ยื่นรองนายกฯ-รมว.คลัง สอบ 'บิ๊ก ธพว.' ปล่อยกู้ร้านอาหารลูกชายที่ หัวหิน
ยื่นรองนายกฯ-รมว.คลัง สอบ"บิ๊ก ธพว."ปล่อยกู้ 4 กรณี โรงสีข้าว จ.ศรีสะเกษ รวมร้านอาหารลูกชายที่ อ.หัวหิน - ด้าน"สาลินี"ปธ.บอร์ดปัดให้ความเห็น ชี้มีกระบวนการตรวจสอบตามปกติ เรื่องไหนมีปัญหาว่าตามระเบียบ อยากให้โฟกัสพันธกิจงานในหน้าที่จะดีกว่า
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อ 28 ส.ค.58 มีผู้ส่งหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ตรวจสอบผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอี แบงก์ ใน 4 ประเด็นคือ
1.กรณี ธพว.อนุมัติสินเชื่อให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรายหนึ่งซึ่งทำธุรกิจร้านอาหารใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห้างหุ้นส่วนฯรายนี้จดทะเบียนเมื่อ 21 มี.ค.56 ทุน 5 แสนบาท มีลูกชายของผู้บริหารใหญ่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในวงเงิน 1 ล้านบาท และถูกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรวจพบว่าเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานของสินเชื่อของเอกชนรายดังกล่าวอาจไม่ถูกต้อง ห้างหุ้นส่วนฯจึงรับปิดบัญชีเงินกู้ทันที
2.กรณี ธพว.อนุมัติสินเชื่อรีไฟแนนซ์ให้แก่ผู้ประกอบการ โรงสีข้าวที่ จ.ศรีสะเกษ วงเงิน 125 ล้านบาท เมื่อ 20 ส.ค.57 โดยผู้ประกอบการรายดังกล่าวเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหามาจากธนาคารธนชาต ธพว.ปล่อยสินเชื่อรีไฟแนนซ์ให้ 94 ล้านบาท และขอวงเงินเพิ่มอีก 31 ล้านบาท หลังจากปล่อยสินเชื่อแล้ว ลูกหนี้รายดังกล่าวไม่ชำระสินเชื่ออีกเลย
3.กรณีลดหนี้เงินต้นให้แก่ลูกหนี้ กิจการโรงแรมที่ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ผู้บริหารมีความใกล้ชิดกับผู้ขอซื้อกิจการ ลูกหนี้ภาระหนี้เงินต้น 50.26 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับรู้รายได้ 4.51 ล้านบาท ดอกเบี้ยไม่รับรู้รายได้ 52.93 ล้านบาท รวม มีภาระหนี้ทั้งสิ้น 108.5 ล้านบาท ฝ่ายบริหารหนี้ของธนาคารพยายามให้ชำระหนี้ไม่ต่ำกว่ายอดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรับรู้รายได้ ประมาณ 55 ล้านบาท ขณะที่ผู้บริหารใหญ่ของธนาคารกลับให้ชำระเพียง 45 ล้าน
4.กรณีลูกค้าของธนาคารฯรายหนึ่ง ประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ เกิดความขัดแย้งส่วนตัว กับผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร อันเนื่องมาจากการจัดตั้ง“คริสจักร” ต่อมาผู้บริหารธนาคารได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนกรรมการตัวแทนของ ธพว.ที่เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทของลูกค้า (ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง ธพว.กับลูกค้าธนาคารฯ) และยื่นฟ้องลูกค้าว่ากระทำผิดสัญญาร่วมทุน ทั้งที่ลูกค้าอยู่ระหว่างทยอยคืนเงินร่วมทุนของ ธพว.พร้อมดอกเบี้ยตามข้อตกลง เหลือเพียง 2 งวดสุดท้าย แต่กลับมีการสั่งห้ามธนาคารรับชำระสินเชื่อ เพื่อเป็นเหตุุให้ฟ้องร้องลูกค้า ทำให้ลูกค้าต้องนำเงิน 2 งวดสุดท้ายไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์ และยื่นฟ้อง ธพว.ให้โอนหุ้นคืน ต่อมาผู้บริหารธนาคารที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็ถูกย้ายพ้นหน้าที่
ขณะที่ นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า "เรื่องปัญหาการปล่อยสินเชื่อต่างๆ เป็นเรื่องที่ธนาคารมีการตรวจสอบตามขั้นตอนอยู่แล้ว เรื่องไหนมีปัญหาเมื่อสอบสวนได้ผลสรุปก็ดำเนินการตามขั้นตอนไป ไม่มีการเหวี่ยงแห่ และให้ความเห็นธรรมกับทุกฝ่าย"
เมื่อถามว่า ได้รับรายงานกรณีการปล่อยสินเชื่อ 4 กรณีแล้วหรือยัง โดยเฉพาะกรณี หจก.แห่งหนึ่งที่มีลูกชายของผู้บริหารใหญ่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นางสาลินี ตอบว่า “ดิฉันไม่ได้เข้าไปลงลึกในรายละเอียดอะไร แต่ที่ผ่านมาหลายเรื่องที่พบปัญหาก็มีการดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนปกติอยู่แล้ว บางเรื่องถ้ามันไม่มีปัญหาอะไร ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร แต่อยากให้ไปโฟกัสเรื่องงานตามพันธกิจของ ธพว.จะดีกว่า”
ส่วนกรณีการ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการปล่อยสินของธนาคารให้แก่บริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน รวม 195 ล้านบาท ในช่วงปี 2552-2553 นั้น นางสาลินี ตอบว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเรื่องจะได้ข้อยุติเมื่อไร เพราะอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน
(อ่านประกอบ : ใครเป็นใคร? 21 บอร์ด-ผู้บริหาร ธพว.ถูกแจ้งข้อกล่าวหากรณีปล่อยกู้ บ.ไรซิง 195 ล.)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google