นักพยากรณ์เศรษฐกิจชี้ข้าวยากหมากแพงอีก 2 ด. นักมานุษยวิทยาเตือนระวังกลียุค
นักมานุษยวิทยา ชี้เหตุน้ำท่วมเพราะผังเมืองล้มเหลว-สร้างนิคมอุตฯทำลายทางน้ำ แนะรัฐเร่งฟื้นฟูคนเดือดร้อนก่อนเกิดภาวะแย่งกันกินอยู่ นักพยากรณ์เศรษฐศาสตร์ทำนายยุคข้าวยากหมากแพงจากวิกฤติน้ำท่วมจะลากยาวอีก 2 เดือน แนะ ก.พาณิชย์ นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น
จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพฯ และส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนทั้งที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องการยังชีพกำลังขาดตลาดอย่างหนัก และมีราคาแพงขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจราคาสินค้าในท้องตลาด อาทิ ของกิน ราคาไข่ไก่ที่เพิ่มสูงขึ้นถึงแผงละ 200 บาทข้าวสารขึ้นเป็นกิโลกรัม(กก.)ละ 60-70 บาท ผักชี กก.ละ 220 บาท ผักบุ้งกก.ละ 60 บาท เรือพลาสติก ส่วนสินค้าพิเศษที่จำเป็นต่อการอพยพหนีน้ำท่วม เช่น เรือพลาสติก ราคาเเฉลี่ยลำละไม่น้อยกว่า 8,500 - 12,000 บาท ส่วนเรือที่ทำจากเหล็กราคาลำละไม่น้อยกว่า 6,500 บาท
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์-มานุษยวิทยา เปิดเผยกับ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าสาเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคกลาง เกิดจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมทับพื้นที่ไหลของน้ำ โดยเฉพาะในจังหวัดอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำมาแต่โบราณ ทั้งนี้ผังเมืองโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมาได้วางระบบทางน้ำไหลอย่างมีประสิทธิภาพ
กระทั่งปี 2485 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้สร้างถนนมากมายขวางทางน้ำ จึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น ครั้งนี้เช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่จากถนนกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นมากมายในพื้นที่ต่ำของภาคกลางตลอดจนถึงภาคตะวันออก โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิที่สมควรเป็นพื้นที่รับน้ำมากกว่าการสร้างมหานครสุวรรณภูมิ
“กรุงเทพฯและปริมณฑลจำเป็นต้องเจอกับน้ำท่วมยาวนานถึงสองเดือน ไม่ได้หมายความว่าน้ำจะเพิ่มขึ้นหรือลด แต่น้ำจะวนอยู่ในพื้นที่ เพราะไม่มีทางน้ำออก ยิ่งเจอน้ำทะเลหนุนก็ยิ่งเพิ่มความเดือดร้อนมากขึ้น ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องจึงควรเร่งหาวิธีฟื้นฟูประชาชนที่เดือดร้อนอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นคนไทยอาจจะแก่งแย่งกันกินอยู่ในอนาคตได้” รศ.ศรีศักร กล่าว
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัญหาสินค้าราคาแพงในช่วงวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ มาจากการคมนาคมที่ลำบาก ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งแหล่งผลิตหลายแห่งถูกน้ำท่วมจึงผลิตสินค้าได้น้อยลง และสาเหตุอีกประเด็นมาจากเรื่องจิตวิทยาของคน คือเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมขังทุกพื้นที่ ทำให้คนตื่นตระหนกออกมาหาซื้อสินค้าเพื่อกักตุนไว้อย่างมาก ทำให้สินค้าขาดตลาด สรุปคือขณะที่ของมีน้อยกว่าปกติแต่คนซื้อมากกว่าปรกติ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าถือโอกาสขึ้นราคา
“เหตุผลสำคัญคือคมนาคมขนส่งลำบาก การผลิตไม่ทัน บางคนพร้อมผลิตแต่ขนไม่ได้ เรือขนส่งไม่มี บางจุดหารถใหญ่ไม่ได้ ของจำนวนน้อย คนต้องการใช้มีมาก เลยเกิดเป็นปัญหาใหญ่ แนวโน้มผลกระทบที่เกิดขึ้นจะลากยาวไปไม่น้อยกว่า 2 เดือน” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าว
นักพยากรณ์เศรษฐกิจ ยังกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องขยับเข้ามาแก้ไขเพื่อกันเหนียวไว้ก่อน ด้วยการเปิดช่องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค จำพวกน้ำดื่ม สบู่ ยาสีฟัน อาหารสำเร็จรูป หาวิธีขนส่งที่ไม่เกิดอุปสรรคต่อการกระจายสินค้า ซึ่งคาดว่านับจากนี้ไปจนถึงประมาณกลางเดือน พ.ย. หรือต้นเดือน ธ.ค.ปัญหาการขนส่งจะเบาบางลง .