อดีตรองผอ.สำนักข่าวกรอง เตือนสื่ออย่าตกเป็นเหยื่อการก่อการร้าย
อดีตประธานสภาการฯ ชี้สื่อต้องรู้จักรอข้อมูลเพื่อเป็นสารตั้งต้นที่ถูกต้อง พร้อมทำหน้าที่ควบคู่ความเป็นพลเมืองของประเทศ ด้านผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสย้ำต้องถอดบทเรียนแนะผู้ปฏิบัติงานด้านข่าวศึกษาองค์ความรู้สถานการณ์รุนแรงป้องกันการนำเสนอที่สร้างผลกระทบต่อสังคม
วันที่ 27 สิงหาคม2558 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับหลักสูตรนิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต และหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “ทำข่าววิกฤตไม่ให้วิกฤต...บทเรียนจากแยกราชประสงค์” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงเหตุการณ์การทำข่าวของสื่อมวลชนบริเวณแยกราชประสงค์นั้นถือเป็นการรายงานข่าวในสถานการณ์ความอ่อนไหวและเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นอกเหนือจากการรายงานข้อเท็จจริงแล้วก็อาจจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหน้าที่ของความเป็นพลเมืองควบคู่ไปด้วยว่า สิ่งที่กำลังจะนำเสนอนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมและทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง หรือสร้างความสับสนในสังคมหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญของการก่อเหตุการณ์ก่อการร้ายนั้น นายจักร์กฤษ กล่าวว่า ยิ่งมีการแสดงรายละเอียดของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น
นายจักร์กฤษ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สื่อควรทำในการนำเสนอข่าวภายใต้เหตุการณ์ความรุนแรงและความอ่อนไหว คงเป็นเรื่องที่สื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการทำจะทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าว ด้วยการปฏิบัติโดยคำนึงถึงความถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน นำเสนอสิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหูมากกว่าการที่จะวิเคราะห์หรือวิจารณ์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ส่วนภาพข่าวที่ตอกย้ำความขัดแย้งและความรุนแรง เช่น ชายเสื้อเหลืองเดินไปที่เกิดเหตุ นาทีถัดมาควรจะเห็นภาพระเบิด แต่สื่อก็ใช้คำอธิบายแทนการฉายภาพระเบิด และถัดมาเป็นเรื่องการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องว่าแหล่งข่าวมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามการนำเสนอจะต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งยังเชื่อว่าคนทำสื่อน่าจะพอเข้าใจได้ว่าอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ
อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่สื่อไม่ควรทำนั้น คือการเสนอข่าวอย่างไม่ระมัดระวัง หรือการทำซ้ำภาพความรุนแรงเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการทำซ้ำโดยสื่ออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาพศพ ภาพชิ้นเนื้อที่ถูกระเบิดทำลาย หรือการรายงานรายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต ว่ามีสัญชาติอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ตามอีกว่าเขาเป็นใครซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
“วันนี้การรายงานข่าวเป็นการรายงานข่าวที่มากกว่าข้อเท็จจริง เพราะหากย้อนไปดูวันแรกของการเกิดเหตุที่แยกราชประสงค์ มีการระบุว่าเป็นการกระทำของแขกขาว โยงมาที่อุยกูร์ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการที่สื่อมวลชนโหยหาประเด็นใหม่แล้วหยิบฉวยมาใช้โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง”
ทั้งนี้นายจักร์กฤษ กล่าวด้วยว่า สื่อมวลชนต้องระมัดระวังและไม่นำเสนอภาพข่าวที่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อไม่ให้เกิดประเด็นดราม่าในสังคม รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่จะต้องไม่ไปขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกิดเหตุ และต้องไม่นำเสนอเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกหรือล้อเล่นกับความเจ็บปวดกับคนในสังคมในเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่สำคัญการไปตามสัมภาษณ์พยานบุคคล ทั้งการถ่ายภาพ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายเรื่องการคุ้มครองพยานแล้วยังแสดงให้เห็นว่าสื่อขาดความละเอียดอ่อนในการคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
“ทุกคนรู้ว่าข้อควรปฏิบัติคืออะไร หากจะช้าสักนิดแต่ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง และหากอยู่ในพื้นที่ก็ต้องหลีกเลี่ยงที่จะไม่นำเสนอในสิ่งที่ไม่แน่ใจเพื่อที่จะได้ไม่เป็นสารตั้งต้นที่ผิด”
ด้านนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การรายงานข่าวในเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก สิ่งที่เป็นแรงผลักดันสำคัญคือความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นความอยากรู้อยากเห็นจึงถูกส่งผลมายังสื่อมวลชนที่จะต้องทำหน้าที่แบบปกติบนสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และเหตุการณ์ระเบิดไม่ว่าจะสื่อในในโลกนี้ก็ต้องนำเสนอว่าเกิดอะไรขึ้นและเกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นเป็นปกติที่สื่อจะต้องรายงานอย่างเกาะติด ซึ่งก็ต้องมีข้อมูลและวัตถุดิบมารายงาน แม้ข้อมูลจะมีความสับสนแต่สื่อก็จำเป็นรายงาน
"จะอีกกี่ปีปัญหาก็จะยังคงเป็นแบบนี้ หากสื่อไม่รู้ว่าจะรับมือกับข้อมูลและวัตถุดิบของข้อมูลอย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบตามมาน้อยที่สุด" นายก่อเขต กล่าว และว่า สื่อมวลชนจะต้องตระหนักและเห็นพ้องต้องกันว่าตกลงแล้วการรายงานข่าวมุ่งรายงานเพื่ออะไร เพื่อข้อเท็จจริงที่รอบด้านที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด เพราะแม้จะมีจรรยาบรรณมาควบคุม แต่หากไม่ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้เพื่อสะท้อนบทบาทหน้าที่ของตัวเอง การรายงานข่าวที่ส่งผลกระทบบนสถานการณ์ที่ไม่ปกติย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้อำนวยการสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวด้วยว่า การทำข่าวแบบเจาะลึกสื่อมีเสรีภาพในการที่จะทำและนำเสนอ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวนักข่าวเพียงคนเดียว ยังมีการอาศัยข้อมูลจากบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งบุคคลเหล่านั้นอาจจะตีความการให้ข้อมูลเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นสื่อจำเป็นต้องรู้เท่าทันในทุกด้าน และต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้สังคมเกิดความสงบ ที่สำคัญวันนี้ถึงเวลาแล้วที่คนในสังคมรวมทั้งสื่อเองจะต้องรู้จักคำว่ารอ เพราะการสืบสวนสอบสวนจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา หากจะนำเสนอประเด็นเพื่อมารายงานต่อก็ต้องไม่สร้างปัญหาให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่
“ผู้ปฏิบัติงานด้านข่าวจำเป็นต้องศึกษาและพยายามหาองค์ความรู้จากสถานการณ์ข่าวที่มีความขัดแย้งและรุนแรงเพื่อลดความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นนั้นน้อยลง”
ขณะที่นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวถึงเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ นักข่าวที่เข้าถึงพื้นที่ได้เป็นอันดับแรกจะเป็นนักข่าวสายอาชญากรรม ซึ่งในต่างประเทศเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะเป็นนักข่าวสงคราม หรือนักข่าวที่ทำงานในพื้นที่ความรุนแรง ซึ่งเขาจะรู้หลักในการปฏิบัติงานในพื้นที่ลักษณะนี้
ทั้งนี้ได้ติดตามข่าวในวันที่ 17 สิงหาคม 2558 พบว่าการรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยมั่วแบบไปไหนกันคนละที่ มีการระบุถึงแขกข่าว วันต่อมาโยงมาที่อุยกูร์ บอกว่าระเบิดครั้งนี้อุยกูร์มาแก้แค้น จึงอยากจะถามว่า เอาฐานข้อมูลมาจากไหน แล้วเอาข้อมูลอะไรมารายงาน ได้วิเคราะห์หรือยังว่าน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด
อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ยอมรับว่า เหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์นั้นมีความรุนแรงกว่าอาชญากรรมปกติ ถามว่าเหตุการณ์ครั้งคือเรียกกว่าก่อการร้ายหรือไม่นั่นก็ยังระบุชัดไม่ได้ แต่อย่างน้อยเหตุการณ์ครั้งนี้คือการก่อร้ายต่อมนุษยชาติเพราะผู้กระทำประสงค์ให้มีคนตาย มุ่งหวังให้เกิดเสียงดังและต้องการให้เป็นข่าว และเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกสื่อก็รายงานอย่างรวดเร็วและทำให้ข่าวไปไกลกว่าความเป็นจริง
“ผมไม่โทษสื่อที่ลงไปทำงานในพื้นที่ แต่โทษบรรณาธิการข่าวที่ไม่กลั่นกรองอะไร ไม่ประเมินข้อมูล ไม่ประเมินค่าของแหล่งข่าว เมื่อสื่อแข่งขันกันมากก็เกิดเหตุการณ์ไม่คัดกรองความจริงว่าคืออะไร เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ได้ยินมาแต่อาจจะไม่ใช่ความจริง”
นายนันทิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การก่อการร้ายแพร่กระจายไปทั่วโลกและมีการต่อสู้ในหลายประเทศ ซึ่งนี่เป็นเครื่องมือในการสร้างความกลัวให้กับผู้คน เมื่อประชาชนเกิดความหวาดกลัวก็จะมีการต่อรองเพื่อให้รัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้อง ยิ่งประชาชนกลัวเท่าไหร่นั่นหมายถึงชัยชนะของผู้ก่อการร้าย ดังนั้นสื่อมวลชนไม่ควรนำเสนอข่าวอย่างหวือหวา แต่ให้คำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และอย่าตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้าย
“และอยากจะฝากสื่อมวลชนอีกเรื่อง รวมถึงมหาวิทยาลัยที่สอนหลักสูตรนิเทศศาสตร์ว่าอาจจะต้องมีการอบรมสื่อมวลชนในภาคสนามที่มีความรุนแรง หรือการสงครามว่าอะไรที่สามารถทำได้ทำไม่ได้ และสิ่งใดต้องระมัดระวัง เนื่องจากเข้าใจได้ว่าสื่อมวลชนในปัจจุบันไม่ได้เรียนเรื่องความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว”