นักวิจัยพบอัตราส่วนมารดาคลอดตายในไทยสูงกว่ารายงาน สธ.หลายเท่า
'ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์' เปิดผลวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพ พบมารดาอายุเกิน 45 ปี ป่วยโรคมะเร็ง-เอดส์-วัณโรค เสี่ยงตายจากคลอด ขณะที่หญิงวัยรุ่น 15-19 ปี เสี่ยงตายจากทำเเท้ง โดย 3 จังหวัดชายเเดนภาคใต้น่าห่วงสุด
วันที่ 25 สิงหาคม 2558 ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ หัวหน้าโครงการผลงานวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ กล่าวตอนหนึ่งถึงผลการศึกษาของนานาชาติที่มีดัชนีชี้วัดผลลัพธ์ทางสุขภาพ 4 ตัว ได้แก่ อัตราส่วนการตายของมารดา, อัตราส่วนการตายของเด็ก, การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และการเกิดโรคมาลาเรีย แต่ที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวด้านสุขภาพของไทยได้มองข้ามผลลัพธ์ที่สำคัญเหล่านี้ไป ทำให้คนไทยทราบตัวชี้วัดดังกล่าวน้อย ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอัตราส่วนการตายของมารดา (ต่อการเกิดมีชีพแสนคน) ซึ่งนานาชาติเห็นว่า ไม่ควรมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากนัก เพราะถือเป็นการชี้วัดระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน
ดร.วรวรรณ กล่าวถึงญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีอัตราการตายของมารดาต่ำมาก ประมาณ 5 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน ส่วนไทยมีข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบเมื่อมารดาคลอดและเสียชีวิต มักไม่รายงานว่า เกิดจากการคลอด 100% เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
หัวหน้าโครงการฯ ระบุถึงอัตราส่วนการตายของมารดา ปี 2550 สธ.มีข้อมูล 12.2 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน แต่การศึกษาพบ 62.51 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน ขณะที่ปี 2554 สธ.มีข้อมูล 8.9 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน แต่การศึกษาพบ 36.69 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน ซึ่งสังเกตได้ว่า มีอัตราส่วนลดลงเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ สาเหตุการตายในสมัยก่อนมักเกิดจากการติดเชื้อ ความดันโลหิตสูง น้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด แต่ปัจจุบันมักเกิดจากเหตุที่ไม่เกี่ยวเนื่องจากการตั้งครรภ์ เช่น เป็นโรคก่อนการตั้งครรภ์ เช่น วัณโรค โรคเอดส์ โรคมะเร็ง โดยเฉพาะอายุ 45-49 ปี จะมีความเสี่ยงสูงมาก แต่เด็กอายุ 15-19 ปี เกิดจากการทำแท้ง
นอกจากนั้นยังแตกต่างระหว่างพื้นที่แต่ละเขต ซึ่งจำแนกตามเขตสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเขต 12 สงขลา ครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสัดส่วนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด คือ 69.79 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน
ขณะที่เขต 13 กทม.มีความเสี่ยงต่ำที่สุด 25.33 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน ฉะนั้นผู้หญิงเกิดใน กทม. กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โอกาสเสียชีวิตจากการคลอดบุตรต่างกันมากเกินครึ่ง
อัตราการตายของมารดา (ต่อการเกิดมีชีพเเสนคน)
สำหรับอัตราส่วนการตายของเด็กนั้น ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีอัตราการตายสูงกว่าภาคกลางและภาคตะวันออก
โดยสาเหตุการตายจากการรายงานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ อันดับ 1 คือ การติดเชื้อ/อาการอักเสบอื่น ๆ ร้อยละ 15.53 แต่ในยุคสมัยใหม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้าไม่ใช้เชื้อดื้อยา
ขณะที่จากการรายงานข้อมูลผู้ป่วยใน อันดับ 1 คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ร้อยละ 26.51 ซึ่งทางการแพทย์น่าจะมีความรู้ว่าจะจัดการอย่างไร
“การตายของมารดาและเด็กมีความคล้ายคลึงกัน หมายถึง มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจ เขตพื้นที่ อายุของมารดา” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว และเสนอว่าควรเร่งหาทางลดอัตราการตายของทารกด้วย โดยเฉพาะภาวะที่ไทยมีภาวะการเจริญพันธุ์ต่ำ
อัตราการตายของทารก (อายุต่ำกว่า 1 ปี) ต่อการเกิดมีชีพพันคน
ดร.วรวรรณ ยังกล่าวถึงกรณีผู้สูงอายุเปรียบเทียบระหว่างบัตรทองกับบัตรข้าราชการ ซึ่งมีการนำเสนอข่าวโดยใช้ตัวเลขในรายงานวิจัยบางตัวไปบวก ลบ คูณ หาร และระบุว่า ผู้สูงอายุใช้บริการบัตรทองตายมากกว่าบัตรข้าราชการ ดังนั้น สิ่งที่ควรทราบ คือ ข้อมูลจำนวนคนตายและคนป่วยทั้ง 2 ระบบสวัสดิการ ซึ่งทราบสถิติคนตาย แต่สถิติจำนวนคนป่วยยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจะคำนวณอัตราการตายและนำมาเปรียบเทียบจึงทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นรายงานวิจัยจึงไม่กล่าวถึงอัตราการตายระบบสวัสดิการใดมากกว่ากัน
สำหรับค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 365 วันก่อนตาย จำแนกตามสถานที่ตาย ซึ่งผู้สูงอายุตายนอกและใน รพ.ได้รับสวัสดิการแตกต่างกันหรือไม่ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า หากตายนอก รพ. ผู้ป่วยบัตรทองใช้เงินวาระสุดท้ายของชีวิต 44,590 บาท ผู้ป่วยบัตรข้าราชการ 68,637 บาท แต่ใครรักษา รพ.แทบจะหมดลมหายใจมีสถิติสูงกว่ามาก นั่นแสดงว่า ยิ่งอยู่ รพ.นาน ยิ่งใช้ทรัพยากรจำนวนมาก การครองเตียงก็ยาวนาน แต่มิได้หมายความว่า ผู้ป่วยต้องกลับไปอยู่บ้านเสมอ จำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล
“โดยภาพรวมบัตรข้าราชการจ่ายมากกว่าบัตรทองร้อยละ 38 และส่วนใหญ่ผู้สูงอายุใช้บัตรข้าราชการจะเข้ารักษาที่ รพ.ศูนย์ รพ.มหาวิทยาลัย ส่วนบัตรทองจะเข้าถึงน้อยกว่าและมักใช้บริการ รพ.ชุมชนมากกว่า” ดร.วรวรรณ กล่าว และมองไปในอนาคตว่า สังคมมักให้ความสนใจกับการเพิ่มเงินต่อหัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการให้สวัสดิการ แต่การให้เงินเพิ่มก็ควรให้มีผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชนดีขึ้นด้วย .