หมอชูชัย มั่นใจสปช.โหวตเห็นชอบร่างรธน. ชู 2 จุดแข็ง สร้างประชาธิปไตยฐานราก–เศรษฐกิจ
หมอชูชัย มั่นใจสปช.เทเสียงโหวตเห็นชอบร่างรธน. ชูสองจุดแข็ง สร้างประชาธิปไตยฐานราก–ปชต.ทางเศรษฐกิจ การันตี ปฏิรูปประเทศ เห็นผลแน่ เหตุเขียนล็อกไว้ให้ต้องทำ ย้ำสร้างมาตรการสกัด-ปราบโกง ก้าวหน้ากว่าที่เคยทำมา
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวถึงการประชุมสปช.ในวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย.นี้ว่า จนถึงขณะนี้เชื่อว่า สมาชิกสปช.จะลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีเสียงเห็นชอบเท่าใด
รองประธานกมธ.ยกร่างรธน.กล่าวว่า ถ้าร่างรธน.ฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้ แล้วมีการเปิดพื้นที่ให้กับสมัชชาพลเมืองทั่วประเทศได้ขับเคลื่อนตามกลไกที่เขียนไว้ในร่างรธน. การสนับสนุนเรื่องการปฏิรูปประเทศหลังใช้รธน.จะเกิดผล เพราะเครือข่ายพลเมืองทั่วประเทศจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ โดยที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ก็จะเป็นหลักประกันที่สำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดการปรองดองและการเดินหน้าทำเรื่องปฏิรูปก็จะเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากในร่างรธน.ได้เขียนไว้ว่า เรื่องการปฏิรูป ให้ถือเป็นความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา หน่วยงานของรัฐ และคปป.ที่จะต้องรับผิดชอบ เมื่อเป็นความรับผิดชอบจึงเป็นหน้าที่ เมื่อเป็นหน้าที่แล้วไม่ทำตามหน้าที่ก็เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ จุดนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้การปฏิรูปที่ได้วางกันไว้ในร่างรธน.และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปฯ ที่จะออกมาหลังรธน.มีผลบังคับใช้เดินหน้าไปได้
นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า ร่างรธน.ยังคงยืนยันในหลักการเดิมที่กมธ.ยกร่างรธน.ประกาศมาตั้งแต่ต้นว่า จะต้องเป็นรธน.ที่ทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ ซึ่งในมิติที่ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุที่พูดเรื่องประชาธิปไตยคือผลประโยชน์ของส่วนรวมและประชาชนเป็นใหญ่ ซึ่งพลเมืองเป็นใหญ่ก็คือนัยยะตรงนี้คือผลประโยชน์ประชาชนต้องเป็นใหญ่ ร่างรธน.จึงเน้นจุดสำคัญคือมีการสร้างและส่งเสริมความเป็นพลเมืองให้มีกระบวนการที่ประชาชนมารวมกันเป็นสมัชชาพลเมืองในระดับพื้นที่และระดับอื่นๆ เพื่อมามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการจัดการชุมชน ท้องถิ่นและท้องที่ และการบริหารจัดการอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ถือเป็นการสร้างประชาธิปไตยฐานล่างที่เข้มแข็ง
"อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะเกิดขึ้นเมื่อร่างรธน.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสปช.และการทำประชามติจนมีผลบังคับใช้ก็คือจะเป็นรธน.ที่นำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศ ที่เป็นจุดอ่อนตลอดมา ที่ผ่านมาเราเรียกร้องกันแต่ประชาธิปไตยทางการเมือง และเป็นประชาธิปไตยของนักการเมืองไม่ใช่ประชาธิปไตยของภาคประชาชน ประชาธิปไตยการมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยของฐานล่างหรือท้องถิ่น แต่ครั้งนี้ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยของฐานล่าง ควบคู่ไปกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เกิดการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมมากขึ้น"
นพ.ชูชัย กล่าวว่า นี่จะเป็นครั้งแรกที่มีการเขียนเรื่องการปฏิรูปเพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนที่สุด เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในเรื่องรายได้ ที่ห่างกันมากที่สุดในอาเซียน นักวิชาการบางคนบอกว่าช่องว่างห่างกันติดอันดับโลก โดยเฉพาะช่องว่างเรื่องทรัพย์สินและที่ดิน ช่องว่างนี้เมื่อขยายฐานห่างขึ้นเรื่อยๆ ความสงบสุข ความสันติสุขก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ด้วยมาตรการกลไกที่เราจะปฏิรูปจะทำให้ช่องว่างนี้ลดลง
รองประธานกมธ.ยกร่างรธน.กล่าวถึงจุดแข็งสองเรื่องของร่างรธน.ฉบับนี้ ที่สร้างการเมืองภาคพลเมืองผ่านกลไกต่างๆ เช่น สมัชชาพลเมือง การสร้างเสริมความเป็นพลเมือง สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย ทำให้ประชาธิปไตนมีรากฐานที่แข็งแรง และเรื่องที่สองคือการปฏิรูปประเทศไทยทั้งระบบในทุกด้าน รวมทั้งปฏิรูปให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สองเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญของร่างรธน.ฉบับนี้ ยิ่งเมื่อมีการเขียนบัญญัติว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบ มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามที่เขียนไว้ในร่างรธน.ด้วย หากไม่ทำก็ถือว่าไม่ทำตามหน้าที่ ประชาชนก็สามารถใช้ช่องทางต่างๆ ทำให้กลไกต่างๆ เดินหน้าไปสู่การปฏิรูปประเทศได้
นพ.ชูชัย กล่าวด้วยว่า เมื่อดูเหตุปัจจัยทั้งหมดดังกล่าว และจากเหตุปัจจัยต่างๆ จึงเชื่อว่าการปฏิรูปประเทศ หลังใช้ร่างรธน.ฉบับนี้จะเกิดผลขึ้น โดยเฉพาะ 5 ปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุน คือ
1.ในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยร่วมกันสร้างองค์ความรู้การปฏิรูปด้านต่างๆ ถ้าดูจะพบว่าค่อนข้างครบถ้วน โดยมีสปช.ได้นำมาต่อยอด นำมาสร้างและพัฒนาขึ้นใหม่ ทำให้ได้องค์ความรู้ที่ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น
2.สปช.ได้นำองค์ความรู้มาสังเคราะห์จนกลายเป็นเครื่องมือที่จะนำไปปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนวคิดมาตรการต่างๆ หรือเสนอร่างกฎหมายต่างๆ เครื่องมือเหล่านี้นำไปสานต่อการปฏิรูปต่อได้
3.ร่างรธน.บอกว่าให้มีการเปิดพื้นที่สมัชชาพลเมืองทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งหากสมัชชาพลเมืองกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ถ้าได้จับมือกัน เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น จะมีพลังในการขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูปประเทศได้มาก
4.มีพลเมืองหลายล้านคนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแผ่นดินนี้ ผมคิดว่านับสิบล้านคนจากคนกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ แม้จะมีความเชื่อทางการเมืองไม่เหมือนกันแต่ต้องการปฏิรูปเหมือนกัน
5.มีการสร้างกลไกคือคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง ที่จะเป็นหลักประกันให้การปฏิรูปเดินหน้าไปได้ ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านประชามติ
รองประธานกมธ.ยกร่างรธน.ยังได้กล่าวชี้แจงกรณี นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ออกมาระบุว่าร่างรธน.ฉบับนี้ มีการจำกัดอำนาจ ป.ป.ช.จากเดิมที่ประชาชนสามารถร้องเรียนการทุจริตในระดับ ผอ.กองหรือเทียบเท่ามายังป.ป.ช.ได้ แต่ร่างฉบับนี้ให้ป.ป.ช. มาไต่สวนเฉพาะระดับหัวหน้าหน่วยงานรัฐ ทำให้ป.ป.ช.จะรับคำร้องเรียนได้เฉพาะกรณีปลัดกระทรวง อธิบดี หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะกระทบต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะทำให้สาวไปไม่ถึงผู้บงการใหญ่
ประเด็นนี้ นพ.ชูชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระบวนการทำงานของป.ป.ช.ล่าช้ามาก เพราะแบกรับภาระเยอะ แค่นักการเมืองท้องถิ่นอย่างเดียวก็เป็นแสนคนแล้ว การที่ในร่างรธน.บอกว่า ถ้าระดับต่ำกว่าอธิบดีลงมาให้เป็นหน้าที่การตรวจสอบของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) นั้น ไม่ได้หมายถึงว่า พอรับเฉพาะผู้บริหารระดับสูงแล้วป.ป.ช.จะไปสอบสวนเพื่อสาวตัวบงการทุจริตอะไรไม่ได้ เพราะในร่างรธน.ได้มีการเพิ่มบทบัญญัติไว้ว่าให้รวมไปถึงคนที่สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวตามที่ป.ป.ช.สอบสวนด้วย เรื่องนี้มีการบันทึกไว้ในเจตนารมณ์การร่างรธน.ของกมธ.ยกร่างรธน.ชัดเจนว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าราชการระดับล่าง หรือเอกชน หลุดพ้นจากการกระทำความผิด หากพบว่ามีส่วนในการร่วมกระทำความผิดไม่ว่าจะในฐานะผู้บงการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนก็ตาม
นอกจากนี้ มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ใหม่ให้ ป.ป.ช. อีก 4-5 ประการ รวมทั้งให้ กรรมการ ป.ป.ช คงมีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปีเช่นเดิม อีกทั้งเตรียมยกร่างกฎหมายให้ ปปท. เป็นอิสระปลอดจากการเมือง เพื่อให้ทำงานควบคู่กับ ป.ป.ช ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เป็นการขยายความอำนาจป.ป.ช.ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเวลาไปยกร่างพ.ร.บ. ประกอบรธน.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่จะออกมาเมื่อรธน.มีผลบังคับใช้ควรเชิญตัวแทนป.ป.ช.มาร่วมด้วย ร่างรธน.ฉบับนี้มีเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา”นพ.ชูชัยระบุ
นพ.ชูชัย กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้มีการตั้งศาลคดีทุจริต เราก็มีการขานรับ แต่ช่วงแรกก็ให้เป็นการเปิดแผนกคดีในศาลไว้ก่อน คือการให้มีแผนกคดีทุจริตในศาลอาญา แต่ให้ใช้ระบบไต่สวน แล้วพอผ่านไปสี่ปี จะมีการประเมินอีกทีจากตัวชี้วัดต่างๆ เช่น จำนวนคดี ความเร็วในการพิจารณาคดี ประสิทธิผลที่เกิดขึ้น เช่น การสามารถป้องกันปราบปรามการทุจริตอย่างได้ผล จากนั้นก็จะมีการให้เปิดเป็นศาลชำนัญพิเศษคือศาลคดีทุจริต เรื่องนี้มีการเขียนไว้บทเฉพาะกาล อีกเรื่องหนึ่งคือแผนกคดีวินัยการเงิน การคลัง งบประมาณ ในศาลปกครอง ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เงินแผ่นดินไปแบบไม่รับผิดชอบก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อแผ่นดิน
พร้อมกันนี้ นพ.ชูชัย ยกตัวอย่างด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ก็เคยมีกรณี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือเตือนรัฐบาลก่อนหน้านี้หลายครั้งว่า การทำโครงการนโยบายจำนำข้าว มีความไม่โปร่งใส มีการทุจริต แต่รัฐบาลเวลานั้นไม่สนใจ แต่ร่างฉบับนี้เขียนไว้ว่า ต่อไปนี้รัฐบาลชุดไหนเข้ามาแล้วใช้นโยบายประชานิยมโดยไม่มีความรับผิดชอบแล้วก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อเงินแผ่นดิน วิญญูชน สามารถดำเนินการให้สตง.หรือป.ป.ช.พิจารณาตรวจสอบแล้วยื่นเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณา โดยหากศาลปกครองมีคำสั่งอย่างใดออกมาแล้วจนทำให้โครงการหรือนโยบายนั้นเดินต่อไปไม่ได้ ก็จะไม่เกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อเงินแผ่นดิน
รวมถึงการที่ร่างรธน.เขียนให้ผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น จะต้องแสดงสำเนาการยื่นเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปีในช่วงก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งถือเป็นมาตรการที่สำคัญกว่า การแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้คนที่ไม่โปร่งใสก็อาจตัดสินใจไม่สมัครรับเลือกตั้ง หรือหากมีการสมัครไปแล้วได้รับเลือกตั้งจากประชาชน อันนี้จะเป็นหลักฐานที่สำคัญ ถ้าแจ้งเป็นเท็จหรือไม่ยื่น ก็ต้องพ้นสภาพจากการเป็นนักการเมือง ส.ส.-สว. รัฐมนตรี
“มาตรการในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่เขียนไว้ในร่างรธน.ให้มีแผนกคดีสองศาลดังกล่าว ขยายอำนาจป.ป.ช. และปปท.ที่อิสระ อีกทั้งยังมีกระบวนการตรวจสอบก่อนจะเข้าสู่อำนาจและหลังเข้าสู่อำนาจเข้มข้นมาก จึงเป็นร่างรธน.ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปขจัดคอรัปชั่นครั้งใหญ่ “รองประธาน กมธ.ยกร่างรธน.กล่าวทิ้งท้าย