"อังคณา"จี้รัฐคืนความเป็นธรรม"เหยื่ออุ้ม" ในวาระวันผู้สูญหายสากล
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เขียนบทความเนื่องในวาระ "วันผู้สูญหายสากล" หรือ The International Day of the Disappeared (IDD) ซึ่งตรงกับวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี
นางอังคณา เป็นภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อเดือนมีนาคม 2547 หรือกว่า 11 ปีมาแล้ว โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นการถูกบังคับให้สูญหาย หรือที่เรียกกันติดปากว่า "อุ้มหาย" โดยเธอได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสามีและครอบครัวของเธอมาตลอด จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย กระทั่งล่าสุดเธอได้รับการรับรองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
บทความของนางอังคณา ระบุว่า วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึง "ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย" และถือเป็น "วันผู้สูญหายสากล" (The International Day of the Disappeared -IDD) ซึ่งเป็นวันที่คนทั่วโลกมาร่วมกันเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือจากภาวะสงคราม หรือการปราบปรามการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศ และส่งผลให้มีผู้สูญหายและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
อนุสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศถือว่า การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่คุกคามต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) ตามคำนิยามของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ของสหประชาชาติ (The UN Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555
นิยามของการบังคับให้บุคคลสูญหาย มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่ทำให้เกิดการบังคับสูญหาย คือ 1.การจับกุม คุมขัง การลักพาตัว หรือการกระทำอื่นใดที่เป็นการจำกัดอิสรภาพ ทั้งนี้โดย 2.เป็นการกระทำของหน่วยงานของรัฐก็ดี หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคลซึ่งทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ได้รับความสนับสนุน หรือได้รับความเห็นชอบจากรัฐ โดย 3.จากนั้นมีการปฏิเสธไม่ยอมรับว่าได้กระทำการจับกุม หรือมีการปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ควบคุมตัวของบุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือปกปิดที่อยู่ หรือชะตากรรมของผู้สูญหาย
จากรายงานคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ สหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance) เมื่อปี 2557 ระบุตัวเลขผู้ถูกบังคับสูญหายทั่วโลกที่คณะทำงานฯบันทึกไว้ซึ่งยังไม่ทราบชะตากรรมรวมทั้งสิ้น 43,250 ราย จาก 88 ประเทศ ทั้งนี้ ทวีปเอเซียถือเป็นภูมิภาคที่เกิดการบังคับสูญหายมากที่สุด
สำหรับประเทศไทย คณะทำงานฯรายงานบันทึกกรณีผู้ถูกบังคับสูญหายนับแต่ปี พ.ศ.2533 ถึง 2557 มีผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 81 รายที่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถสืบสวนข้อเท็จจริงถึงที่อยู่ สถานะ และชะตากรรมของผู้สูญหายได้ พบว่าจำนวนตัวเลขผู้สูญหายในประเทศไทยจากรายงานคณะทำงานฯ สูงเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ในความเป็นจริง การบังคับบุคคลสูญหายก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเหยื่อ ชุมชน และสังคมในวงกว้าง ทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนั้นการสร้าง "ภาวะคลุมเครือของการหาย" อันเป็นสภาวะที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการมี/ไม่มีชีวิตอยู่ ทำให้ลักษณะผลกระทบของการบังคับบุคคลสูญหายมีความซับซ้อนกว่าความรุนแรงในรูปแบบอื่น การบังคับบุคคลสูญหายยังได้สร้างความหวาดกลัวอย่างมากต่อครอบครัวผู้สูญหายด้วย
การบังคับบุคคลสูญหาย ไม่เพียงแต่ทำร้ายร่างกาย (body) ของเหยื่อ แต่ยังได้ทำลายตัวตน (self) ซึ่งหมายถึงการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอัตลักษณ์ทั้งเหยื่อทางตรงและเหยื่อทางอ้อม ซึ่งคือครอบครัว ผลกระทบเชิงลึกเช่นนี้อาจส่งผลให้เหยื่อทางอ้อมมักประสบปัญหากับการไม่สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับสังคมได้อย่างง่ายดาย ทำให้การดำเนินชีวิตต่อไปเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังทำให้เหยื่อประสบปัญหาและเกิดความกดดันในการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง โดยพวกเขาอาจมีอาการ Post-traumatic stress disorder ซึ่งจะแสดงอาการในระยะยาว บางคนมีอาการหวาดกลัวและหวาดระแวงอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งส่งกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
นอกจากนี้ ภาวะความคลุมเครือทำให้เหยื่อสร้างจินตนาการของการสูญหายด้วยภาพของการทรมาน ทารุณกรรม จนถึงการทำลายหรืออำพรางศพ ซึ่งส่งผลให้ครอบครัวเหยื่อส่วนมากต้องทุกข์ทรมานและพันธนาการตัวเองในเงาความทรงจำที่โหดร้ายทารุณจนชั่วชีวิต
การที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายระบุว่าการบังคับบุคคลสูญหายโดยรัฐเป็นอาชญากรรม การที่กระบวนการยุติธรรมยังต้องอาศัยร่างผู้เสียหายในการยืนยันความผิด ปัญหาความอ่อนแอของกลไกการสืบสวนสอบสวนและการปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระบวนการคุ้มครองพยาน หรือการหาพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้การดำเนินการพิสูจน์ความผิดของเจ้าหน้าที่กลายเป็นภาระของครอบครัวผู้สูญหาย จึงเป็นการเพิ่มภาระแก่เหยื่อและทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมแทบไม่มีความเป็นไปได้
ที่ผ่านมาแม้รัฐมีความพยายามให้การเยียวยาด้วยการชดเชยด้วยเงิน แต่การเยียวยาที่ดีต้องเป็นการเยียวยาแบบองค์รวม ทั้งด้านจิตใจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และโดยเฉพาะการเปิดเผยความจริงและการให้ความยุติธรรม การฟื้นคืนความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อให้สามารถกลับเข้าสังคมได้อีกครั้ง
รัฐต้องยอมรับความจริงว่าการการชดเชยด้วยเงินอย่างเดียวไม่อาจคืนศักดิ์ศรี และลบเลือนความทรงจำที่โหดร้ายทรมานของเหยื่อได้ การเยียวยาที่ไม่มีระบบเช่นที่กระทำอยู่ ทำให้การเปลี่ยนผ่านเหยื่อและสังคมเกิดความชะงักงัน และไม่มีอะไรรับประกันว่างานเยียวยาที่ได้ทำไปแล้วจะส่งผลที่ยั่งยืน
การเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับการสูญหายและชะตากรรมของผู้สูญหายจึงน่าจะเป็นการเริ่มต้นในการคืนความเป็นธรรมให้แก่เหยื่อ รวมถึงการยุติวัฒนธรรมลอยนวลผู้กระทำผิด และจะเป็นการสร้างมาตรฐาน กติกาการอยู่ร่วมกันใหม่
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมก็มีความสำคัญมากเช่นกัน สังคมต้องสร้างความตระหนักให้รัฐมีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ไม่มองผู้ที่เห็นต่างเป็นศัตรู ยุติวัฒนธรรมเห็นดีเห็นงามกับการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่าง หรือกระทั่งผู้ต่อต้านด้วยสันติวิธี รัฐต้องเป็นนิติรัฐ ผู้คนต้องสมาทานแนวทางสันติวิธี และสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้หยั่งรากในสังคมไทย
ในโอกาสวันแห่งการรำลึกถึงผู้สูญหายสากล ในฐานะของเหยื่อของการบังคับสูญหายในประเทศไทย ดิฉันขอเรียกร้องยังรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้รีบเร่งเปิดเผยความจริง และคืนความเป็นธรรมให้กับผู้สูญหายและครอบครัว รัฐต้องไม่ปกป้องผู้กระทำผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนของรัฐ ต้องสร้างหลักประกันในการยุติการบังคับสูญหายในประเทศไทยด้วยการสร้างมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครอง ป้องกันและยุติการบังคับสูญหาย โดยการให้มีการตรากฎหมายเพื่อให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม และเปิดโอกาสให้ญาติเข้าร่วมในกระบวนการการร่างกฎหมายอย่างเปิดเผย
จนปัจจุบัน ชีวิตแล้ว ชีวิตเล่าที่ต้องสูญหายจากความอหังการของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ได้สร้างรอยแผลในใจที่ยากจะลบเลือนลงได้ การเผชิญหน้ากับความจริงด้วยการยอมรับผิด และคืนความเป็นธรรมให้แก่เหยื่อ จึงน่าจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มั่นคง ยั่งยืนอย่างแท้จริงในสังคมไทย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพอังคณาเดินทางไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าคดีทนายสมชาย ในวาระครบรอบ 11 ปีการหายตัวไปของสามี เมื่อเดือนมีนาคม 2558 โดยผู้สื่อข่าวพีพีทีวี