอาวุธความรู้สู่การปฏิรูปสื่อให้ยั่งยืน ณ โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาการสร้างบุคลากรสื่อไทย โดยพยายามมองให้ครบทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ (หลักสูตรการศึกษา) กลางน้ำ (นโยบายการคัดกรองบุคลากร) และปลายน้ำ (ปัญหาท้าทายยุคใหม่ สวัสดิการ สวัสดิภาพ)
โดยตอนหนึ่ง พบว่า 90% ของหลักสูตรวิชาชีพสื่อมวลชน มีปรัชญาผลิตบัณฑิตจุดเน้นไปหลายเรื่องมาก เน้นผลิตนักสื่อสารมวลชนที่มีความสามารถแบบภาพกว้าง ไม่ได้เน้นลึกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้สื่อไทยไม่รู้ลึกบางสายงาน เช่น สายการเมือง จึงหันมารับคนจบรัฐศาสตร์ สายเศรษฐกิจ รับคนจบเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้สื่อข่าวแทน เป็นต้น
ขณะที่วัตถุประสงค์ของแต่ละหลักสูตร งานวิจัย ยังพบว่า 90% ของหลักสูตรเน้นการผลิตบัณฑิตให้มีคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณ แห่งวิชาชีพสื่อ
แต่คำถาม คือ เมื่อหลักสูตรในแต่ละสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับการทำงานของสื่อปัจจุบัน ? (อ่านประกอบ:เปิดงานวิจัย (เบื้องต้น) ‘บุคลากรสื่อไทย’ ขยับดีขึ้น หรือไม่ต่างไปจากเดิม)
แลดูเหมือนปรากฏการณ์ผลิตบุคลากรสื่อตั้งแต่ต้นน้ำจะมีปัญหา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ ‘บรรยงค์ สุวรรณผ่อง’ นักวิชาการอิสระ ในฐานะผู้เคยร่างหลักสูตรนิเทศศาสตร์ในหลายสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า หลักสูตรนิเทศศาสตร์เป็นหนึ่งในหลักสูตรสายสังคมที่ได้รับความนิยม ทำให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่งนิยมเปิด ไม่ว่ามหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชน
สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนมีความพร้อม และปฏิบัติตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทุกข้อ ส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเฉพาะ ‘มหาวิทยาลัยราชภัฎ’ นั้น กลับมีความพร้อมแตกต่างกัน ทำให้ต้องใช้หลักสูตรเดียวกันกับที่ยื่นให้ สกอ. คือ นิเทศศาสตรบัณฑิต ซึ่งภายในอาจเรียกกลุ่มวิชา หมวดวิชา เป็นเอกภายใน
โดยจะมีวิชาที่หายไปของนิเทศศาสตรบัณฑิต ซึ่งไม่ใช่วิชาชีพอย่างน้อย 30 หน่วยกิต นั่นคือ วิชาการศึกษาทั่วไป วิชากลุ่มนี้ไม่ว่านิสิตนักศึกษาคณะใดก็ต้องเรียนเหมือนกัน เรียกอีกอย่างว่า วิชาว่าด้วยความเป็นมนุษย์ ส่วนที่เหลือเป็นวิชาพื้นฐาน วิชาบังคับ วิชาเลือก
นักวิชาการอิสระ กล่าวต่อว่า เมื่อมหาวิทยาลัยนั้นไม่มีความพร้อม จึงเลือกผลิตบัณฑิตเป็นนิเทศศาสตรบัณฑิตเฉย ๆ โดยเรียนทุกอย่าง ไม่ลงลึกในสาขาใดสาขาหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปรัชญาของมหาวิทยาลัยว่าเข้าใจปรัชญาของนิเทศศาสตร์มากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม การผลิตบัณฑิตลักษณะนี้ ย่อมเป็น ‘เป็ด’ ขนานแท้ เน้นเฉพาะพื้นฐานการสื่อสาร แล้วค่อยไปปรับกับสื่อในอนาคต
“มหาวิทยาลัยเอกชนเน้นเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง จึงมักเห็นชื่อหลักสูตรนิเทศศาสตร์เป็นชื่อทางเทคนิคของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ อาทิ สาขาสื่อใหม่ (New Media) สาขาสื่อหลอมรวม ( Media Convergence) แต่เทคนิคเหล่านี้ เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีก็ต้องเปลี่ยนแปลง เนื่องจากจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา”
อ.บรรยงค์ มองว่า งานวิจัยเบื้องต้นที่นำเสนอหลักสูตรการเรียนการสอนเน้นภาพกว้าง ไม่ลงลึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องระดับหนึ่ง แต่ยืนยันไม่ใช่ทั้งหมด
ในฐานะผู้อยู่ในวิชาชีพและวิชาการเห็นภาพรวมมาตลอด เพราะมีมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยราชภัฎบางแห่งมีความพร้อม และลงลึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะมีหลักสูตรเดียวหรือหลายหลักสูตร ตราบใดที่บุคลากรพร้อมและเข้าใจปรัชญานิเทศศาสตร์ จะเดินสายผลิตบัณฑิตตามปรัชญาพื้นฐาน ยกตัวอย่าง ด้านวารสารศาสตร์
‘หลักสูตรวารสารศาสตร์’ จะไม่นำอะไรมามั่วด้วย เพราะสาขานี้เน้นขายข้อมูลข่าวสาร โดยผลิตนักวารสารศาสตร์ออกมา เช่น นักข่าวหนังสือพิมพ์ นักข่าววิทยุ นักข่าวโทรทัศน์ นักข่าวออนไลน์ เป็นต้น บัณฑิตกลุ่มนี้ใช้งานได้ เพราะเรียนมาตรงและลึก สามารถทำข่าววิทยุ ข่าวโทรทัศน์ หรือข่าวออนไลน์ ทั้งนี้ ทุกรายวิชาจะมี 1 บทว่าด้วยจริยธรรม
สำหรับกรณีสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับการทำงานของสื่อปัจจุบัน ?นั้น นักวิชาการอิสระ ตั้งคำถามกลับว่า สถาบันการศึกษานั้นมีการสอนจริยธรรมอย่างไร หากเมื่อใดสอนแบบกางตำรา แล้วให้ตีความ นิสิตนักศึกษาก็หลับ ทั้งที่ความจริงต้องสอนโดยหยิบปัญหาขึ้นมาให้เกิดการถกแถลง ไม่มีผิด ไม่มีถูก ว่ากันไปข้างหนึ่ง
อีกปัจจัยหนึ่งทำให้สื่อปัจจุบันถูกสังคมตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ ต้องเข้าใจว่า สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพ มีการกำกับดูแลกันเอง สิทธิขั้นพื้นฐาน คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นจึงไม่จำกัดว่า คนทำงานสื่อมวลชนต้องจบนิเทศศาสตร์
ทั้งนี้ สื่อมวลชนที่มิได้เรียนเรื่องจริยธรรม ซึ่งทุกรายวิชาต้องมี 1 บท จะมาเรียนระหว่างการทำงานหรือจากนโยบายองค์กร ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า จะเคร่งครัดมากน้อย หรือไม่เคร่งครัดเลย
อ.บรรยงค์ ยังกล่าวถึงองค์กรสื่อหลายแห่งรับสมัครนักข่าวหรือพนักงานจากคณะอื่นมากกว่านิเทศศาสตร์ เพราะรู้ลึกเฉพาะด้านมากกว่า
ก่อนยกตัวอย่างสมัยเป็นผู้ดูแลวารสารการเงินการธนาคาร ครั้งนั้นรับสมัครบัณฑิตเศรษฐศาสตร์เข้ามาทำงาน สุดท้ายก็ไม่ได้ข่าว เพราะเขารู้ไปหมดแล้ว ในที่สุดก็ต้องกลับมารับสมัครบัณฑิตนิเทศศาสตร์แทน ด้วยมีพื้นฐานทั่วไปของข่าว สามารถจับประเด็นข่าวได้ ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เกษตร โดยมองเห็นประเด็นข่าวจากสิ่งที่เรียนมา ตั้งแต่คุณค่า องค์ประกอบข่าว สามารถให้น้ำหนัก มองเรื่องใกล้ตัว ความขัดแย้ง ความสนใจ นำมาหาความรู้เพิ่มเติม สอบถามผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง ให้ได้มาของข่าว
นักวิชาการอิสระ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสนับสนุนให้บัณฑิตเป็นผู้ประกอบการสื่อ เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แต่ไม่ใช่ทุกแห่งจะสนับสนุนให้เป็นเถ้าแก่ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยของรัฐที่อยากทำ แต่ทำไม่ได้ หรือยากกว่า ทั้งนี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องมีความพร้อมด้านเครื่องมือ และบุคลากร
สุดท้าย ความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนควรเป็นอย่างไร อ.บรรยงค์ ระบุว่า มีสิ่งเดียว คือ อาชีวปฏิญาณ นั่นคือ ความรับผิดชอบและจริยธรรม รวมกันกลายเป็นมืออาชีพ
ถ้าสื่อมวลชนไม่ยึดจริยธรรม แม้จะเก่งเพียงใด ก็ไม่ใช่มืออาชีพ เพราะเขาสามารถทำให้สังคมเสื่อมถอย หยิบเรื่องอะไรก็ได้มานำเสนอ ทำได้หมดทุกอย่าง เหมือนอย่างสื่อในปัจจุบัน
“ผู้บริโภคมักมองเซเลปในวงการสื่อมวลชนเป็นมืออาชีพเกิดจากอารมณ์ของสังคมและอารมณ์ของคน ที่มักให้ความสำคัญกับความถี่ หน้าตา ค่านิยม โดยไม่ให้ความสำคัญว่า บุคคลนั้นให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงลุ่มลึกเพียงใด ทำให้ดาราหลายคนถูกมองเป็นมืออาชีพโดยปกติ” นักวิชาการอิสระ กล่าวทิ้งท้าย .
ภาพประกอบ:www.childmedia.net