"มารา ปาตานี"เปิด3ข้อเรียกร้อง จี้ "ประยุทธ์"ใช้ ม.44 ประกาศวาระแห่งชาติ
กลุ่ม “มารา ปาตานี” ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของกลุ่มเคลื่อนไหวปลดปล่อยปัตตานี 6 กลุ่ม ได้เปิดแถลงข่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ประกาศจุดยืนเป็นกลุ่มพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐบาลไทย พร้อมเรียกร้องให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ
ก่อนการแถลงในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558 ตัวแทนของ “มารา ปาตานี” จำนวน 7 คนได้ร่วมประชุมโต๊ะกลมกับสื่อมวลชนไทยจำนวน 14 คน และผู้สื่อข่าวมาเลเซียอีก 4 คน ที่ห้องประชุมชั้น 22 โรงแรม Primera ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่เวลา 10.00 น.ถึง 12.20 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยไม่อนุญาตให้สื่อนำอุปกรณ์บันทึกเสียงเข้าไปในห้องประชุม และห้ามถ่ายภาพ
ตัวแทนของ มารา ปาตานี ทั้ง 7 คนประกอบด้วย นายอาวัง ยาบะ จากบีอาร์เอ็น เป็นประธาน มารา ปาตานี หรือสภาซูรอแห่งปาตานี , นายสุกรี ฮารี หรือ อุสตาซสุกรี จากบีอาร์เอ็น ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของ มารา ปาตานี, ดร.อารีฟ มุคตาร์ จากกลุ่มพูโลใหม่ (PULO MKT), นายอาบูยาซิน อาบัส จากกลุ่มจีเอ็มไอพี, ฮัจยีมะห์มุต ชูโว จากบีอาร์เอ็น, นายอาบูฮาฟิส อัล ฮากิม จากบีไอพีพี และ นายอาบูอากรัม บินฮาซัน จากกลุ่มพูโลเก่า
สรุปประเด็นจากการประชุมโต๊ะกลม คือ กลุ่ม มารา ปาตานี ระบุว่า ทุกขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ จุดมุ่งหมายสูงสุดคือเอกราช แต่เงื่อนไขดังกล่าวอยู่ที่การพูดคุยกับรัฐบาลไทย ขณะนี้การพูดคุยยังอยู่ในช่วงของการสร้างความไว้วางใจต่อกัน โดยทางกลุ่มมารา ปาตานี เสนอข้อเรียกร้องต่อทางการไทย 3 ข้อประกอบด้วย
1.กำหนดให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องแม้เปลี่ยนรัฐบาล
2.ยอมรับองค์กร มารา ปาตานี ว่าไม่ใช่กลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และเป็นองค์กรที่อยู่บนโต๊ะเจรจา
3.ให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของ มารา ปาตานี จำนวน 15 คน เพื่อให้สามารถเดินหน้าการพูดคุยอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนท่าทีของกลุ่มพูโล พีโฟร์ (PULO P4) ของนายซัมซูดิง คาน ที่ไม่ได้เข้าร่วมพูดคุยครั้งที่ 3 กับคณะพูดคุยตัวแทนรัฐบาลไทย เมื่อวันอังคารที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องการไม่เข้าใจในข้อตกลงบางประการ แต่ก็ได้แก้ปัญหาไปแล้ว และกลุ่มพูโล พีโฟร์ ยังอยู่ใน มารา ปาตานี ยังไม่ได้ออกจากกลุ่ม และตัวแทนของกลุ่มจะเข้ามาร่วมพูดคุยตอนไหนก็ได้
ส่วนเรื่องที่จะมีการสื่อสารกับคนในพื้นที่ปาตานี (หมายถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ให้เข้าใจการทำงานของกลุ่ม มารา ปาตานี นั้น หากตัวแทนกลุ่มยังไม่สามารถเข้าไปทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ได้ ทางกลุ่มก็จะเชิญคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน หรือผู้นำชุมชน มาพูดคุยกันนอกพื้นที่ และเมื่อขั้นตอนไปถึงจุดที่ทางกลุ่มสามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ก็จะเดินทางไปทำความเข้าใจถึงในพื้นที่ แต่แนวทางนี้คงต้องใช้เวลาสักพัก
เมื่อถามถึงความจริงใจของรัฐบาลไทยนั้น ทางตัวแทน มารา ปาตานี บอกว่า คงวัดยาก แต่ความจริงจังนั้น คาดว่าน่าจะดูได้จาก 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มที่เสนอไปแม้ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากรัฐบาลไทยก็ตาม
สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าขบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขขณะนี้ยังอยู่เพียงขั้นตอนของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จะให้ยุติสถานการณ์ความรุนแรงคงเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงขั้นเซ็นสัญญาหยุดยิง หากทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจ เชื่อว่ากระบวนการสันติภาพจะเดินต่อไปได้ แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีความจริงใจ ก็คิดว่าจะมีการใช้ความรุนแรงต่อไป และหากยังไม่มีการยอมรับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อที่ได้เสนอไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็จะไม่มีกลุ่มไหนออกมายอมรับว่าเป็นคนทำ
ในทุกกระบวนการสันติภาพย่อมมีกลุ่มผู้ก่อกวนเสมอ แต่ถ้าหากรัฐบาลไทยจริงใจที่จะเดินหน้ากระบวนการสันติภาพต่อไป พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็สามารถใช้มาตรา 44 กำหนดทิศทางกระบวนการสันติภาพได้ เพราะขณะนี้ทราบมาว่ายังไม่ได้มีการกำหนดให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ
ตัวแทนของ มารา ปาตานี ยังชี้แจงด้วยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาที่เกิดความรุนแรงในพื้นที่ กลุ่มบีอาร์เอ็น (ที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มปฏิบัติการหลักในพื้นที่ชายแดนใต้) ไม่มีนโยบายทำลายเป้าหมายอ่อนแอ แต่ที่เป้าหมายอ่อนแอต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เกิดจากการถูกลูกหลงเท่านั้น
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หากจะให้ออกมายอมรับว่าเป็นการกระทำของใคร คิดว่าต้องไปทำความเข้าใจในองค์กรบีอาร์เอ็นก่อน และสิ่งที่อยากขอกับสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าว ก็คือ ขอให้ใช้คำว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ควรใช้ คำว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน
เมื่อถามถึงข้อเสนอจากคณะพูดคุยฝ่ายไทย ผู้แทน มารา ปาตานี บอกว่า ทางคณะพูดคุยฝ่ายไทยได้เสนอ 3 ข้อเช่นกัน คือ 1.สร้างพื้นที่ปลอดภัย 2.พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และ 3.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วน ซึ่งทาง มารา ปาตานี รับไปพิจารณา
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ห้องประชุมที่ใช้ประชุมโต๊ะกลมระหว่าง มารา ปาตานี กับสื่อมวลชนไทย
2-3 โรงแรมที่ใช้ประชุม อยู่ในย่านจอแจของกัวลาลัมเปอร์