ก้าวไปข้างหน้ากับทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต
“สิ่งที่น่ากังวลสำหรับวันนี้ คือไม่ว่าจะเป็น สถาบันทางเศรษฐศาสตร์ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาบอกว่า เราคงไม่มีโอกาสที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะถึง 5% อีกแล้ว หรือไม่ก็คงโตยาก เนื่องจากเราใช้ทรัพยากรไปอย่างเต็มที่แล้ว ใช้แรงงานเต็มที่แล้ว และวัยแรงงานก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ”
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมศิษย์เก่าโครงการปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาและนิทรรศการ "ศาสตราจารย์สังเวียน ฟอรั่ม 2015" ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายในงานสุดยอดกูรููมาร่วมไขความลับ "ก้าวไปข้างหน้า...กับทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต"
ถึงยุคปฏิรูประบบเศรษฐกิจ
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นกล่าวถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2013 อยู่ที่2.9% และปีถัดมามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 0.7-0.8 % เท่านั้น ดังนั้นในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาหากเทียบกับเศรษฐกิจระดับโลกแล้วถือว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเราค่อนข้างต่ำมาก แม้ในระดับโลกจะลดการคาดการณ์ลงว่าเศรษฐกิจจะโตเพียง 3.3 % และไม่มีประเทศใดที่จะถดถอยไปมากกว่านี้แม้การค้าการลงทุนจะชะงักก็ตาม
นายบรรยง มองเฉพาะภาพรวมในเอเชียเห็นว่า จีนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจแต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 6.6 % ส่วน 5 เสือในอาเซียน ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มีเพียงไทยเท่านั้นที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียง 3 %
ขณะที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อยู่ที่ 4.7% ดังนั้นเห็นได้ชัดว่าเราเป็นตัวถ่วงและรั้งท้ายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
หากถามว่าแล้วเกิดอะไรขึ้น นายบรรยง อธิบายให้ฟังว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็นแบบนี้มา 3 ปีแล้ว
"ถามว่าเป็นเพราะต่างชาติไม่คบค้าสมาคมกับเราใช่ไหม เป็นเพราะการส่งออกติดลบใช่ไหม ก็ต้องบอกว่าการส่งออกเราติดลบ 4 ถ้าเทียบกับอีกหลายประเทศถือว่าเราติดลบน้อยกว่าด้วยซ้ำ"
ส่วนการปรับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ นายบรรยง
ระบุว่า ก็ต้องย้อนมาดูในจุดที่เราอยู่และเป็น
“สิ่งที่น่ากังวลสำหรับวันนี้ คือไม่ว่าจะเป็น สถาบันทางเศรษฐศาสตร์ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาบอกว่าเราคงไม่มีโอกาสที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะถึง 5% อีกแล้ว หรือไม่ก็คงโตยาก เนื่องจากเราใช้ทรัพยากรไปอย่างเต็มที่แล้ว ใช้แรงงานเต็มที่แล้ว และวัยแรงงานก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
เวลานี้คนไทยยอมรับศักยภาพหรือไม่ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยทำได้เพียง 3.3-3.5 % หากยอมรับกว่า ประเทศจะพัฒนาได้ก็คงเป็นปี 2590 ฉะนั้นเราต้องกลับมาดูปัญหารากฐานของเศรษฐกิจว่าแท้จริงแล้วอยู่ตรงไหน สามารถที่จะจัดการอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ว่ามีอะไรก็คอยให้รัฐทำให้ทุกอย่าง รอให้รัฐจัดการแก้ปัญหาแล้วก็ไม่รู้ว่าเขาจะแก้ได้หรือไม่
สิ่งที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ประเทศไทยความจริงแล้วเรามีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง แข็งแกร่ง นั่นคือ เศรษฐกิจมีการกระจายตัวทั้งตลาดการส่งออกที่หลากหลาย ภาคอุตสาหกรรม มีจะประสบปัญหาการชะงักของเศรษฐกิจไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถจัดการได้ดีกว่าหลายประเทศ มีระบบการเงินที่แข็งแรงมีเงินหมุนเวียน องค์การหลักทางด้านเศรษฐกิจมีงบดุลที่แข็งแรง มีศักยภาพในการลงทุน
ดังนั้นหากมองไปในอนาคตประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีโอกาสเกิดวิกฤตทางการเงินน้อยมาก ส่วนในสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ต้องบอกว่า เหมาะมากที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่แท้จริง”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน ชวนย้อนมองไปเมื่อ 10 ปีก่อนว่า เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยโตไม่ถึง 3% ซึ่งต้นเหตุที่แท้จริงมาจากผลิตภาพ เพิ่มน้อยกว่าต้นทุน ศักยภาพเราจึงถดถอยลงเรื่อยๆ มองในทางเศรษฐกิจ 10 ปีก่อน โต 5% และ 5 ปี ถัดมา โต 3% ในช่วงที่เศรษฐกิจเราโตมากๆ เราโตเพราะรัฐบาล โตเพราะสังคมอุปถัมภ์
"10 ปีที่แล้วรัฐวิสาหกิจมีขนาดทรัพย์สิน 4.7 ล้านล้านบาท ปัจจุบัน 12 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินของรัฐมีสินเชื่อ 1.3 ล้านล้านบาท ปัจจุบัน 4.7 ล้านล้านบาท พนักงานลูกจ้างภาครัฐเพิ่มขึ้น 100 % ค่าใช้จ่ายการเพิ่มเงินเดือนเพิ่มขึ้น 300% ภายในระยะเวลา 4 ปี
อีกประการหนึ่งคือหลายคนไม่ได้มองโครงการประชานิยมแบบชอบสร้างความเสียหาย ยกตัวอย่างกรณีจำนำข้าวในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ถ้าเราบอกว่า จำนำข้าวขาดทุน 5 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่า การขาดทุนของจำนำข้าวคือ 5% ของจีดีพี แล้วทราบหรือไม่ว่าการขาดทุนของจำนำข้าวปีนั้นเศรษฐกิจโต 9.5% ถ้าไม่มีขาดทุน 5 แสนล้านบาท จีดีพีก็จะหายไปอย่างน้อย 5% และหากไม่มีการขาดทุนโครงการจำนำข้าว เฉลี่ย 3 ปี อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ปีละ 1.5 % เท่านั้น
“ผมไม่ได้จะมาทำลายความมั่นใจทางเศรษฐกิจ เพราะความมั่นใจเป็นปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจ และต้องมั่นใจในสิ่งที่เป็นจริง ดังนั้นจึงต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ให้มีความเห็นที่กว้างไกล ส่งผลให้ปัญหาที่ที่กล่าวมาข้างต้นลดลงไปได้ อย่าให้การทำงานทุกอย่างเป็นเรื่องของรัฐบาล รวมทั้งต้องลดบทบาท อำนาจ และขนาดของรัฐลงด้วย”
ชี้ความแตกแยกตัวฉุดขีดความสามารถ
ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาการเติบโตค่อนข้างนิ่ง แม้ประเทศไทยจะมีความพร้อมในหลายด้านแต่การเปลี่ยนแปลงของผลการดำเนินธุรกิจไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งอาจจะมีผลมาจากความวุ่นวายทางการเมือง ดังนั้นหากมีการสำรวจปีหน้าสภาพเศรษฐกิจอาจจะดีขึ้นก็ได้ ทั้งนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดคือคนไทยขาดการมีส่วนร่วม เมื่อใดก็ตามที่เรามองสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่างกันเราก็จะขาดการมีส่วนร่วม ความจริงแล้วเราสามารถที่จะแบ่งความแตกต่างทางความคิดได้โดยที่เราไม่แตกแยก เพราะความแตกแยกเป็นตัวฉุดเรื่องการแข่งขันขีดความสามารถ
นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือโครงสร้างพื้นฐานทางที่ยังมีการกระจายไม่ทั่วถึงทั้งเรื่องสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นวันนี้ไทยจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถให้ได้ ไม่มีก็ต้องทำและพัฒนา เนื่องจากเราผ่านการเจริญเติบโตขนาดใหญ่มากว่า 20 ปีแล้ว และ 10 ปีที่ผ่านมาเราก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยเช่นกัน
นายเทวินทร์ กล่าวอีกว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของเราคงที่ ถามว่าเป็นแบบนี้ทำอย่างไรได้บ้าง ในทางทฤษฎีก็ต้องมีข้อมูลที่มากขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นฐานของภาครัฐ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี บริการใหม่ๆ ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดใน 10 ปีที่ผ่านมา คือ ประเทศเกาหลีใต้ในเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เขาพัฒนาจนเติบโตและสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีได้ เพราะลงทุนเรื่องเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากรด้านวิจัย รวมถึงบุคลากรเหล่านั้นก็ต้องมีความเป็นผู้นำ เชี่ยวชาญทั้งเรื่องภาษา จากนั้นก็ดึงความสามารถของคนกลุ่มนี้มาใช้อย่างเต็มที่ เศรษฐกิจก็จะขับเคลื่อนได้
SCG ชี้พัฒนางานวิจัยมีผลดีต่อเศรษฐกิจมากมาย
ขณะที่นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี มองว่า โจทย์ใหญ่ที่จะทำให้ไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางนั้น จะต้องไปแก้ปัญหากับผู้มีรายได้น้อย และนำเรื่องการวิจัยและพัฒนามาใช้ ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น การพัฒนาวิจัยของเขาอยู่ที่ 3 % แต่ไทยใช้งบการวิจัยคงที่อยู่ที่ 0.2 % ของจีดีพี ที่สำคัญในเมืองไทยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำเรื่องการพัฒนาวิจัยมีการลงทุนน้อยมาก และขาดความต่อเนื่อง
"กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งให้ภาคเอกชนเข้าไปนั่งร่วมเป็นกรรมการนโยบายนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมี 2 คน นั่นคือตัวผม และคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ซึ่งตอนนี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ดังนั้นตัวแทนจากภาคเอกชนจึงเหลือผมเพียงผู้เดียว และนอกนั้นเป็นข้าราชการหมด"
เมื่อถามว่า การลงทุนพัฒนาการวิจัยในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน นายกานต์ บอกว่า สิ่งเหล่านี้มีผลต่อเศรษฐกิจมากมายเหลือเกิน เพราะตัวเขาเองต่อสู้ที่จะผลักดันให้รัฐบาลส่งเสริมเรื่องการพัฒนาและวิจัยมานานแต่ก็ยังไม่สำเร็จ กระทั้งรัฐบาลชุดนี้ ถือเป็นรัฐบาลแรกในรอบหลายปีที่ประกาศว่าจะให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีในปี 2016 ถึง 1% จาก0.2 %
และผลการประชุมล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายนวัตกรรมแห่งชาติรัฐบาลตั้งใจให้ภาคเอกชนลงทุนในเรื่องการพัฒนาและวิจัย 70% ในขณะที่รัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นดีลเลอร์หรือประสานงานให้
ในอัตราส่วนของนักวิจัยภาคเอกชนก็ยังขาดอยู่เป็นจำนวนมากเพราะที่ผ่านมารัฐไม่ให้นักวิจัยหรือคณาจารย์ของภาครัฐมาร่วมงานกับเอกชน จำนวนนักวิจัยเมื่อมิถุนายน 2557 ภาครัฐมีนักวิจัย 9,940 คน ขณะที่ภาคเอกชนมีนักวิจัย 740 คนเท่านั้น เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันยินยอมให้นักวิจัยภาครัฐมาทำงานเอกชน ทำให้เรามีนักวิจัยเพิ่มอีก 100 คน นอกจากนี้รัฐยังส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนากับบริษัทต่างชาติเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
“ถ้าจะบอกว่า หากเราไม่พัฒนาเรื่องงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร บอกได้เลยว่า เศรษฐกิจไทยเสร็จแน่นอน เอสซีจีลงทุนในหลายประเทศ ทั้งในเวียดนาม ถ้าสินค้าประเภทเดียวกันถามว่าต้นทุนถูกที่สุดอยู่ที่ไหน อยู่ที่เวียดนามเขาก็ต้องหนีไปที่นั่น แม้ในอดีตอุตสาหกรรมต่างๆที่ผ่านมาเราอาจจะเคยได้เปรียบ แต่วันนี้ความได้เปรียบนั้นลดน้อยลงแล้ว เราจึงจำเป็นต้องพึ่งนวัตกรรม ต้องพึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคเอกชนต้องเปลี่ยนความคิดและเข้าใจบริบท หากเราเข้าใจและทำกันเยอะๆเราก็มีโอกาสที่จะเติบโตและหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง”
ส่วนนพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ยกตัวอย่างในเรื่องการขนส่งทางอากาศที่ไทยได้รับใบเหลืองจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทั้งๆที่ความหวังของภาคธุรกิจไทยคือการท่องเที่ยวแต่เราก็ปล่อยให้ปัญหานี้สะสมมานานจนไม่ผ่านการรับรอง พอมีการเข้ามาตรวจสอบจาก ICAO ก็ไม่บอกให้ประชาชนรู้เรื่องว่า เขาตรวจสอบอะไร อย่างไร ปัญหาที่การบินพลเรือนทิ้งไว้คืออะไร ถ้าหากบุคลากรยังไม่มีการพัฒนา ใช้คนไม่มีความรู้ทำงาน อนาคตเราก็จะไม่ค่อยดีและกลายเป็นวิกฤตในอนาคต
“ความจริงแล้วที่ตั้งของประเทศไทยเป็นที่ตั้งที่ดี อาหารอร่อย ของถูก เราได้เปรียบหลายอย่าง ธุรกิจก็เพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลง แต่เพราะการทำงานที่หละหลวม การตรวจสอบการทำงานของรัฐมีปัญหา จึงทำให้ประเทศเกิดปัญหา”
นพ.ปราเสริฐ มองว่า ปัญหาว่านี้อยู่ตรงไหนควรแก้ตรงนั้นก่อน การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศเป็นเรื่องสำคัญต้องแก้ไขให้เรียบร้อย นอกจากนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจแวดวงการแพทย์ยิ่งมีความจำเป็น โรคจะเกิดเพิ่มขึ้นเราต้องการบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้นเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องใส่ใจ อัตราการเรียนจบหมอในบ้านเรายังไม่เพียงพอต่อประการในประเทศ ขณะเดียวกันเราต้องการเป็น medical hub ของอาเซียน แต่รัฐบาลก็ไม่อนุญาตให้นำแพทย์เข้ามาจากต่างประเทศเพราะเข้ามาก็สอบใบประกอบโรคศิลป์แพทย์ไทยไม่ได้เพราะอ่านภาษาไทยไม่ออก ซึ่งในสมัยสงครามเวียดนามมีแพทย์ไทยไปอยู่เมืองนอกเป็นร้อยคนมีลูกอยู่ต่างประเทศ พอเรียนจบหมอก็อยากกลับมาเมืองไทยแต่เพียงเพราะเขาพูดไม่ชัดก็มาเป็นหมอในไทยไม่ได้
“ฉะนั้นอยากให้เราตีโจทย์ให้แตก และการนำแพทย์ต่างประเทศเข้ามาไม่มีปัญหาอะไร มองอะไรวันนี้ต้องมองให้ไกล โลกนี้มีอยู่ 3 ค่าย ยุโรป อเมริกา และเอเชียแปซิฟิก ประชากรในเอเชียแปซิฟิกคือ 60 % ของประชากรโลก แต่เรามีแพทย์ไม่พอกับความต้องการ หากไม่เปิดกว้างรับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องmedical hub การแพทย์เราก็จะเติบโตไม่ทัน”