ทีมข่าวอิศราแจงนัยแห่งข้อเขียน "เปิดเบื้องหลังชายถูกรวบโยงบึ้ม..."
"ทีมข่าวอิศรา" ขอชี้แจงเนื้อหาของบทความที่ชื่อ "เปิดเบื้องหลังชายถูกรวบโยงบึ้ม ที่แท้เคยเคลื่อนไหวช่วยอุยกูร์ในไทย" ซึ่งนำเสนอบนเว็บไซต์เมื่อวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2558 และมีประเด็นที่ถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ขยายต่ออย่างกว้างขวาง
ชายที่ถูกพูดถึงในเรื่อง คือ ชายชาวต่างชาติวัย 28 ปีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จับกุมได้ที่อพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งย่านหนองจอก เมื่อวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พร้อมยึดอุปกรณ์ที่สามารถประกอบเป็นระเบิดได้ในห้องพักที่อยู่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งเล่มพาสปอร์ตของประเทศหนึ่งจำนวนมาก จึงถูกระบุจากเจ้าหน้าที่ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ หรือท่าเรือสาทร เมื่อวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม และวันอังคารที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา
1.บทความชิ้นนี้ "ทีมข่าวอิศรา" ได้ข้อมูลมาจากคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยว่า ชายคนที่ถูกจับคือคนที่วิ่งเต้นช่วยเหลือชาวอุยกูร์ที่ถูกจับในไทยในข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายซึ่งถูกคุมตัวอยู่ตามห้องกักต่างๆ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา
2.การทำงานของคนคนนี้ที่ผ่านมา เป็นการทำงานแบบเปิดหน้า ไม่ได้ปิดลับ ทำให้บางกลุ่มบางคนที่ทำงานช่วยเหลือชาวอุยกูร์ในประเทศไทยก็รู้จักหรือเคยเห็นหน้า
3.จาก 2 ข้อแรก ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลหรือกลุ่มคนในนามองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ทำงานช่วยเหลือชาวอุยกูร์ ไปรู้จักกับมือระเบิด หรือรู้เห็นกับการระเบิด อีกทั้งจนถึงปัจจุบันชายคนนี้ก็ยังไม่ได้ถูกตั้งข้อหาใดๆ ยังคงมีสถานะเป็นผู้ต้องสงสัย (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อ้างในการแถลงข่าวว่ามีการตั้งข้อหาครอบครองยุทธภัณฑ์แล้ว แต่ยังไม่เคยมีการเผยแพร่หมายจับต่อสาธารณะ)
4.การเคยเห็นหน้ากัน หรืออาจพูดคุยกันบ้าง ไม่ได้แปลว่าต้องร่วมก่อเหตุร้าย หรือร่วมกันทำระเบิด ข้อเขียนดังกล่าวมีเจตนาเพียงเปิดมุมให้คิดพิจารณากันต่อว่า คนที่ทำงานแบบเปิดแบบนี้ จะเกี่ยวข้องกับขบวนการระเบิดหรือ และอีกมุมหนึ่งคือถ้าเขาเกี่ยวกับขบวนการลอบวางระเบิด ก็แสดงว่ามูลเหตุการระเบิดอาจเป็นเรื่องการส่งชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนให้รัฐบาลจีนเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ตามที่ "ทีมข่าวอิศรา" ตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่คืนแรกหลังเกิดระเบิด
5.ขณะนี้มีเพื่อนสื่อมวลชนหลายแขนง นำเนื้อหาบางส่วนในบทความไปขยายประเด็นต่อ ทำนองว่าคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทยรู้จักผู้ต้องสงสัยรายนี้ โดยนัยหมายถึงการกล่าวหาบุคคลหรือองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนว่ารู้จักกับมือระเบิด หรือเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการระเบิด ซึ่งแท้จริงแล้วข้อเขียนไม่ได้บอกอย่างนั้น เพียงแต่เปิดข้อมูลบางแง่มุมเพื่อตั้งประเด็นให้สังคมช่วยกันคิดต่อตามข้อ 4
6.เพื่อนสื่อมวลชนบางรายการนำเนื้อหาในบทความไปอ่านต่อ แต่อ่านไม่ละเอียด บางส่วนไปตีประเด็นตามข้อ 5 และอ้างตามย่อหน้าสุดท้ายของข้อเขียนว่า ชายคนที่ถูกจับเคยไปพบกับองค์กรภาครัฐที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งๆ ที่บทความระบุถึง "เครือข่ายชาวอุยกูร์ที่เกี่ยวข้อง" เท่านั้น ไม่ได้จำกัดวงแบบแคบว่าต้องเป็นชายที่ถูกจับ
6.องค์กรของรัฐที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่อ้างถึงในบทความ อาจไม่ได้มีความหมายเจาะจงถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามที่มีการตีความขยายประเด็นกัน เพราะองค์กรของรัฐที่ทำงานด้านนี้ก็มีหลายแห่ง สังกัดอยู่ในหลายกระทรวง และบางส่วนก็มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ชายต้องสงสัยที่ถูกจับรายแรก ถูกนำไปเปรียบเทียบกับชายเสื้อเหลือง ผู้ต้องหาลอบวางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์