ผลวิจัยเผย นักศึกษากว่า 5 แสนติดพนัน ฟุตบอลอันดับ 1
ผลวิจัยเผยนักศึกษากว่า 5 แสนติดพนัน ฟุตบอลมาอันดับ 1 รองลงมา ไพ่ หวย สาเหตุจากเพื่อนชวน สื่อชี้นำ ด้าน 8 มหาลัยนำร่องจับมือต้านพนันในสถานศึกษา แนะปลูกฝังต้านนักพนันหน้าใหม่ตั้งแต่ชั้นปีที่1
นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน กล่าวถึงรายงานการสังเคราะห์ความรู้เรื่องการพนันในสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาระหว่างปี 2555-2556 ของคณะสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง พบว่า นักศึกษามากกว่า 500,000 คน มีประสบการณ์เล่นการพนันฟุตบอลมากที่สุด รองลงมาเล่นไพ่ และซื้อหวยใต้ดินตามลำดับ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเล่นการพนันในมหาวิทยาลัยคือ เพื่อนชักจูงมาอันดับที่ 1 รองลงมา สื่อ ที่มีการโฆษณาชักชวนให้เล่นการพนันตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่ออนไลน์ และสื่อหนังสือพิมพ์ เป็นต้น รวมไปถึงการขาดมาตราการจัดการปัญหาการพนันที่จริงจังเข้มงวด ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน ด้านสังคม การขายบริการทางเพศ และปัญหาอาชญากรรมตามมา
“ปัญหาการพนันในมหาวิทยาลัย ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ที่ต้องตระหนักและเห็นความสำคัญของการต้านพนัน ซึ่งแนวทางการดำเนินการในเบื้องต้น สิ่งแรกต้องมีการรณรงค์ไม่ขายล็อตเตอรรี่ในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยต้องมีมาตราการปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงการพนันออนไลน์ด้วยการติดตั้งโปรแกรม Free Gambling Browser หรือ Block Software และที่สำคัญต้องมีการปลูกฝังให้นิสิต นักศึกษา ตระนักถึงปัญหาและผลกระทบจากการพนัน และร่วมกันสร้างเครือข่ายนักศึกษาหยุดพนันในสถานศึกษา ถึงจะเป็นจุดเริ่มในการต้านพนันแบบยั่งยืนในสถานศึกษา” ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน กล่าว
ด้านผศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ สำนักงานวิชาศิลปะศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า การรณรงค์ต้านพนันในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมา อาจไม่โฟกัสเจาะจงแบบเข้มงวดมากนัก ส่วนใหญ่มักพูดถึงแต่เรื่อง เหล้า ยาเสพติด การพนันจึงเปรียบเสมือนคนชายของที่น้อยคนนักจะพูดถึง จากนี้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องพูดถึงอย่างจริงจังเสียที เพราะถ้าไม่มีการรณรงค์อย่างจริงจังก็จะกลายเป็นไฟลามทุ่งยากเกินเยียวยา
ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า จากการทำผลวิจัยเรื่องการพนันของนักศึกษาในพื้นที่จ.เชียงรายติดชายแดนพบว่า นักศึกษาผู้หญิงเล่นพนันมากกว่านักศึกษาชาย และการพนันคนส่วนใหญ่มองว่า ไม่เป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากครอบครัวพ่อแม่ก็เคยเล่นหวย ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ทราบว่า มวยตู้มีการเล่นกันทุกอาทิตย์ รวมไปถึง หวยหุ้นที่เล่นกันทุกวัน มีชาวบ้านบางคนถึงกับบอกว่า ค่าเทอมลูกมาจากเงินพวกนี้
นายฉัตรชัย เงินโพธิ์กลาง จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการพนันในนักศึกษา อยากเสนอแนะว่า ควรเน้นไปที่การป้องปรามนักพนันหน้าใหม่ ที่เน้นไปที่การสื่อสารผ่านรุ่นพี่รุ่นน้องเพื่อให้เห็นและตระหนักถึงโทษจากการพนัน
“การป้องปรามนักพนันหน้าใหม่ ควรเริ่มปลูกฝังนักศึกษาตั้งแต่ปี 1 โดยรูปแบบอาจอยู่ส่วนของพี่เตือนน้อง หรือทางมหาวิทยาลัยเองมีการจัดการให้ความรู้ ทำสื่อที่นักศึกษาสนใจติดตาม เช่น หนังสั้น หรืออาจคิดแคมเปญ เพื่อการรณรงค์ต้านพนัน อย่างเช่นวันที่1 วันที่ 16 ให้กำหนดไว้เลยว่าจะทำกิจกรรมต้านพนันอะไรบ้าง หรืออย่างน้อยจัดกิจกรรมวันปฐมนิเทศก้าวแรกในรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้เป็นตราประทับไว้ในใจนักศึกษาใหม่ไปเลย”นายฉัตรชัย กล่าว
ผศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การทำกิจกรรมรณรงค์ต้านการพนัน อาจโยงเข้าสู่กิจกรรมทางศาสนา อย่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะใช้จารีต ศาสนา กฎสังคมในการจัดการ ทั้งนี้การพนันมักถูกมองว่า เป็นระบบจารีตอยู่แล้ว เราจึงต้องใช้ กฎสังคมผ่าน กฎหมายชารีอะห์ ที่ระบุว่า การพนันเปรียบเสมือนปีศาจ เงินที่ได้จากการพนัน จะนำมาลงมุน หรือจะทำธุรกิจจะถูกสังคมตรีตราว่าบาป
ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า จากผลการหารือในวงเสวนาจากตัวแทนมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่ง เห็นตรงกันว่า แต่ละมหาวิทยาลัยจะไปสำรวจปัญหาการพนันในพื้นที่ ซึ่งรูปแบบจะขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละพื้นที่ จากนั้นจะมีการนำเสนอเป้าหมายและแนวทางกลับมายัง ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน(ICGP) พร้อมจัดทำเป็น Campus visit เพื่อร่วมกันถอดบทเรียน รวมถึงขยายเป็นเครือข่าย ไปยังที่อื่นๆ เกี่ยวกับการต้านพนันในสถานศึกษาร่วมกัน