ภาคเกษตรพังยับ 15 ล้านไร่ นาข้าว 13 ล้านไร่ อีสาน-ใต้เร่งขุดคลองระบายน้ำ
เครือข่าย 3 ลุ่มน้ำอีสาน ถกรับมือวิกฤตน้ำท่วม เผยต้องเปลี่ยนจากนาปีเลื่อนเป็นนาปรังหลังน้ำหลาก แนะสรุปบทเรียนทำคลังปัญญาท้องถิ่นทุกลุ่มน้ำ ส่วนคนใต้แนะเร่งขุดลอกคูคลองระบายน้ำลงอ่าวปัตตานี สนง.เศรษฐกิจเกษตร ชี้พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 15 ล้านไร่ 8 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่กรุงเทพฯ กำลังรับมือปัญหาอุทกภัยที่ลุกลามยังพื้นที่เขตต่างๆ ตามข้อมูลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.54 ประกาศเตือนให้พื้นที่ 15 เขตอพยพคนหรือเฝ้าระวังใกล้ชิด คือ สายไหม ลาดกระบัง คันนายาว มีนบุรี คลองสามวา หนองจอก บางพลัด ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน ดอนเมือง หลักสี่ บางคอแหลม ลาดพร้าว วังทองหลาง และจตุจักร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยหนัก
เครือข่าย 3 ลุ่มน้ำภาคอีสาน คือ ลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลจัดเวทีแสดงความคิดเห็นต่อวิกฤตอุทกภัยอีสานขณะนี้ ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น จ.ขอนแก่น โดย นายคงเดช เข็มนาค กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กล่าวว่าปีนี้ปัญหาน้ำท่วมหนักกว่าทุกครั้ง จาก 1 เดือน เป็น 3 เดือน เพราะฝนมาก ทำให้เขื่อนระบายน้ำออกมามาก ส่งผลให้ระบายน้ำไม่ทันเนื่องจากคันคูและจุดระบายน้ำมีขนาดเล็ก จนทำให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนการทำนาปีมาทำนาปรังหลังฤดูน้ำหลาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
รศ.สุจินต์ สิมารักษ์ คณะทำงานโครงการจัดการวิกฤติน้ำในภาคอีสาน เสนอว่าที่ผ่านมาการแก้ปัญหาน้ำต่างคนต่างทำไม่บูรณาการร่วมกัน ทำให้เกิดวิกฤติน้ำภาคอีสาน ต่อไปจึงควรร่วมกับชุมชนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยทำคลังภูมิปัญญาท้องถิ่นทุกลุ่มน้ำ รวมถึงองค์ความรู้วิชาการและเชื่อมโยงสู่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ทุกจังหวัดของภาคใต้ได้เตรียมรับมือกับมรสุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยนายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี กล่าวว่าช่วงหน้าฝนของภาคใต้คือประมาณ ต.ค.-ธ.ค. ได้ประสานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อร่วมประเมินและหาแนวทางการป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมขังในพื้นที่เสี่ยง เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำปีนี้ เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องการจัดการน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการขุดคลองในจุดตื้นเขิน เร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวปัตตานี เพื่อลดปัญหาน้ำทะเลหนุน
“ช่วงที่ภาคกลางเผชิญสถานการณ์น้ำรุนแรงเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการจัดการน้ำที่ต้องมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ จึงต้องอาศัยบทเรียนในอดีตมาแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำ พร้อมกับเร่งเตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วมอย่างเต็มที่” นายพิทักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยข้อมูลความเสียหายจากน้ำท่วมต่อภาคเกษตรว่า มีพื้นที่เสียหายไม่ต่ำกว่า 15 ล้านไร่ โดยเป็นนาข้าว 13 ล้านไร่ ที่เหลือคือพืชไร่ พืชสวน ประเมินความเสียหายที่ 80,000 ล้านบาท ด้านพืชได้รับความเสียหายมากที่สุดถึงร้อยละ 87 ของมูลค่าความเสียหาย ด้านประมงร้อยละ 10 และปศุสัตว์ร้อยละ 3 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจร้อยละ 3.9 ของจีดีพีภาคการเกษตร.
ที่มาภาพ : http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=395:2011-03-29-07-52-58&catid=46:2011-03-28-07-20-44&Itemid=153