ปัญหาผู้อพยพข้ามชาติในศตวรรษที่ 21
“ความก้าวหน้าเรื่องสื่อ” ที่ไม่ว่าใช้วิธีการใดก็ไม่สามารถปิดกั้นสื่อได้ในโลกปัจจุบัน “การเคลื่อนย้ายประชากร” “ทุน” “ผู้ก่อการร้าย” และ “การเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม” ถือเป็น 5 สิ่งของกระแสโลกที่รัฐบาลไทย สังคมไทยต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็น “การเคลื่อนย้ายประชากร” ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศช่วงที่เรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยกัน
แต่น่าเสียดาย การเคลื่อนย้ายประชากรผ่านประเทศไทยในปัจจุบัน บ้านเรากลับเป็นประเทศที่ไม่มีระบบที่ถูกต้องในการกลั่นกรองการเคลื่อนย้ายประชากรที่ดีพอ
เราประสบปัญหาการแยกแยะผู้อพยพประเภทไหนเข้าข่ายเป็นแรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพประเภทไหนเข้าข่ายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ และผู้อพยพประเภทไหนเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องการแสวงหาที่พักพิง ที่อพยพมาจากประเทศต้นทาง ผ่านไทยซึ่งเป็นประเทศระหว่างทาง ไม่ได้ต้องการอยู่ประเทศไทย ต้องการไปประเทศที่ 3 ดังเช่น ชาวอุยกูร์ และโรฮิงญา
ขณะที่การเคลื่อนย้ายประชากรระบบของโลกนั้น นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยืนยันในเวทีเสวนาประเด็น “หลากมุมมอง:ปัญหาผู้ลี้ภัยข้ามชาติและทางออกของไทย” ซึ่งจัดโดยศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ว่า หลายประเทศในโลกมีระบบการกลั่นกรองการเคลื่อนย้ายประชากร ไม่ว่าเรื่องแรงงานข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และผู้ลี้ภัย แต่ประเทศไทยติดที่กฎหมายล้าสมัย ไม่ทันกระแสโลก อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่สอดคล้องกันในแต่ละกฎหมายด้วย
มีตัวอย่างกฎหมายบางฉบับที่ไม่ทันสมัย และเป็นอุปสรรคต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำงาน อาทิ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่ควรมีการแก้ไข ทั้ง 1.เขียนคำจำกัดความ คำว่า ผู้ลี้ภัยเข้าไป 2.ขยายอำนาจหน้าที่ ให้ใช้อำนาจหน้าที่รัฐมนตรีสามารถครอบคลุมดูแลในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนได้ และ 3.คณะกรรมการตรวจคนเข้าเมืองต้องประกอบด้วยคนกระทรวงที่เป็นเรื่องของสังคม เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ไม่ใช่เน้นแต่กระทรวงด้านความมั่นคงอย่างเดียว
กรรมการสิทธิ์ฯ ยังเห็นว่า กรณีแรงงานข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และผู้ลี้ภัย คนเหล่านี้สิ่งที่ประเทศไทยต้องยึดเป็นหลักมากกว่าตัวบทกฎหมาย และมากกว่านโยบายด้านความมั่นคง คือ หลักสิทธิมนุษยชน
ขณะนี้ความจริงในกระแสโลก การประกาศรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนของชาติสมาชิก อนาคตเราจะพบประชากรเคลื่อนย้ายถี่มากยิ่งขึ้น มาในหลากหลายรูปแบบ เฉกเช่นปัจจุบัน รูปแบบการเคลื่อนย้ายไม่ได้อพยพมาตัวคนเดียวอีกแล้ว แต่อพยพมาเป็นครอบครัว มีเด็ก สตรี ออกมาด้วย
การทยอยมาเป็นกลุ่มๆ สอดคล้องกับศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุภางค์ จันทวานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ที่ชี้ชัดว่า ปัญหาผู้อพยพข้ามชาติในศตวรรษที่ 21 นั้น ลักษณะการเคลื่อนย้ายจะเล็กลงเรื่อยๆ จากอดีตการเคลื่อนของผู้อพยพมีจำนวนเป็นเรือนแสน ปัจจุบันเหลือจำนวนร้อย หรือพันคน ทั้งยังมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ยากต่อการจัดการปัญหา
ดังนั้น การปฎิบัติต่อกลุ่มคนอพยพ ผู้ลี้ภัยข้ามชาติจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน การสื่อสาร และถามให้เป็น เพื่อเช็คข้อมูลข้อเท็จจริง ก่อนประเมินว่า จะช่วยเหลือผู้อพยพแบบไหนอย่างไร
นี่คือปัญหาภายในตัวบทกฎหมายองตม.ยังมีข้อจำกัด ยิ่งเมื่อเปิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกือบทุกฉบับ ไม่มีคำว่า “ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย” เลย ทำให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อเสนอให้แก้ไขร่างกฎหมายนี้ไปแล้ว รวมถึงเสนอต่อนโยบายรัฐบาลด้วยว่า การดำเนินการใดๆ กับบุคคลเหล่านี้ ก็ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนด้วย
เรื่องสิทธิมนุษยชน จึงไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของคน เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ผู้อพยพควรได้สิทธิในการดูแลด้านสุขภาพ สิทธิในการเพิ่มศักยภาพในระหว่างที่รอส่งกลับ สิทธิการดูแลเป็นครอบครัวในค่ายพักพิงชั่วคราว
ในระดับสากล ปัญหาผู้อพยพข้ามชาติในศตวรรษที่ 21 รัฐบาลไทยสามารถแสดงบทบาทด้วยการหยิบยกนำประเด็นผู้อพยพข้ามชาติ การเคลื่อนย้าย หรือส่งกลับไปประเทศที่ 3 ขึ้นพูดคุยในระดับภูมิภาค หรือระดับสากลได้ เพื่อทำให้เป็นหลักประกันว่า ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจและรับผิดชอบร่วมกัน เนื่องจากไทยไม่ได้ต้นตอปัญหา แต่เราสามารถนำเสนอปัญหาและวิธีการแก้ไข โดยยึดหลักสิทธิมนุษยนชนได้ แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารก็ตาม