"มารา ปาตานี" กับ "เบอร์ซาตู" และความแตกต่างกับการพูดคุยสันติภาพปี56
การแถลงข่าวของ "มารา ปาตานี" ที่โรงแรม Primeraในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในฐานะองค์กรตัวแทนในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า "มารา ปาตานี" คือใคร เกี่ยวข้องอย่างไรกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"มารา ปาตานี" หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "สภาซูรอแห่งปาตานี" เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐจำนวน 6 กลุ่มที่เห็นพ้องร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับรัฐบาลไทย ภายใต้การอำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย
6 กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ประกอบด้วย กลุ่มบีอาร์เอ็น เฉพาะปีกที่เห็นด้วยกับการเจรจา หรือที่ใช้ชื่อว่า "บีอาร์เอ็น แอคชั่น กรุ๊ป" กลุ่มบีไอพีพี กลุ่มเจ็มเอ็มไอพี และพูโล 3 กลุ่มย่อย คือ พูโลกลุ่มอาวุโส พูโลเก่า นำโดย นายซัมซูดิง คาน และ พูโลใหม่ นำโดย นายกัสตูรี มาห์โกตา
แม้การตั้งองค์กรตัวแทน หรือ "องค์กรร่ม" ขึ้นมาลักษณะนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในอดีตเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ก็เคยมีการตั้ง "เบอร์ซาตู" ขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว ภายใต้การนำของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน แต่ "มารา ปาตานี" ดูจะมีโครงสร้างที่ชัดเจนกว่า และได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้เห็นต่างที่ตัดสินใจเข้าร่วมมากกว่า "เบอร์ซาตู"
โครงสร้างของ "มารา ปาตานี" มี นายอาวัง ยาบะ จากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นประธาน และมี นายสุกรี ฮารี หรือ อุสตาซสุกรี ลำใหม่ จากกลุ่มบีอาร์เอ็นเช่นกัน เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย โดยทั้งคู่เคยร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2556 ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งครั้งนั้นมี พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลไทย ส่วนฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐมี นายฮัสซัน ตอยิบ จากขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้า
ความต่างของ "มารา ปาตานี" และกระบวนการพูดคุยสันติสุขในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับกระบวนการพูดคุยสันติภาพในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2556 ก็คือ
1.กระบวนการพูดคุยสันติสุขมีการตั้งคณะทำงาน 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับพื้นที่ มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน แตกต่างจากครั้งปี 2556 ที่มีการเปิดตัวและลงนามในกระบวนการพูดคุยสันติภาพก่อนที่จะมีการตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการ
2.คณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาล มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมครบทุกหน่วย และมีอำนาจตามกฎหมาย
3.การพูดคุยเน้นกระบวนการปิดลับ ก่อนเปิดตัวเมื่อมีความชัดเจน ผิดกับเมื่อปี 2556 ที่เปิดตัวต่อสื่อมวลชนก่อนเป็นลำดับแรก (แม้จะมีกระบวนการปิดลับก่อนเช่นกัน แต่เหมือนเป็นการพูดคุยนอกรอบมากกว่า)
4.คณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่าง เมื่อปี 2556 กระทำในนามบีอาร์เอ็น ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ไม่ยอมเข้าร่วม และข้อเรียกร้องก็เป็นของบีอาร์เอ็นเป็นหลัก ขณะที่ครั้งนี้กระทำผ่าน "องค์กรตัวแทน" อย่าง "มารา ปาตานี"
อนาคตและความสำเร็จของการพูดคุยเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัย อีกทั้งยังจำเป็นต้องใช้เวลาอีกมาก
และ "เวลา" นั่นแหละจะเป็นเครื่องพิสูจน์ทุกสิ่งทุกอย่าง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แกนนำ มารา ปาตานี โบกมือให้สื่อมวลชนในการแถลงข่าวที่มาเลเซีย
ภาพโดย : อับดุลเลาะ หวังหนิ