กฤษฎีกายันซ้ำ!สตช.ฟันวินัย 'พล.ต.ต.วิชัย'ได้ หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลผิดปี'55
กฤษฎีกายันซ้ำ! สตช.ฟันวินัย “พล.ต.ต.วิชัย” หรือ “มือปราบหูดำ” ได้ หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลผิดปมบังคับใช้หนี้เจ้าหนี้พนัน ชี้การไต่สวน ป.ป.ช. มีผลเหมือนการสอบสวนผู้บังคับบัญชา-อยู่มาตรา 94 พ.ร.บ.ตำรวจฯ ไม่สามารถลบล้างผลการทำงานของ ป.ป.ช. ได้
จากกรณีเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2555 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ (ฉายามือปราบหูดำ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลภาค 1 (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) กับพวก กรณีใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จับกุมผู้กล่าวหาแล้วบีบบังคับให้ใช้หนี้เจ้าหนี้พนัน โดยส่งรายงานเอกสารตลอดจนความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญา และส่งไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2555 พล.ต.ต.วิชัย ได้แถลงข่าวขอลาออกจากราชการ (ปี 2556 ถูกแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.) ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดดังกล่าว ส่วนในด้านคดีถูกส่งไปยังกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยต้องส่งต่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขณะนั้น พิจารณาตัดสินโทษทางวินัยผ่านคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
หลังจากนั้น สตช. ได้ส่งหนังสือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2557 โดยขอหารือเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจซึ่งลาออกจากราชการเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ พล.ต.ต.วิชัย โดยเรื่องนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นกรรมการกฤษฎีกาด้วย) ได้ให้ความเห็นว่า การดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีผลเช่นเดียวกับการดำเนินการสอบสวนของผู้บังคับบัญชาและอยู่ในความหมายของการสอบสวนตามมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
ดังนั้นการที่ พล.ต.ต.วิชัย กับพวก ได้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไว้แล้วก่อนจะออกจากราชการจึงเป็นกรณีที่ถูกสอบสวนอยู่แล้วก่อนออกจากราชการ และการสอบสวนได้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันออกจากราชการ สตช. จึงยังมีอำนาจและหน้าที่ที่จะต้องลงโทษ พล.ต.ต.วิชัย กับพวก ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ล่าสุด สตช.ได้มีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 แจ้งว่า ก.ตร. ได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2557 ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) และเห็นชอบให้มีการทบทวนความเห็น โดย ก.ตร. เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ ในส่วนที่จะดำเนินการลงโทษทางวินัยกับตำรวจที่ออกจากราชการไปแล้วนั้น หากเป็นกรณีถูกชี้มูลความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ต้องสอบสวนให้เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งในกรณีของ พล.ต.ต.วิชัย นั้น ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดภายหลัง พล.ต.ต.วิชัย กับพวก ออกจากราชการไปแล้ว โดยไม่มีกรณีถูกสอบสวนในกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังนั้น สตช. จึงไม่สามารถดำเนินการทางวินัย พล.ต.ต.วิชัย กับพวกได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทน สตช. และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า
การสอบสวนในกรณีการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หมายความรวมถึงการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หรือไม่ อย่างไร
ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่า การตีความมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ย่อมไม่อาจตีความให้มีผลขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ เมื่อมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดข้าราชการผู้ใดแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ กำหนดให้การพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจที่ออกจากราชการไปแล้วสามารถกระทำได้ หากข้าราชการตำรวจผู้นั้นถูกสอบสวนการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงไว้แล้วก่อนวันที่ข้าราชการตำรวจจะออกจากราชการ และการสอบสวนได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ข้าราชการตำรวจออกจากราชการ โดยมาตรา 94 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติว่าการสอบสวนดังกล่าวจะต้องเป็นการสอบสวนตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ เท่านั้น
ดังนั้น การดำเนินการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีผลเช่นเดียวกับการดำเนินการสอบสวนของผู้บังคับบัญชา และอยู่ในความหมายของการสอบสวนตามมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ด้วยเช่นกัน
สำหรับข้ออ้างว่าวิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการในการสอบสวนของข้าราชการตำรวจมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแตกต่างจากที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น เห็นว่า ความแตกต่างดังกล่าวหาเป็นเหตุให้เป็นการลบล้างผลแห่งการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ เพราะการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมเป็นไปตามวิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และมีผลให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) จึงมีความเห็นตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ที่ได้ให้ไว้ในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจซึ่งลาออกจากราชการเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง (เรื่องเสร็จที่ 151/2557)
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.ต.ต.วิชัย จาก ASTVmanager