บึ้มราชประสงค์-รวบชายต่างชาติ...ขอสรุปอย่างนี้ได้ไหม?
การจับกุมชายชาวต่างชาติที่อพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่งย่านหนองจอกเมื่อวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม 2558 ประกอบกับหลักฐานต่างๆ ที่พบ ทั้งอุปกรณ์ที่นำไปใช้ประกอบระเบิดได้ และเล่มพาสปอร์ตของประเทศหนึ่งจำนวนมาก ทำให้คดีลอบวางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร ชัดเจนขึ้นระดับหนึ่ง
ยิ่งบวกกับคำแถลงของ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ช่วงค่ำวันเดียวกันที่ว่า ผู้ที่ถูกจับกุมได้เชื่อมโยงกับการลอบวางระเบิด เพราะอุปกรณ์ที่พบในห้องคล้ายคลึงกับชิ้นส่วนระเบิดที่เก็บรวบรวมได้จากจุดเกิดเหตุ 2 จุด และสาเหตุเป็นการแก้แค้นให้ญาติพี่น้อง พรรคพวกของตน โดยคนเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 ฯลฯ ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นไปอีกว่าความเป็นมาของเรื่องนี้เป็นอย่างไร
แม้จะยังไม่ยอมระบุสัญชาติของผู้ที่ถูกจับกุมตามพาสปอร์ตที่มีรูปและชื่อของเขา รวมทั้งเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็น "อุยกูร์" ก็ตาม
จากข้อมูลดังกล่าว เมื่อผนวกกับข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากฝ่ายความมั่นคง น่าจะต่อจิ๊กซอว์ได้แบบนี้
1.ขบวนการที่ก่อเหตุระเบิด และชายชาวต่างชาติที่ถูกจับ น่าจะเป็นขบวนการนำพาชาวอุยกูร์จากจีนไปยังประเทศปลายทาง โดยใช้เส้นทางจากมณฑลซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน (เขตปกครองพิเศษซินเจียง-อุยกูร์) มุ่งสู่มณฑลทางตอนใต้ เช่น ยูนนาน แล้วข้ามเข้าลาว กัมพูชา ผ่านไทย และพักรอเพื่อข้ามไปยังมาเลเซีย ขึ้นเครื่องไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งก็คือตุรกี
2.ความพยายามช่วยเหลือชาวอุยกูร์ออกจากจีน นอกจากประเด็นเรื่องผลประโยชน์ซึ่งต้องมีเคลือบแฝงอยู่บ้างในกลุ่มขบวนการที่กระทำการแล้ว สาเหตุหลักน่าจะมาจากความไม่พอใจที่ชาวอุยกูร์ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพหลายประการ โดยเฉพาะการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม และการถูกขีดกรอบการดำเนินวิถีชีวิตตามอัตลักษณ์ของตน หลักฐานเรื่องนี้คือการมีกระแสความไม่พอใจการปกครองของจีนอย่างกว้างขวาง กระทั่งมีขบวนการที่เคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน ก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก
ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลไทยตัดสินใจส่งอุยกูร์มุสลิมที่เป็นผู้ชายจำนวน 109 คนซึ่งลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ให้กับรัฐบาลจีน คนในขบวนการนี้ถึงไม่พอใจ และมีอารมณ์ร่วมมาก ทั้งเรื่องความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน และน่าจะมีผลประโยชน์ร่วมบางส่วน เพราะชาวอุยกูร์กลุ่มดังกล่าว รวมผู้หญิงและเด็กที่ส่งให้ตุรกีไปก่อนหน้านั้นอีกกว่า 100 คนถูกจับกุมขณะพักรอเดินทางต่อไปมาเลเซียและตุรกี จึงเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการนำพาชาวอุยกูร์จากจีนไปตุรกี
3.พาสปอร์ตจำนวนมากที่พบในห้องพักของชายที่ถูกจับกุม ซึ่งตำรวจไทยบอกว่าเป็นพาสปอร์ตปลอม เป็นข้อยืนยันว่าคนกลุ่มนี้ ทั้งที่ถูกจับกุมแล้วและยังไม่ถูกจับ โยงใยเป็นขบวนการนำพาอุยกูร์หนีจากจีนไปตุรกี
4.เครือข่ายนำพาชาวอุยกูร์จากจีนไปตุรกี เป็นเครือข่ายใหญ่ มีอิทธิพลไม่น้อย อยู่ทั้งในจีน ลาว กัมพูชา ไทย มาเลเซีย ซึ่งเป็นเส้นทางนำพา
5.ประเด็นนี้โยงกับการเมืองภายในของตุรกีด้วย โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เอาไว้หลังเกิดกรณีไทยส่งชาวอุยกูร์ 109 คนให้รัฐบาลจีน โดยระบุตอนหนึ่งว่า...
"...รัฐบาลของตุรกีในระยะหลังซึ่งครองอำนาจต่อเนื่องกันมานับสิบปี เป็นรัฐบาลนิยมแนวทางอิสลาม จึงมีนโยบายช่วยเหลือมุสลิมตกยากในทุกประเทศ รวมทั้งอุยกูร์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีก็ให้ความช่วยเหลือมุสลิมในซีเรียที่เกิดสงครามกลางเมือง มีการไปตั้งแคมป์ให้พักอาศัย ขณะที่ชาวอุยกูร์เอง รัฐบาลตุรกีก็มีนโยบายให้สัญชาติเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
สืบเนื่องจากแนวนโยบายดังกล่าว ได้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศ คือ รัฐบาลตุรกีไม่พอใจรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการจัดการปัญหาอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ถึงขั้นเรียกทูตจีนเข้าพบ และออกแถลงการณ์ตำหนิ ขณะที่ฝ่ายจีนก็ออกมาแสดงท่าทีตอบโต้
ขณะที่การเมืองภายในของตุรกีเองก็มีประเด็น คือหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลเดิมสูญเสียที่นั่งไปในสภาพอสมควร ทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงมีการต่อสู้แย่งชิงเสียงสนับสนุนกับพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งฝ่ายค้านมีแนวทางชาตินิยม ได้ปลุกกระแสต่อต้านนโยบายการช่วยเหลือมุสลิมเชื้อสายอื่นที่ไม่ใช่เติร์กของรัฐบาล
ขณะเดียวกันก็มีการประท้วงต่อต้านจีนขึ้นมา เพราะไม่พอใจที่จีนปฏิบัติละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชาวอุยกูร์ในจีน โดยเฉพาะในมณฑลซินเจียง ซึ่งชาวอุยกูร์ก็เป็นเชื้อสายหนึ่งของชนเผ่าเติร์ก ประชากรส่วนใหญ่ของตุรกี
สรุปว่าปัญหาอุยกูร์เป็นประเด็นทั้งศาสนา การเมืองภายในของตุรกีกับขบวนการชาตินิยมเติร์ก และการเมืองระหว่างประเทศ..."
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า เหตุใดขบวนการนำพาชาวอุยกูร์จากจีนถึงมีเครือข่ายใหญ่โต ซึ่งอาจเป็นเพราะเกี่ยวพันกับแข่งขันทางการเมืองภายในตุรกีด้วย และพาสปอร์ตจำนวนมากที่พบในห้องพักของชายที่ถูกจับกุม เป็นพาสปอร์ตปลอมแน่หรือ
6.ขบวนการนี้เชื่อมโยงกับตุรกีเชื้อสายอุยกูร์หัวรุนแรง สังเกตได้จากมีการประท้วงใช้ความรุนแรงตลอดมาในตุรกี ทั้งประท้วงจีน และกรณีประท้วงไทยที่ส่งอุยกูร์ให้จีน มีการบุกทำลายข้างของในสถานกงสุลไทยในตุรกี
7.คนในเครือข่ายนำพาชาวตุรกี บางคนเดินทางเข้า-ออกไทยบ่อยครั้ง บางคนเคยเป็นชาวอุยกูร์ที่ถูกจับกุมหรือเดินทางต่อไปยังตุรกีได้สำเร็จ และต่อมาก็ได้สัญชาติตุรกี จึงมาร่วมเป็นเครือข่ายขบวนการนำพาในฐานะนักเคลื่อนไหว เคยไปเยี่ยมชาวอุยกูร์ที่ถูกจับที่จังหวัดสงขลา (ส่วนหนึ่งคืออุยกูร์ 109 คนที่ไทยส่งให้จีน) ซึ่งต่อมาปรากฏภาพคล้ายกับคนที่บุกทำลายสถานกงสุลไทยในตุรกีด้วย
การจับกุมชายชาวต่างชาติคาห้องพักที่หนองจอก จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการสะสางเครือข่ายขบวนการที่ว่านี้ และนั่นจะพิสูจน์ว่าข้อสันนิษฐานนี้ ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ของหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยที่รายงานถึงรัฐบาล...เป็นจริงหรือไม่!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กองพาสปอร์ตที่อ้างว่าถูกพบในห้องพักย่านหนองจอกของชายชาวต่างชาติที่ถูกจับกุม