ข้อมูลลับความเชื่อผู้บริหาร "เอคิว" ก่อนศาลฯ พิพากษาชดใช้กรุงไทยหมื่นล.!
"...ทนายความของบริษัท มีความเห็นว่า บริษัทค่อนข้างที่จะสามารถพิสูจน์ถึงเจตนาได้ง่ายและมีความเป็นไปได้ที่จะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหานี้ ดังนั้น ผู้บริหารของบริษัทจึงเชื่อว่า บริษัทไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากคดีความดังกล่าวเพราะบริษัทไม่ได้ลงนามในเอกสารใดๆ เกี่ยวกับคดีนี้.."
บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย บริษัทในเครือ และผู้บริหารหลายคน ปรากฎชื่อเป็นจำเลยในคดีทุจริตปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทย และถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด มีบทลงโทษหลายระดับ ทั้งการปรับเงิน จำคุก และการชดเชยเงินคืน ให้กับธนาคารกรุงไทย เป็นจำนวนกว่าหมื่นล้านบาท
(อ่านประกอบ : จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”)
คำถามที่น่าสนใจ คือ สถานะของ "บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)" ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ปัจจุบัน "บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)" เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน)" แจ้งข้อมูลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557
ปัจจุบันมีทุน 8,160,222,416 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 102 ถนนริมคลองบางกะปิ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ประกอบธุรกิจขายที่ดินเปล่า และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ปรากฎชื่อ นายยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ นายสุทธิศักดิ์ วจีปิยนันทานนท์ นายภพ เพชรสุวรรณ นายวิรัตน์ เอี้ยวอักษร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ไม่ปรากฎชื่อผู้บริหารชุดเดิม ได้แก่ นางปรานอม แสงสุวรรณเมฆา นายธเนศวร สิงคาลวณิช และนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ที่ตกเป็นจำเลยในคดีปล่อยเงินกู้กรุงไทย เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
รายชื่อผู้ถือหุ้น ล่าสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้นใหญ่สุด 2,500,000,000 หุ้น มูลค่า 1,250,000,000 บาท (เข้าไปซื้อช่วงปลายปี 2557 โดยใช้เงินจำนวน 855 ล้านบาท)
ล่าสุดนำส่งงบการเงิน ปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 601,003,000 บาท รายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง 7,766,000 บาท ต้นทุนขายอสังหาริมทรัพย์ 529,468,000 บาท ต้นทุนรับเหมาก่อสร้าง 7,766,000 บาท มีหนี้สงสัยจะสูญ 115,029,000 บาท ขาดทุนสุทธิ 37,796,000 บาท
จากการตรวจสอบข้อมูลในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 บริษัท เอคิวฯ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 มีการระบุว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้ในปี 2557 จำนวน 1,623.90 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,478.61 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจโรงแรม 61.16 ล้านบาท รายได้ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และบริการที่เกี่ยวข้องกัน 19.31 ล้านบาท รายได้ค่าที่ปรึกษาและค่าบริหารการขาย 64.82 ล้านบาท
ขณะที่ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนขายทั้งหมด 1,586.64 ล้านบาท มีการปรับปรุงโครงการหลายส่วน พยายามขายสินค้าที่ก่อสร้างมานานในราคาต่ำกว่าทุน เพื่อนำเงินสดมาใช้ในการทำธุรกิจ และในปีที่ผ่านมาเกิดความไม่สงบจากปัญหาการเมืองมีการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบเกิดภาวะขาดทุน
ณ วันที่ 31 ธ.ค.57 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 7,009.796 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ 2556 เท่ากับ 1,685.621 ล้านบาท ส่วนหนี้สินมีทั้งสิ้น 792.284 ล้านบาท ลดลงจากปี 2556 จำนวน 18.784 ล้านบาท
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการต่อสู้คดีทุจริตปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทย บริษัทฯ มีการระบุในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ปี 2557 ที่นำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2558 ว่า
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2555 บริษัทฯ ได้รับคำฟ้องจากศาลฎีกาฯ ลงวันที่ 13 มิ.ย.2555 โดยอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องบุคคลและนิติบุคคลรวม 27 คน และบริษัทถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 20 ในข้อกล่าวหาร่วมกันและสนับสนุนเจ้าพนักงาน และพนักงานในองค์การของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ยักยอกทรัพย์ในการอนุมัติให้สินเชื่อโดยมิชอบ
โดยจำเลยที่ 18 ถึง 27 ร่วมกันและสนับสนุนจำเลยที่ 1-17 (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ,ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย) ด้วยการเสนอโครงการขอสินเชื่อเพื่อนำเงินไปซื้อที่ดิน ,ปลดภาระหนี้ธนาคารแห่งหนึ่ง และเสนอขอซื้อหุ้นบุริมสิทธิของจำเลยที่ 20 ที่ธนาคารของรัฐดังกล่าวถือครองอยู่ มูลค่าความเสียหายตามคำฟ้องรวมเป็นเงินประมาณ 10,054 ล้านบาท ให้ร่วมกันคืนหรือใช้เงินคืนแก่ธนาคารของรัฐดังกล่าว
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2555 ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรก และบริษัทได้ยื่นคำให้การปฏิเสธต่อข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้วในดังกล่าว โดยศาลฎีกาฯ ให้นัดแถลงการณ์เปิดคดีในวันที่ 5 สิงหาคม 2556 และได้นัดตรวจพยานหลักฐานทั้งโจทก์และจำเลย เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2556
อย่างไรก็ตาม ทนายความของบริษัท มีความเห็นว่า บริษัทค่อนข้างที่จะสามารถพิสูจน์ถึงเจตนาได้ง่ายและมีความเป็นไปได้ที่จะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหานี้
"ดังนั้น ผู้บริหารของบริษัทจึงเชื่อว่า บริษัทไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากคดีความดังกล่าวเพราะบริษัทไม่ได้ลงนามในเอกสารใดๆ เกี่ยวกับคดีนี้ จึงไม่บันทึกค่าเสียหายในงบการเงิน โดยทนายความของบริษัทคาดว่าคดีจะเสร็จสิ้นการพิจารณาในไตรมาสสามของปี 2558"
อย่างไรก็ดี ล่าสุด ศาลฎีกาฯ ได้มีคำพิพากษา ลงโทษผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ ส่วนกลุ่มนิติบุคคล และกลุ่มผู้แทน กลุ่มผู้แทนนิติบุคคลเป็นการส่วนตัวทั้งหมด มีรายละเอียดดังนี้
1. บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด โดยนายบัญชา ยินดี และ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 18 บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา และนายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 19 บริษัทกฤษดามหานครฯ โดยนางปรานอม แสงสุวรรณเมฆา และนายธเนศวร สิงคาลวณิช นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 20 บริษัทโบนัสบอร์น จำกัด โดยนายชุมพร เกิดไพบูลย์รัตน์ จำเลยที่ 21 บริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 22 - ให้ปรับรายละ 26,000 บาท
2. นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 23 นายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 24 นายวิชัย กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 25 นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 26 นายไมตรี เหลืองนิมิตมาศ จำเลยที่ 27 - ให้จำคุกคนละ 12 ปี
และ 3.บริษัทกฤษดามหานครฯ โดยนางปรานอม แสงสุวรรณเมฆา และนายธเนศวร สิงคาลวณิช นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 20 นายวิชัย กฤษดาธานนท์จำเลยที่ 25 และ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์จำเลยที่ 26 ร่วมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารกรุงไทยที่เสียหาย
ชี้ให้เห็นว่า ผลการต่อสู้คดีนี้ ของบริษัทฯ ที่ออกมาเป็นเรื่องยาก ไม่ง่ายเหมือนที่ผู้บริหารของบริษัทเชื่อ!
ล่าสุด www.efinancethai รายงานข่าวว่า ในช่วงวันที่ 27 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา หุ้นบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ผันผวนอย่างรุนแรงราคาร่วงติดฟลอร์ หลังมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้บริษัทกฤษฎามหานคร หรือ KMC ซึ่งปัจจุบันคือ AQ ในฐานะจำเลยที่ 20 ต้องร่วมคืนเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ให้กับธนาคารกรุงไทย ในความผิดขออนุมัติสินเชื่อโดยทุจริต
โดยล่าสุด AQ ออกมายืนยันว่ามีหลักทรัพย์เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ คือที่ดินของ บริษัท โกลเด้น อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด จำนวน 4,323 ไร่ ที่มีราคาประเมินเมื่อปี 2555 กว่า 12,000 ล้านบาท
ทั้งหมดนี่ คือ สถานการณ์ล่าสุด ที่ "บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)" หรือ "บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน)" กำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบันนี้