อนาคตจะร่มเย็นและยั่งยืน ต้องสร้างพื้นที่สนทนาแลกเปลี่ยน
“ภาวะสังคมไทยกำลังถกเรื่องอนาคตในปัจจุบัน เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ต้องเดือดร้อนจิตใจร่วมกัน ถึงวิบากกรรมในสังคม ซึ่งบางส่วนในสังคมหวังพึ่งอำนาจเด็ดขาดมากเกินไป นั่นคือ เด็ดขาดในการแก้ปัญหา โดยไม่หวังพึ่งความรู้ ความเข้าใจร่วมกัน ทำให้วิบากกรรมเหล่านี้ยังหนักหนาสาหัส”
เร็ว ๆ นี้ ที่อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย จัดงานมอบรางวัลผลงานวิชาการที่สร้างสรรค์เเละสร้างผลสะท้อนทางสังคมเเละการเมืองให้เเก่ ศ.เสน่ห์ จามริก ราษฎรอาวุโส และคณะ, ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะ และศ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ
จากนั้น ศ.สุริชัยหวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ 'มองอนาคตประเทศไทยผ่านผลงานทางวิชาการสร้างสรรค์' ว่า โดยย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยประสบปัญหาอุทกภัย หลายคนหวังพึ่งพารัฐ แต่ถึงจุดหนึ่งจะรู้ว่า เราพึ่งพารัฐได้มากน้อยแค่ไหน เเละต้องพึ่งพาตนเองมาก
ฉะนั้นเมื่อต้องเจอโลกไม่มั่นคง รัฐก็ต้องทำหน้าที่อันพึงกระทำ เพื่อดูแลความปลอดภัย แต่หากสังคมไม่รู้จักพึ่งตนเอง เราจะได้รับบทเรียนต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่ปัญหาภัยพิบัติ และความรุนแรงทางการเมือง
นึกว่าจะมีการเจรจาและช่วยคลี่คลายปัญหา หากกลายเป็นการยึดอำนาจไปเลย!!!
ปัญหาเหล่านี้มิใช่การต่อว่าต่อขาน แต่ด้วยสถานการณ์ทางสังคมไม่รู้จักพึ่งพาตนเอง หรือตระหนักถึงอำนาจศักดิ์ศรีทางสังคม ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรช่วยพินิจพิจารณา
“ศักดิ์ศรีที่สังคมมี ต้องตระหนักถึงอำนาจตนเอง เข้าใจคุณค่า เข้าใจตนเอง บางครั้งเราแกว่งไปแกว่งมา หวังพึ่งอำนาจมากเกินไป ถามว่าช่วยอะไรได้บ้าง บริบทเช่นนี้ คิดว่า ผลงานของอาจารย์จะช่วยให้เห็นว่า จะหวังให้เกิดการออกแบบองค์กรใหม่ ๆ โดยละเลยความสัมพันธ์ทางสังคมไม่ได้”
เขาขยายความว่า แท้จริงแล้ว ความไว้วางใจระหว่างกันในสังคมจะสร้างกันอย่างไร แต่ยอมรับหรือไม่ว่า บางครั้งพวกใครพวกมัน ซึ่งน่าผิดหวัง ด้วยการทบทวนตนเองของสถาบันที่น่าจะมีศักดิ์ศรีของอนาคตไม่ช่วยให้เรามีความหวังเท่าที่ควร
เพราะฉะนั้น ในบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดการเสียสมดุลการพัฒนามาก เราจึงต้องเห็นประโยชน์ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางธรรมชาติมากกว่าการใช้ประโยชน์จากกัน
ทั้งนี้ งานวิชาการของ ศ.เสน่ห์ ช่วยตระหนักว่า ความรู้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบตลาด หรืออุตสาหกรรม แต่ความรู้น่าจะมีสำนึกรู้ในการวิพากษ์ตนเอง กล่าวคือ สะท้อนย้อนคิด วิพากษ์ตนเองได้ แต่ไม่ใช่เพื่อสะใจ นอกจากเพื่อสร้างคุณค่าในสังคมให้ได้
อย่างไรก็ตาม พื้นที่สังคมปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จึงเจอโจทย์ที่ยุ่งยากกว่าสมัยใด เพราะพื้นที่สังคมถูกทำลายไป ด้วยเรามีเฉพาะพื้นที่ของพรรคพวก
ศ.สุริชัย ชวนสังคมไทยตั้งคำถามว่า จะดำรงอยู่หรือไม่ เพราะสิ่งที่เห็นประจักษ์ คือ เห็นพรรคพวก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเราหลายส่วนเป็นไปอย่างเดิมไม่ได้แล้ว ต้องสร้างเงื่อนไขให้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในฐานะใดก็ตาม นักการเมือง ทหาร หรือชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันคนลำบาก และถูกอ้างจะได้รับการแก้ปัญหา กลายเป็นผู้ประสบความเดือดร้อน ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่มีเสรีภาพ จึงจำเป็นต้องทบทวน
“ภาวะสังคมไทยกำลังถกเรื่องอนาคตในปัจจุบัน เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ต้องเดือดร้อนจิตใจร่วมกัน ถึงวิบากกรรมในสังคม ซึ่งบางส่วนในสังคมหวังพึ่งอำนาจเด็ดขาดมากเกินไป นั่นคือ เด็ดขาดในการแก้ปัญหา โดยไม่หวังพึ่งความรู้ ความเข้าใจร่วมกัน ทำให้วิบากกรรมเหล่านี้ยังหนักหนาสาหัส”
ฉะนั้นทำอย่างไรให้เกิดบทสนทนาในสังคมระหว่างคน ซึ่งพอจะมีความทุกข์ร้อนร่วมกัน จะหวังพึ่งเฉพาะอำนาจโน้น อำนาจนี้ไม่ได้ นอกจากอำนาจความรู้และความเข้าใจซึ่งกันและกัน มิฉะนั้นจะไม่หลุดพ้นกับดักความรุนแรงหลายอย่างที่หวังพึ่งอำนาจและแก้ไขไม่ได้
แล้วสิ่งที่เป็นทางเลือกสำหรับอนาคตมีหรือไม่ นักวิชากร จุฬาฯ อ้างผลงานวิชาการ ศ.เสน่ห์ อีกว่า ความรู้การพัฒนาประเทศ เป็นความรู้สังคมศาสตร์ ขึ้นอยู่กับการมองความรู้ในกรอบการคิดพัฒนาแบบสังคมอุตสาหกรรม และความเป็นสมัยใหม่ที่อาศัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งภายใต้แนวคิดเหล่านี้ไม่มีทางอื่นหลุดพ้นได้ ยกเว้น แก้ไขปัญหาการพัฒนา ด้วยการก้าวพ้นกับดักพัฒนารายได้ปานกลาง ด้วยการรุกใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น หรือพัฒนาทักษะแรงงาน
ประเด็นสำคัญ คือ ไทยกำลังเผชิญโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมหนักข้อ คือ เสรีนิยมในการพัฒนา ซึ่งแนวโน้มระบบตลาดช่วยแก้ไขปัญหาการพัฒนาทั้งหลาย ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นเพียงสินค้าแลกเปลี่ยน ที่ดินสามารถนำไปจำนองเพื่อความมั่นคงได้ แม้แต่วัฒนธรรมในสังคมก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมด้านสินค้า มากกว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้คุณค่า
“ภายใต้การพัฒนาแนวอุตสาหกรรมนิยมนี้ ในโลกปัจจุบันถึงทางตีบตันอย่างยิ่ง คงไม่ต้องอ้างถึงคำกล่าวของสมเด็จพระสันตะปาปาคนปัจจุบัน โดยเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นประมาณ 80 หน้า ถึงบ้าน ศาสนิกชนว่า ต้องช่วยกันดูแลบ้านที่เราอยู่ร่วมกัน”
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้กลายเป็นเรื่องน่าสนใจมากในแวดวงคริสต์คาทอลิก ซึ่งพูดถึงความเจริญของโลกปัจจุบันหวังพึ่งระบบทุนนิยม แต่ระบบดังกล่าวได้ทำลายความสัมพันธ์ในสังคม ทำลายชุมชน และทำลายระบบนิเวศ
ศ.สุริชัย สรุปทิ้งท้ายว่า ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงจะมีอย่างต่อเนื่องในอนาคตมากขึ้น หากไม่ทบทวน โดยขาดการพิจารณาถึงเส้นทางการพัฒนาที่อาศัยอุตสาหกรรม แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ และฐานความรู้ ยึดคุณค่าด้านเงินตรา จนเสียสมดุลในปัจจุบัน ฉะนั้นการแสวงหาอนาคตที่มีความหมาย ต้องอาศัยแรงบันดาลใจจากผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัลครั้งนี้
“ศ.เสน่ห์ ใช้คำว่า ‘ฐานคิด’ หากไม่ทบทวนฐานสังคมศาสตร์ที่อยู่บนสมมติฐานของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ โดยไม่บันยะบันยัง และใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ของมนุษย์เพื่อการแพ้ชนะในระบบการแข่งขันเหล่านี้ จะไม่ช่วยให้เรามีอนาคตที่ร่มเย็น และยั่งยืนเลย”
ทั้งนี้ อนาคตที่ร่มเย็นและยั่งยืนร่วมกันมีทางเดียวเท่านั้น คือ จะต้องช่วยสร้างพื้นที่ของการสนทนาในการแลกเปลี่ยน .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ