พิษน้ำท่วมทำโอท๊อปเสียหายหลายล้าน ชาวบ้านฉะโครงการสร้างศูนย์ขายสินค้าร้าง
น้ำท่วมซัดกลุ่มโอท๊อปวิกฤต สูญเม็ดเงินหลายล้านบาท อธิบดีกรมพัฒนาชุมชนเผยต้องรอหลังน้ำลดเข้าไปช่วยฟื้นฟู ชาวบ้านฉะโครงการทุ่มงบสร้างศูนย์โอท็อป ชี้ร้างมาหลายจังหวัด ถ้าคิดแค่อาคารแต่ไม่พัฒนา
จากวิกฤตน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทุกภาคส่วน รวมทั้งสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอท็อป ที่ในแต่ละปีสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศ กำลังตกอยู่ในภาวะลำบาก เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมที่ไม่มีทีท่าจะลดลง ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราได้สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยนางสมจิตร ผิวสอาด ผู้ประกอบการกระยาสารทแม่สมจิตร อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่าแม้น้ำจะไม่ท่วมบริเวณโรงงานและร้านค้า แต่ก็ได้รับผลกระทบคือส่งสินค้าออกไปขายไม่ได้ เนื่องจากบริเวณโดยรอบเจอภัยพิบัติหมด ทำให้สูญเสียรายได้กว่า 1 แสนบาท ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จึงอยากจะวิงวอนให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยเหลือ
ส่วนนางประพาส เรืองกิจ ผู้ประกอบการปลาตะเพียนใบลาน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์และโรงงานเสียหายร่วม 2 แสนบาท ไม่รวมยอดรายได้จากการขายปลาตะเพียนอีกมาก ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล
“ส่วนข่าวที่ว่าจะมีการทุ่มงบประมาณจัดสร้างศูนย์โอท๊อปแต่ละจังหวัดนั้น เรื่องนี้ได้ยินมาตลอด แต่ยังไม่เห็นต่อยอดแนวคิด ที่ผ่านมามีปัญหาทำเลการจัดสร้างไม่เหมาะสำหรับเป็นที่ค้าขาย ส่งผลให้ศูนย์โอท๊อปในหลายจังหวัดกลายเป็นอาคารร้างให้วัยรุ่นมั่วสุมกันมากกว่า” นางประพาส กล่าว
ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์หน่วยงานที่รับผิดชอบสินค้าโอท๊อปของแต่ละจังหวัด โดยนางวิมล มณี นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่าอยุธยามีผู้ประกอบการโอท๊อปทั้งหมด 637 ราย โดยมีผู้ร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากภาวะน้ำท่วมมาแล้ว 127 ราย แต่ขณะนี้ความเสียหายคงตกอยู่เกือบทุกพื้นที่ ซึ่งได้ส่งข้อมูลไปยังกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยแล้ว พร้อมเน้นย้ำว่าจะมีการให้ความช่วยเหลือหลังน้ำลดแน่นอน
ด้าน นายสุรชัย ขันอาสา อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโอท๊อปจากเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมว่า ต้องรอให้น้ำลดก่อน เนื่องจากขณะนี้หลายจังหวัดยังประสบภัยพิบัติอยู่ ซึ่งเมื่อพ้นวิกฤตดังกล่าวแล้ว จะให้พัฒนาชุมชนแต่ละท้องที่เข้าไปสำรวจความเสียหายและให้คำปรึกษาให้กลุ่มโอท็อปฟื้นตัวให้เร็วที่สุด โดยการให้โอกาสพิเศษขายตามงานต่างๆ ที่กรมพัฒนาชุมชนจัด เช่น งานโอท๊อปซิตี้ปลายปีนี้ ส่วนความช่วยเหลืองบประมาณจะเป็นส่วนของรัฐบาลที่จะเข้ามาดูแล
เมื่อสอบถามถึงศูนย์โอท๊อปที่ประสบปัญหาทิ้งร้างในหลายจังหวัด อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ศูนย์โอท๊อปส่วนใหญ่จะเกิดจากงบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถ้าท้องถิ่นไหนมีความเข้มแข็ง จะเห็นว่าศูนย์โอท๊อปนั้นมั่นคง แต่ส่วนใหญ่ที่พบทิ้งร้าง เนื่องจากขาดการบริหารจัดการภายในท้องถิ่นที่ดี กรมการพัฒนาชุมชนจึงทำได้เพียงการให้คำปรึกษา ส่วนที่ทิ้งร้างคงต้องลงไปสำรวจและปรับปรุงใหม่ เพื่อชี้แนวทางการบริหารจัดการที่ดีกับท้องถิ่นต่อไป
ทั้งนี้ “โครงการหนึ่งตำบล-หนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ “โอท็อป” เริ่มมาตั้งแต่ปี 2544 โดยในปี 2545 มียอดขาย 16,000 ล้านบาท ปี 2546 มียอดขาย 30,000 ล้านบาท ปี2547 มียอดขาย 40,000 ล้านบาท ปี 2548 มียอดขาย 50,000 ล้านบาทปี 2549 มียอดขาย 68,000 ล้านบาท ปี 2550-2551 มียอดขาย 77,000 ล้านบาท ปี 2552 มียอดขาย 63,000 ล้านบาท และ ปี 2553 มียอดขาย 68, 000 ล้านบาท (นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 25-28 ก.ย. 54)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กรมการพัฒนาชุมชน มีโครงการที่จะสร้างศูนย์กระจายสินค้า 9 แห่งทั่วประเทศ โดยมีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงการตลาด-แหล่งท่องเที่ยว-การส่งออก ซึ่งจะใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท .
ที่มาภาพ :http://news.hatyaiok.com/?p=10957