อัยการยัน“พานทองแท้-พวก”ไม่ใช่ จนท.รัฐ ชนวนไม่ฟ้องปมรับของโจรคดีกรุงไทย
อัยการยัน ไม่สั่งฟ้อง “พานทองแท้-คนใกล้ชิดทักษิณ” ข้อหารับของโจร ในคดีกรุงไทยปล่อยกู้กฤษฎามหานคร เหตุ คตส.-ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนคดี เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ได้เป็นตัวการหรือสนับสนุนกระทำ แต่ทำผิดเมื่อเกิดเหตุไปแล้ว ไม่รู้ปม “โอ๊ค” คืนเงิน
จากกรณีอัยการสูงสุด (นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อสส. ขณะนั้น) มีความเห็นไม่สั่งฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวนางพจมาน ชินวัตร ภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ (ขณะนั้น) นายวันชัย หงส์เหิน สามีนางกาญจนาภา และนายมานพ ทิวารี บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุกผู้บริหาร พนักงานธนาคารกรุงไทย รวมถึงเอกชนจำนวน 27 ราย และให้ชดใช้เงินคืนกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ (คตส.) มีความเห็นให้ส่งฟ้องบุคคลทั้ง 4 ดังกล่าวในข้อหารับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 เนื่องจากในสำนวนของ คตส. ตรวจสอบพบว่า มีการโอนเงินส่วนหนึ่งที่ธนาคารกรุงไทย ปล่อยสินเชื่อให้กับเครือกฤษฎามหานครเข้าบัญชีนายพานทองแท้นั้น
(อ่านประกอบ : จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”)
นายวินัย ดำรงมงคลกุล ผู้ตรวจการอัยการ แถลงถึงกรณีนี้ว่า คดีนี้ คตส. มีหนังสือลงวันที่ 16 มิ.ย. 2551 ขอให้ อสส. ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกรวม 27 คน ฐานร่วมกันหรือสนับสนุนในการกระทำความผิดอันเข้าข่ายเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารกรุงไทย ผู้ถือหุ้น และประชาชน ผู้หนึ่งผู้ใด และ/หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทย กระทำความผิดหน้าที่ของตนโดยกระทำการและ/หรือไม่กระทำการโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของธนาคารกรุงไทย ผู้ถือหุ้น ประชาชน ผู้ฝากเงินและ/หรือให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด นอกจากนี้ยังขอให้ดำเนินคดีกับนายพานทอง นางกาญจนาภา นายวันชัย และนายมานพ ในความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 นั้น
นายวินัย กล่าวว่า อสส. พิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่ คตส. ให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ กับพวกรวม 4 คน ฐานรับของโจร ซึ่งเป็นการกระทำความผิดหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 27 คน ในคดีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้กระทำเสร็จสิ้นไปแล้ว และนายพานทองแท้กับพวก มิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องแยกฟ้องต่อศาลอาญาที่มีเขตอาจต่อไป ซึ่ง อสส. เห็นว่า คตส. มีอำนาจหน้าที่ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 และให้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่นายพานทองแท้กับพวก มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมิได้เป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด จึงไม่อาจเป็นผู้ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ได้
“คตส. จึงไม่มีอำนาจไต่สวนนายพานทองแท้กับพวก และไม่อาจมีความเห็นในความผิดฐานรับของโจร โดยหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประสงค์จะดำเนินคดีกับนายพานทองแท้กับพวก ก็ควรที่จะต้องร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแยกต่างหากจากคดีนี้” นายวินัย กล่าว
นายวินัย กล่าวอีกว่า ในการดำเนินคดีกับนายพานทองแท้กับพวก ฐานรับของโจรนั้น ในสำนวนการตรวจสอบไต่สวน ไม่ปรากฏบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ ในฐานความผิดดังกล่าว ดังนั้น หากจะมีการดำเนินคดีจะต้องจัดให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้การแจ้งข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจะต้องดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย และได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อยุติในการดำเนินคดีร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ที่ประชุมคณะทำงานผู้แทนทั้งสองฝ่าย ได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2552 แล้วมีมติว่า กรณีข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับการแจ้งข้อกล่าวหา และอำนาจการไต่สวนของ คตส. ในประเด็นรับของโจรของนายพานทองแท้กับพวก เห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.
“เมื่อมีข้อยุติในการฟ้องคดีเฉพาะผู้ถูกกล่าวหา 27 คนดังกล่าว อสส. จึงไม่อาจดำเนินคดีกับนายพานทองแท้กับพวก ในข้อหารับของโจรได้ โดยเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการแยกการสอบสวนไปดำเนินคดีต่างหากจากคดีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” นายวินัย กล่าว
เมื่อถามว่า คดีของนายพานทองแท้กับพวกที่ดีเอสไอไต่สวนดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว นายวินัย กล่าวว่า เท่าที่ทราบคือมีการสอบสวนในข้อหารับของโจร มีอายุความ 10 ปี และข้อหาฟอกเงิน มีอายุความ 15 ปี โดยจะนับตั้งแต่วันทีกระทำความผิด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2547 แต่ข้อหารับของโจรจะหมดอายุความหรือไม่ ต้องสอบถามไปยังดีเอสไอ เรื่องนี้ไม่ทราบ
ส่วนกรณีอายุความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ศาลฎีกาฯจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราวและออกหมายจับนั้น นายวินัย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาในข้อกฎหมายอีกทีหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ได้แก้ไขเพิ่มเติม โดยเพิ่มในส่วนของไม่นับอายุความด้วย แต่คดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. จะแก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้นต้องมีการหารือในประเด็นนี้เพิ่มเติมด้วย
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า นายพานทองแท้ คืนเงินที่ได้รับโอนในคดีดังกล่าวหมดแล้ว อสส. จึงมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง นายวินัย กล่าวสั้น ๆ ว่า “เรื่องนี้ไม่ทราบ แต่ที่อธิบายให้สื่อมวลชนฟังในวันนี้ เป็นประเด็นข้อกฎหมายล้วน ๆ”
เมื่อถามว่า เครือกฤษฎามหานคร อ้างว่า จะจำหน่ายที่ดินของบริษัทในเครือมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อชดใช้ค่าเสียหายในคดีนี้ ฝ่ายอัยการจะเข้าไปตรวจสอบมูลค่าที่ดินหรือไม่ นายวินัย กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของธนาคารกรุงไทย ที่จะเข้าไปตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว
อ่านประกอบ :
ข้อมูลลับความเชื่อผู้บริหาร "เอคิว" ก่อนศาลฯ พิพากษาชดใช้กรุงไทยหมื่นล.!
คำให้การมัดคดีกรุงไทยโผล่เว็บศาลฯ ชื่อ 2 กก.บริหาร "อุตตม-รมว.ไอซีที" รอด!
พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายพานทองแท้ จาก tnews