“วิชา”หวั่น กก.ยุทธศาสตร์ฯไร้ระบบตรวจสอบ-รธน.ใหม่จำกัดอำนาจ ป.ป.ช.
“วิชา” หวั่นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯไร้ระบบตรวจสอบ ยันเทียบเคียงตอน สปช. ยื่นทรัพย์สินไม่ได้ เหตุทำหน้าที่ต่างกัน ชี้ รธน.ใหม่ จำกัดอำนาจ ป.ป.ช. เหลือแค่ไต่สวนระดับหัวหน้าหน่วยงานรัฐ กระทบการป้องกัน-ปราบปรามทุจริต
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ระบุถึงอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง (คปป.) ว่า มีคำถามถึงกรณีนี้เช่นกันว่าจะมีกลไกตรวจสอบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯหรือไม่ อย่างไรก็ดีจะนำกลไกใหม่เหล่านี้มาเทียบเคียงกับตอนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ ป.ป.ช. เคยวินิจฉัยว่า ไม่ต้องแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ไม่ได้ เนื่องจากทำหน้าที่ต่างกัน
นายวิชา กล่าวอีกว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 254 (3) นั้น มีการจำกัดอำนาจ ป.ป.ช. จากเดิมที่ประชาชนสามารถร้องเรียนการทุจริตในระดับ ผอ.กองหรือเทียบเท่า มาเป็นไต่สวนเฉพาะระดับหัวหน้าหน่วยงานรัฐเท่านั้น เท่ากับว่า ป.ป.ช. จะรับคำร้องเรียนได้เฉพาะกรณีปลัดกระทรวง อธิบดี หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะกระทบต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยิ่งและทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ทำให้ระบบการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเสียหาย ไม่สามารถใช้เรื่องการกันคนตัวเล็กตัวน้อยไว้เป็นพยานได้ ซึ่งจะทำให้สาวไปไม่ถึงผู้บงการใหญ่ แตกต่างจากอำนาจเดิมที่ ป.ป.ช. มีอยู่ แต่ในขณะนี้คงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้แล้ว เพราะอยู่ในขั้นที่ สปช. จะมีมติรับหรือไม่รับร่างทั้งฉบับ เหลือเพียงแค่การเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้นว่าจะเขียนอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปราบปรามการทุจริตมากกว่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องยากเนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้ อย่างไรก็ดีได้รับคำชี้แจงว่าจะมีการยกระดับคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นองค์กรอิสระเหมือนกับ ป.ป.ช. ซึ่งก็ต้องคอยดูกันต่อไป
ส่วนกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว โดยให้อุทธรณ์ในข้อกฎหมายได้ด้วยและเปลี่ยนผู้พิจารณาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นการตั้งองค์คณะมาพิจารณาใหม่นั้น นายวิชา กล่าวว่า จะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อระบบยุติธรรม ที่เคยใช้บรรทัดฐานทางกฎหมายโดยยึดคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก แต่กรณีนี้ถ้าองค์คณะของศาลฎีกาที่ตั้งขึ้นใหม่ มีความเห็นข้อกฎหมายที่แตกต่างไปจากองค์คณะเดิม จะทำให้เกิดปัญหาตามมาว่าจะยึดบรรทัดฐานใด