ศ.ธีรยุทธ บุญมี:ความสมานฉันท์ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการเขียน กม.
"...ความสมานฉันท์จะเกิดจากคำสั่งไม่ได้ เกิดจากการร้องเพลงไม่ได้ แต่ต้องเกิดจากความเต็มใจ จากความจริง และความถูกต้อง..."
วันที่ 27 สิงหาคม 2558 ศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยการ ม.ธรรมศาสตร์ บรรยายหัวข้อ ‘สิทธิและอำนาจของประชาชน’ ในงานมอบรางวัลผลงานวิชาการที่สร้างสรรค์และสร้างผลสะเทือนทางสังคมและการเมือง ซึ่งจัดโดยสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ม.ธรรมศาสตร์ ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ.ธีรยุทธ กล่าวตอนหนึ่งว่า ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ต้องเข้าถึงชาวบ้านและชุมชนจริง ๆ ถ้าไม่มีประชาธิปไตยระดับชุมชน โอกาสเกิดประชาธิปไตยมั่นคง แข็งแรง คงลำบาก ปัญหาที่ง่ายมากของไทยจะไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่งพันกัน กลายเป็นดินพอกหางหมู
ทั้งยังมองว่า การแก้ปัญหาของไทยภายหลังเกิดวิกฤตชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) การรัฐประหาร และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วิธีการคิดยังเชื่อปัญหาวิกฤตทางการเมืองสามารถแก้ไขได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทำให้คนที่สมาทานความคิดเช่นนี้ควบคุมแล้ว ยกให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2540, 2549 และ ปัจจุบันก็ทำแบบนั้น ซึ่งทิศทางควรต้องลงไปสู่ตัวคนรากหญ้ามากกว่า แต่ถึงจังหวะหนึ่ง ความสมานฉันท์ไม่สามารถเกิดจากการเขียนกฎหมายขึ้นแน่นอน
ศ.ธีรยุทธ ระบุว่า ความสมานฉันท์จะเกิดจากคำสั่งไม่ได้ เกิดจากการร้องเพลงไม่ได้ แต่ต้องเกิดจากความเต็มใจ จากความจริง และความถูกต้อง ต้องหาความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ต้องชี้แจงกับคนเผยแพร่ความคิดให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การสร้างความสมานฉันท์ไม่ง่าย และต้องมองปัญหาให้ถูก เพื่อจะได้วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
“ปัญหาใหญ่ของไทยมักคิดต่างกัน ชัด ๆ คือ ทหาร หรือ คสช.ยังคิดแบบวิชาชีพของท่าน ซึ่งผมเข้าใจ แต่ท่านสามารถเปิดสมาทานรับความคิดอื่นไปผสมควรหรือไม่ โดยท่านคิดเรื่อง ‘รัฐ-ชาติ-ความมั่นคง’ และให้เหตุผลเข้ามาควบคุมอำนาจเพื่อไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง ไม่ให้รัฐเสียหายมากกว่าที่ผ่านมา” เขากล่าว และว่า คนมองปัญหาชาติแตกต่างกัน แต่สำหรับผมจะให้ความสำคัญกับประเทศมากกว่า เพราะชาติให้ความรู้สึกความรักชาติที่ผูกพันแรง แต่ประเทศจะคิดถึงคนไทย สังคมไทย ชาวบ้าน ผมรักชาติมากเฉพาะเชียร์แข่งกีฬาเท่านั้น
สำหรับสิ่งที่ขาดหายไป ศ.ธีรยุทธ บอกว่า ทำอย่างไรจะนำพลังชาวบ้านหรือประชาชนกลับมาเป็นฐานประเทศ เพราะในระยะยาว พลังของคนมากที่สุด ทั้งแรงกาย ใจ และสติปัญญา จึงจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ปัจจุบันปัญหาไทยทวีความรุนแรงหนักหน่วงมากขึ้นทุกประเด็น ขณะเดียวกัน ยังไม่มั่นใจจะขยายความรับผิดชอบไปสู่ชาวบ้านได้ เพราะทหารคิดเฉพาะความแข็งแรงของรัฐ กังวลเรื่องกระจายอำนาจไปสู่ชาวบ้าน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยจะเสียอำนาจแน่นอน สิ่งที่ต้องทำ คือ ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและดูแลจัดการปกป้องทรัพยากรได้
“ต้องกระจายสิทธิจัดการตนเองของท้องถิ่นให้มากขึ้น ถ้าทำได้จะมีส่วนช่วยให้ชาวบ้านมีประชาธิปไตยเป็นวิถีชีวิต ถ้าไม่มีเรื่องดังกล่าวอย่างไรก็ไม่เกิดขึ้น ต่อให้มีการเลือกตั้ง ชาวบ้านก็เข้าไปอยู่ในระบบอุปถัมภ์อยู่ดี ดังนั้นต้องมีมาตรการและวิธีการที่ละเอียด ซับซ้อน มากกว่าการมีกฎหมาย และต้องผลักดันให้เกิดอัตลักษณ์ ตัวตน เคารพ สิทธิอำนาจของชาวบ้านให้มากขึ้น จึงเป็นหลักการปฏิรูปและแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ”
ศ.ธีรยุทธ ยังวิเคราะห์ถึงการบริหารประเทศของรัฐบาลว่า คนไทยเบื่อและอึดอัดกับการชุมนุมเดินขบวนที่ผ่านมาค่อนข้างสูงมาก นำมาสู่ความนิยมในตัวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บวกกับบุคลิกส่วนตัวบางอย่าง พูดตรงไปตรงมา โผงผาง ทำให้คนเชื่อว่า ท่านไม่ต้องการผลประโยชน์หรือคอร์รัปชัน เป็นเหตุให้มีคะแนนนิยมดี
หากความนิยมนั้นมิได้มาจากผลงานเชิงบริหาร หรือผลงานเชิงปฏิรูป แต่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมา คิดว่านักการเมืองปกติก็ทำได้ ฉะนั้น อนาคตถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้น คนจะทวงหารากเหง้าของปัญหาการปฏิรูปจะทำอย่างไร และไม่มีเกิดขึ้น เมื่อผ่านไป 2-3 ปี ท่านจะมีเหตุผลหรือไม่ในการอยู่ในอำนาจต่อไป
เขาจึงเห็นว่า อย่าประเมินสถานการณ์มีเสถียรภาพ เพราะสักวันหนึ่งอาจพลิกกลับ แล้วการตั้งคำถามก็จะชัดเจนมากขึ้น ไทยปฏิรูปแล้วหรือไม่ ขณะที่วิถีทั่วโลกต่างกดดันการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไทยมีการสนับสนุนมากน้อยเพียงใด ยอมรับว่า คำถามเหล่านี้แรง
หากไม่ระวัง หรือมีอะไรบางอย่างส่อไปสู่จุดความพยายามอยู่ในอำนาจต่อไป จะเป็นอันตราย อาจเกิดความขัดแย้งและปะทุขึ้นใหญ่มากกว่าที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นมีสัญญาณเตือน เพียงเหตุปัจจัยอาจนำไปสู่ได้ .