นักวิชาการหวั่นปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน ปลอดดอกเบี้ย ทำไม่ดีกระทบหนี้ครัวเรือน
ครม.เห็นชอบมาตรการ กระตุ้น ศก.ระยะสั้น วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ‘ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา’ ห่วงปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก เสี่ยงทำชาวบ้านเข้าใจเป็นเงินฟรี แนะเร่งสร้างกลไกกำกับ ชัดเจนกู้เพื่อสร้างรายได้หรือบริโภค มิฉะนั้นกระทบหนี้ครัวเรือน เผยนโยบายมาช้าเกินไป ทั้งที่ประชานิยมบางอย่างจำเป็น
ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 3 มาตรการ วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ 0% เป็นเวลา 2 ปี ผ่านกองทุนหมู่บ้าน 2.วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรแบบให้เปล่าตำบลละ 5 ล้านบาท และ 3.เร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ในงบประมาณประจำปี 2559 รวม 1.6 หมื่นล้านบาท เเละอีก 2.4 หมื่นล้านบาท เปิดให้ส่วนราชการของบประมาณโครงการขนาดเล็กเพิ่มเติม
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า มาตรการทั้งหมดจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยปี 2558 โตได้ 3% ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมีความกังวล โดยเฉพาะการปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยผ่านกองทุนหมู่บ้าน จะเอื้อให้เกิดหนี้เสียหรือหนี้ครัวเรือนมากขึ้น หากชาวบ้านไม่นำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ก่อให้เกิดรายได้ และจะนำเงินที่ไหนมาใช้คืนกองทุนฯ ตามแผนที่รัฐบาลคาดหวังไว้
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า รัฐบาลนำเงินเข้าสู่สถาบันการเงินของรัฐ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เพื่อปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน โดยรัฐจะอุดหนุนดอกเบี้ยให้ใน 2 ปีแรก จากระยะเวลาการกู้ 7 ปี จำเป็นต้องคิดว่า จะกำกับและควบคุมการใช้เม็ดเงินเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ในการจ้างงานในท้องถิ่นอย่างไร มิฉะนั้นชาวบ้านจะเข้าใจได้ว่า เป็นเงินฟรีที่รัฐบาลมอบให้และมีหลักเกณฑ์ไม่แตกต่างจากเดิม จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมด้วย
“ที่ผ่านมาการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านแต่ละพื้นที่มักประสบปัญหา กรรมการกองทุนฯ ปล่อยเงินกู้เฉพาะเครือญาติหรือคนรู้จัก ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหลักการกู้เงินใหม่ เพื่อให้เงินก้อนใหม่กระจายถึงมือชาวบ้าน แทนการกระจุกเฉพาะคนใกล้ชิดของกรรมการกองทุนฯ”
ทั้งนี้ การปล่อยกู้ต้องชัดเจนจะนำเงินเพื่อลงทุนหรือบริโภค หากรัฐบาลนำไปลงทุน ประเด็น คือ การกำกับให้เงินไปสู่การลงทุนจริง และทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิผล เพราะกังวลว่า หากนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระบวนการบริโภคของชาวบ้าน ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ประมาณ 86% แล้ว อย่างไรก็ตาม การปล่อยกู้ครั้งนี้ย่อมทำให้มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นแน่นอน
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาไม่เฉพาะภายในประเทศ แต่ยังเกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็น การตกต่ำของศักยภาพการผลิต การแข่งขันส่งออก ซึ่งเราจะกระตุ้นส่งออกรูปแบบเดิมไม่ได้แล้ว นอกจากหันไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลผลิต ยกตัวอย่าง การสร้างนวัตกรรม แต่คงไม่สามารถทำสำเร็จภายในปีเดียว อย่างไรก็ตาม ต้องมองภาพรวมด้วย ไม่ว่าจะเป็น การตลาด การเพิ่มศักยภาพการผลิต และนโยบายของรัฐ
“ตั้งคำถามว่า การช่วยเหลือเกษตรกร โดยการแจกเงิน เป็นการซ้ำเติมทำให้เกษตรกรไม่หันมาสนใจการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรหรือไม่” ศ.ดร.สกนธ์ กล่าว และว่ามาตรการระยะสั้นของรัฐบาลมาช้าเกินไป จึงไม่รักษาเศรษฐกิจอย่างที่คิดก็ได้ ทั้งที่นโยบายประชานิยมบางอย่างจำเป็น หากมีข้อจำกัด ไม่ใช่จะไม่ดีทั้งหมด .
ภาพประกอบ:ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา-เว็บไซต์ไทยพับลิก้า